“ผู้ควบคุม [โดรน] สามารถระบุเป้าหมาย เฝ้ามอง และทันใดนั้นโจมตีจากระยะหลายพันไมล์ที่ห่างไกลออกไป โดยไม่จำเป็นต้องเอาทหารเข้าไปในพื้นที่อันตรายแต่อย่างใด”
Lawrence Freedman (2017)
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
---|---|
ผู้เขียน | สุรชาติ บำรุงสุข |
เมื่อศตวรรษที่ 21 เริ่มต้นขึ้นนั้น โลกได้เห็นอุปกรณ์ทางทหารชุดหนึ่งที่นักการทหารหลายคนได้ให้ความสนใจอย่างมาก คือการปรากฏตัวของ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือเรียกว่า “อากาศยานไร้นักบิน” (Unmanned Aerial Vehicles หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า UAVs)
ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกว่า “โดรน” (Drones) และอุปกรณ์ทางทหารนี้กำลังกลายเป็นอาวุธสำคัญของศตวรรษปัจจุบัน และอาจจะเป็นอาวุธที่จะมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าสงครามในอนาคต
พัฒนาการ
โดรนอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการใช้โดรนมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว แต่เป็นเพียงการใช้เพื่อการเป็นเป้าซ้อมยิงของนักบิน และด้วยเงื่อนไขทางเทคโนโลยี โดรนจึงยังไม่สามารถพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการรบได้
แต่แนวคิดที่จะสร้างโดรนให้ทำการรบได้ (combat drone) เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ด้วยข้อจำกัดของการพัฒนาทางเทคโนโลยี แนวคิดนี้จึงปรากฏอยู่ในบทความของประดิษฐกรรมทางวิทยาศาสตร์
สำหรับโดรนทางทหารสมัยใหม่เป็นผลมาจากการคิดของฟอสเตอร์ (John S. Foster) ที่เป็นวิศวกรนิวเคลียร์ฟิสิกส์ชาวอเมริกันในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ที่เชื่อว่าเครื่องบินจำลองน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในทางทหารได้ มากกว่าจะเป็นเพียงของเล่นในตู้โชว์
ฟอสเตอร์ประสบความสำเร็จในการสร้างโดรนต้นแบบ 2 ลำในปี 1973 แต่ก็เป็นเพียงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และยังไม่สามารถนำมาใช้จริงได้ แต่พัฒนาการจริงเป็นผลจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับอาหรับในปี 1973 (The Yom Kippur War) อิสราเอลนำเอาโดรนซ้อมเป้าของสหรัฐมาใช้เป็นเป้าลวงให้ทหารอียิปต์ใช้ปืนต่อสู้อากาศยานยิง เพื่อให้เรดาร์ของอิสราเอลสามารถจับที่ตั้งอาวุธยิงของฝ่ายอียิปต์ได้
จนในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 และต้นทศวรรษที่ 1980 วิศวกรทหารของอิสราเอลจึงได้เริ่มพัฒนาโดรนอย่างจริงจังมากขึ้น (หรือที่เรียกในขณะนั้นว่าอากาศยานไร้คนขับ) เพื่อใช้ในภารกิจของการลาดตระเวน การทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และการเป็นเป้าลวงให้ข้าศึกยิง
ผลจากการพัฒนาของอิสราเอลในช่วงทศวรรษที่ 1980 ทำให้อิสราเอลกลายเป็นประเทศผู้นำของการผลิตและการใช้โดรนในทางทหาร และโดรนประสบความสำเร็จอย่างมากในปฏิบัติการสงครามทางอากาศในปี 1982 (The Operation Mole Cricket) โดยมีส่วนอย่างมากต่อทำลายขีดความสามารถของระบบป้องกันทางอากาศของเลบานอน จนในปฏิบัติการครั้งนี้ กองทัพอากาศอิสราเอลไม่สูญเสียเครื่องบินรบแม้แต่ลำเดียว อันทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งบทเรียนของการสงครามทางอากาศที่ประสบความสำเร็จของโลกสมัยใหม่
หลังจากปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา การพัฒนาเทคโนโลยีของโดรนมีมากขึ้น และไม่ได้จำกัดอยู่กับสหรัฐและอิสราเอลเท่านั้น หากแต่อิหร่านเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสนใจอย่างมาก และพัฒนาเป็น “โดรนโจมตี” ในสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่าน โดยติดตั้งเครื่องยิงจรวดของโซเวียตแบบ RPG-7 ซึ่งเท่ากับเป็นสัญญาณบอกถึงการมาของอากาศยานโจมตีแบบไรคนขับในสงครามสมัยใหม่
