แฟ้มภาพ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กในงาน Facebook’s Developer Conference เมื่อ 30 เมษายน 2019 (ที่มา: Anthony Quintano/Flickr)
เนื่องจากกังวลว่าโซเชียลมีเดียจากบรรษัทเอกชนจะมีอำนาจมากเกินไป กลุ่มนักการเมืองพรรคเดโมแครตในสหรัฐฯ ตั้งคำถาม-วิพากษ์วิจารณ์ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กรณีเฟสบุคอนุญาตให้โฆษณาเรื่องเท็จทางการเมือง วิพากษ์ระบบอัลกอริทึมที่ส่งเสริมการแบ่งแยกกีดกัน และมีการพูดถึงกรณีเงินสกุลดิจิทัลที่เฟสบุคมีแผนการจัดตั้งขึ้นอย่างสกุลเงิน “ลิบรา” ด้วย
เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมามาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟสบุ๊ค เข้าชี้แจงต่อสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับแผนการเปิดตัว “ลิบรา” สกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก ด้านนักการเมืองพรรคเดโมแครตตั้งกระทู้เกี่ยวกับเรื่องที่น่ากังขาเกี่ยวกับเฟสบุคหลายประการไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการโฆษณาทางการเมือง เรื่องการปฏิบัติต่อลูกจ้างขอตัวเอง และเรื่องที่มีนักวิจารณ์เคยวิพากษ์วิจารณ์ว่าเฟสบุคมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการแบ่งแยกกีดกัน
คอมมอนดรีมส์รายงานว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเฟสบุคใช้เงินไปมากกว่า 12 ล้านดอลลาร์ เพื่อล็อบบีรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ในการอนุมัติโครงการสกุลเงินออนไลน์ของพวกเขาเองที่เรียกว่า “ลิบรา” และเมื่อไม่นานนี้ก็มีการเรียกตัวซัคเคอร์เบิร์กเข้าพบเพื่อให้การกับคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แทนฯ สหรัฐ (House Financial Services Committee หรือ HCFS) เพื่อให้การว่าทำไม ส.ส. และประชาชนทั่วไปถึงควรจะเชื่อในตัวเฟสบุค
ประธานกรรมาธิการของ HCFS แม็กซีน วอเทอร์ส จากพรรคเดโมแครตเปิดการให้การโดยกล่าวหาว่าซัคเคอร์เบิร์กพยายามเพิ่มอำนาจให้ตัวเองผ่านทางเฟสบุ๊คซึ่งในตอนนี้มีกลุ่มประชากรในประเทศโลกที่สามใช้กัน 1 ใน 3 การแสวงหาอำนาจให้ตัวเองของซัคเคอร์เบิร์กเป็นไปโดยทำให้ผู้ใช้งานเฟสบุ๊คต้องสูญเสียสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิอื่นๆ
วอเทอร์สกล่าวถามซัคเคอร์เบิร์กว่า “คุณอาจจะคิดว่าคุณอยู่เหนือกฎหมาย และดูเหมือนว่าคุณกำลังขยายบริษัทของตัวเองอย่างรุกล้ำ พร้อมที่จะเหยียบย่ำใครก็ได้ รวมถึงคู่แข่งของคุณ ผู้หญิง คนผิวสี ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์คุณเอง หรือแม้กระทั่งเหยียบย่ำประชาธิปไตยของพวกเราเพื่อที่จะได้ในสิ่งที่คุณต้องการ ”
“เมื่อพิจารณาจากขนาดของบริษัทและขอบเขตที่บริษัทคุณขยายไปถึงแล้ว มันก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพวกเรามีความเป็นห่วงอย่างจริงจังเกี่ยวกับแผนการจัดตั้งเงินสกุลดิจิทัลของคุณ” วอเทอร์สกล่าว
สิ่งที่วอเทอร์สวิจารณ์เฟสบุคในเรื่องภัยต่อประชาธิปไตยคือการที่เฟสบุ๊คปล่อยให้มีการโฆษณาทางการเมืองแบบที่เป็นข้อมูลเท็จปรากฏบนเฟสบุ๊คได้ เช่น โฆษณาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีข้อมูลเท็จ
