ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 หมวด 4 การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล ข้อ 24 – ข้อ 32 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการสำหรับใช้ปฏิบัติกับผู้ที่อยู่ระหว่างรอว่าจ้าง บรรจุ หรือแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ที่จะได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ หรือให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญ หรือทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล
(2) รับรองความไว้วางใจบุคคลเพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ
แนวทางปฏิบัติการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2553 โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการเอง ดังต่อไปนี้
1.1 ให้ผู้ถูกตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลกรอกรายละเอียดในแบบประวัติบุคคล (รปภ.1)
1.2 ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐทำหนังสือถึงหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาล หรือหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรที่ผู้ถูกตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือส่งให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากร
1.3 ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาผลการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากร
(1) ในกรณีไม่ปรากฏความผิดหรือไม่มีผลของคดี ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาสั่งว่าจ้าง หรือสั่งบรรจุ หรือแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยไม่ต้องส่งให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติดำเนินการ
(2) ในกรณีปรากฏความผิดหรือมีผลของคดี ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาว่าจะสั่งว่าจ้าง หรือสั่งบรรจุ หรือแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อให้บุคคลนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
กรณีนี้ถ้าหากหน่วยงานของรัฐสั่งว่าจ้าง หรือสั่งบรรจุ หรือแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้หน่วยงานของรัฐส่งสำเนาแบบประวัติบุคคล (รปภ.1) ที่เจ้าของประวัติได้ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้า และสำเนาผลการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากรที่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายลงลายมือชื่อเพื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้าให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
1.4 ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับชั้นความลับ เพื่อรับรองความไว้วางใจให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการตามชั้นความลับที่จะได้รับมอบหมายตามข้อ 28 – 32 แห่งระเบียบนี้
2. หน่วยงานของรัฐอาจขอให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติดำเนินการแทนได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
2.1 กรณีตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลโดยละเอียด สำหรับบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บุคคลที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการชั้นลับที่สุด ลับมาก หรือการรหัส
(2) บุคคลที่มีพฤติการณ์ หรือปรากฏข่าวสาร หรือติดต่อกับบุคคล องค์การทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐ
(3) บุคคลที่จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญ หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญในหน่วยงานของรัฐ รวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
2.2 กรณีตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับชั้นความลับ หรือการรับรองความไว้วางใจเพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการเฉพาะ ชั้นลับที่สุด และลับมาก
เมื่อหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วตามข้อ 2.1 หรือ ข้อ 2.2 ให้ดำเนินการโดยทำหนังสือถึงสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เพื่อแจ้งเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบตามตัวอย่างหนังสือ พร้อมแนบสำเนาแบบประวัติบุคคล (รปภ.1) ที่เจ้าของประวัติได้ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้า สำเนาผลการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากรที่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายลงลายมือชื่อเพื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้า และแบบข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลโดยละเอียด ซึ่งหนังสือดังกล่าวควรกำหนดชั้นความลับตามองค์ประกอบในข้อ 19 แห่งระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561
ทั้งนี้ ให้ประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ส่วนรักษาความปลอดภัย สำนัก 10 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ โทร. 0 2281 8050 (สายตรง) หรือ 0 2281 7399 ต่อ 161, 172, 192
—————————————————————–
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
กันยายน 2562