การพัฒนาเช่นนี้ทำให้อิหร่านเป็นประเทศแนวหน้าอีกประเทศหนึ่งในเรื่องของโดรน อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พัฒนาโดรนอย่างมากในยุคหลังสงครามเย็นคือสหรัฐ ซึ่งมองเห็นบทเรียนความสำเร็จของอิสราเอล จึงได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนอย่างจริงจัง และความสำเร็จที่เกิดขึ้นเห็นได้จากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ที่เป็น “สงครามครั้งแรกของโดรน”
และได้เห็นถึงอรรถประโยชน์ของโดรนในทางทหารอย่างมาก หลังจากสงครามครั้งนี้แล้ว โดรนได้รับการพัฒนาจนเป็นระบบอาวุธที่สำคัญชุดหนึ่งในโลกปัจจุบัน
นักล่าสังหาร
ข้อสรุปสำคัญประการหนึ่งในวิชาประวัติศาสตร์ทหารก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของแบบแผนการสงครามเป็นผลโดยตรงจากพัฒนาการของเทคโนโลยีทหาร และเทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การกำเนิดของระบบอาวุธใหม่ๆ ซึ่งอาวุธใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้สนามรบเปลี่ยนไปจากเดิม
ฉะนั้น ระบบอาวุธใหม่เช่นนี้ท้าทายอย่างมากต่อคุณค่าของระบบอาวุธแบบเก่า ที่แม้จะยังมีคุณค่าในทางทหาร แต่อาจไม่ได้มีมากเท่ากับในอดีต
บทเรียนเช่นนี้เห็นได้ชัดในประวัติศาสตร์สงคราม เช่น การกำเนิดของรถถังทำให้คุณค่าของทหารม้าแบบเดิมหมดไป การกำเนิดของเรือรบกลไฟทำให้เรือรบที่ใช้ใบแบบเดิมไม่อาจเทียบได้ การกำเนิดของเรือรบเหล็กทั้งลำทำให้เรือรบแบบเก่าหมดขีดความสามารถไปทันที เมื่อเครื่องบินเจ็ตเปิดตัวขึ้นแล้ว เครื่องบินรบแบบเดิมที่เป็นใบพัดก็กลายเป็นของเก่าไป เป็นต้น
และเครื่องบินเล็กเหมือนของเล่น ก็ถูกนำมาใช้ในทางทหาร คือเป็น “อากาศยานรบไร้คนขับ” (Unmanned Combat Aerial Vehicle หรือ UCAV)
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นครั้งแรกของโลกที่เราได้เห็นโดรนออกปฏิบัติการทางทหารด้วยการเป็น “นักล่าสังหาร” (hunter killer) ต่อเป้าหมายบุคคล ซึ่งปฏิบัติการล่าสังหารครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2001 โดยสังหารบุคคลเป้าหมายที่เมืองกันดาฮาร์ในอัฟกานิสถาน (สหรัฐส่งกำลังรบเข้าปฏิบัติการในอัฟกานิสถานหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001)
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2002 โดรนปฏิบัติการสังหารผู้นำของกลุ่มอัลกออิดะห์ในเยเมน ผลจากปฏิบัติการเช่นนี้ทำให้เห็นถึงอำนาจการสังหารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะเป็นการสังหารเป้าหมายข้ามทวีปในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย
ความสำเร็จเช่นนี้ทำให้เป็นที่ยอมรับกันในโลกทางทหารสมัยใหม่ว่า โดรนเป็นอาวุธล่าสังหารที่ทรงประสิทธิภาพอย่างมากแบบหนึ่งในปัจจุบัน เพราะสามารถเกาะติดเป้าหมายได้เป็นระยะเวลานาน และผู้ตัดสินใจที่แม้จะอยู่ไกล แต่ก็สามารถสั่งการได้ทันทีแบบ “real time” และที่สำคัญปฏิบัติการเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงด้วยการส่งกำลังบุคคลเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย จึงไม่มีความเสี่ยงในการสูญเสียกำลังพล ดังจะเห็นได้ว่าสหรัฐใช้โดรนแบบ Predator ติดอาวุธยิงจากอากาศสู่พื้นแบบ Hellfire ในสงครามอัฟกานิสถานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปฏิบัติการของโดรนเช่นนี้เป็นเพียงเรื่องในระดับยุทธวิธีของการสังหารบุคคลเป้าหมาย การโจมตีทางอากาศของโดรนจึงมีอยู่ในระดับและขอบเขตที่จำกัด และยังไม่อยู่ในระดับของปฏิบัติการของสงครามทางอากาศ แม้โดรนอาจมีคุณประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือของการลาดตระเวนทางอากาศยุคใหม่ และมีการใช้โดรนในภารกิจเช่นนี้มาแล้วก็ตาม แต่โดรนยังไม่เคยถูกใช้เพื่อการโจมตีทางอากาศ
สงครามทางอากาศแบบใหม่