ซัคเคอร์เบิร์ก ตอบข้อซักถามนี้ว่าทางเฟสบุคไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะปล่อยโฆษณาขึ้นเฟสบุ๊คได้ แต่อาศัยให้มีตัวตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระทำหน้าที่พิจารณาเนื้อหาหลังจากที่มีการเผยแพร่เนื้อหาไปแล้วในวงกว้าง
อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่เป็นเท็จแบบเดียวกับที่เฟสบุ๊คปล่อยให้เผยแพร่ในพื้นที่ตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สื่ออย่างซีเอ็นเอ็นปฏิเสธจะนำเสนอโดยบอกว่ามันเป็นเรื่องเท็จ
ผู้แทนฯ รายต่อมาที่ตั้งกระทู้ต่อซัคเคอร์เบิร์ก คือ อเล็กซานเดรีย โอแคซิโอ-คอร์เทซ จากพรรคเดโมแครต เธอถามซัคเคอร์เบิร์กว่าเฟสบุ๊คจงใจที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ โดยถามว่าถ้าหากเธอลงโฆษณาในเชิงโจมตีผู้สมัครพรรครีพับลิกันว่าพวกเขาโหวตเห็นชอบกับกรีนนิวดีลซึ่งเป็นข้อเสนอนโยบายแก้วิกฤตโลกร้อนที่โอแคซิโอ-คอร์เทซ เองก็สนับสนุนทางเฟสบุ๊คจะอนุญาตให้ลงหรือไม่ ถ้าหากพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเองอะไรคือขอบเขตที่จะกำหนดว่ามันแฟร์
ซัคเคอร์เบิร์กตอบคำถามของโอแคซิโอ-คอร์เทซว่าตัวเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าโฆษณาดังกล่าวจะอนุญาตให้ลงในเฟสบุ๊คได้หรือไม่
อย่างไรก็ตามมีข้อวิพากษ์วิจารณ์จากกรณีที่เฟสบุ๊คปล่อยให้มีเรื่องเท็จหรือเรื่องใส่ร้ายป้ายสีในเฟสบุ๊คทั้งๆ ที่เฟสบุ๊คเองนับเป็นผู้ตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวซึ่งควรจะมีความรับผิดชอบเช่นเดียวกับที่สื่อต่างๆ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ
นอกจากเรื่องการละเลยที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ซัคเคอร์เบิร์กถูกวิพากษ์วิจารณ์คือเรื่องที่อัลกอริทึ่มหรือขั้นตอนวิธีที่เฟสบุ๊คจะเจาะจงนำเสนอเนื้อหาโฆษณากับกลุ่มประชากรเฉพาะกลุ่มทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่าเป็นการส่งเสริมการแบ่งแยกกีดกันแบบเดียวกับในยุคสมัยก่อนที่มีการแบ่งแยกย่านที่อยู๋อาศัยสำหรับคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง
คณะกรรมาธิการระบุว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีอัลกอริทึมเปิดโอกาสให้เกิดการแบ่งแยกกีดกันทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ในแบบที่ยากจะมองเห็น ยากจะสืบเสาะ รวมถึงส่งผลกระทบต่อบุคคลอย่างเป็นระบบ”
ส.ส. เดโมแครต อยานา เพรสลีย์ พูดกับซัคเคอร์เบิร์กในเรื่องของสกุลเงิน “ลิบรา” ที่ทางเฟสบุ๊คเลยระบุว่าจะเป็นสกุลเงินที่ช่วยเหลือให้คนนับพันล้านคนทั่วโลกที่เข้าถึงธนาคารไม่ได้สามารถใช้เป็นแหล่งทางการเงินได้ เพรสลีย์วิจารณ์ว่าจริงอยู่ที่ซัคเคอร์เบิร์กอาจจะเข้าใจเรื่องเชิงเทคโนโลยีและเชิงธุรกิจสำหรับลิบรา แต่เขาไม่เคยประสบปัญหาที่สร้างความเจ็บปวดให้คนหลายล้านคนมาก่อนอย่างการที่ถูกมองว่าล่องหนในแง่เครดิต
เพรสลีย์วิจารณ์ต่อไปว่าคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เพราะเรื่องของค่าธรรมเนียมธนาคาร แต่เป็นเพราะเรื่องภาระหนี้สินทางการศึกษาที่คนนับล้านต้องเผชิญ เรื่องราคาด้านการสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้นถึงขั้นต้องให้ใช้เพจ GoFundMe ในการระดมทุนเป็นค่ารักษาพยาบาล
——————————————–
ที่มา : ประชาไท / 26 ตุลาคม 2562
Link : https://prachatai.com/journal/2019/10/84908