ในวันเสาร์ที่ 14 กันยายน เวลาประมาณ 04:00 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัท Aramco ได้ประกาศถึงความพยายามที่ดับไฟที่บ่อน้ำมันที่เมือง Abqaiq และ Khurais (บ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของซาอุดีอาระเบีย) ไฟไหม้ครั้งนี้เกิดจากการโจมตีของโดรน
แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมเพลิงได้ แต่การโจมตีได้ก่อให้เกิดความเสียหายในการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียอย่างมาก ประมาณว่าขีดความสามารถในการผลิตของประเทศเสียหายราวร้อยละ 50 คือการผลิตของซาอุดีอาระเบียจะหายไปราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (BBC News) [กำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน] หรือความเสียหายนี้คิดเป็นร้อยละ 5 ของการผลิตน้ำมันของโลก (CNN Business Report, September 15, 2019) และราคาน้ำมันของโลกขยับตัวสูงขึ้นในวันจันทร์ถัดมา
กลุ่มติดอาวุธของชาวฮูติ (Houthi) ในเยเมนได้ประกาศความรับผิดชอบในปฏิบัติการครั้งนี้ และประกาศยอมรับว่าใช้โดรนจำนวน 10 ลำในการโจมตี และยังกล่าวอีกว่า อาจจะมีการโจมตีด้วยโดรนอีกในอนาคต การโจมตีบ่อน้ำมันในครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มฮูติต่อเป้าหมายที่อยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย และประมาณการว่าโดรนของกลุ่มนี้แบบ UAV-X มีพิสัยไกลถึง 1,500 กิโลเมตร (BBC News)
และการที่กลุ่มฮูติต้องตอบโต้นั้น เป็นเพราะกองกำลังพันธมิตรที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำ ได้เข้าไปปฏิบัติการโจมตีทางอากาศฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในเยเมนแทบจะทุกวัน กลุ่มนี้จึงมักยิงจรวดใส่เป้าหมายในซาอุดีอาระเบียบ้าง และการตอบโต้ครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า การโจมตีทางอากาศของโดรนเป็น “ภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์” ต่อแหล่งน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย และความเสียหายจากการโจมตีไม่เพียงส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันของประเทศเท่านั้น หากยังอาจมีผลกระทบต่อสถานะความมั่นคงด้านพลังงานของโลกอีกด้วย
อีกทั้งการขนส่งน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักชุดหนึ่งของการลำเลียงน้ำมันของโลกก็ได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านด้วย และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านตึงเครียดมากขึ้นอีก เมื่อสหรัฐเชื่อว่าการโจมตีครั้งนี้ไม่ได้มาจากเยเมน แต่มาจากอิหร่าน ทางอิหร่านได้โต้ว่าข้อกล่าวหาของสหรัฐเป็นเพียง “คำโกหก” (deceit)
ในขณะเดียวกันการโจมตีครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงโดรนที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือในสังคมพลเรือน หรืออาจจะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสมัยใหม่ของการถ่ายภาพมุมสูง แต่การโจมตีบ่อน้ำมันครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถของโดรนในการโจมตีทางอากาศระยะไกล เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับสงครามในอดีตแล้ว ปฏิบัติการดังกล่าวจะต้องใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นเครื่องบินโจมตี (attack aircraft)
ฉะนั้น หากเปรียบเทียบถึงเศรษฐศาสตร์การสงครามแล้ว จะเห็นได้ว่าโดรนมีความคุ้มค่าในการทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของข้าศึก ดังจะเห็นได้ว่าข้าศึกใช้โดรนที่ราคาไม่มากนักจำนวน 10 ลำ แต่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจอย่างมาก กล่าวคือ ราคาของอาวุธที่ใช้ถูกมากเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหาย และทำให้ซาอุดีอาระเบียสูญเสียพลังการผลิตไปถึงร้อยละ 50?อาวุธราคาถูกแต่สร้างความเสียหายราคาแพง จนบางทีนักการทหารที่คิดซื้ออาวุธสมรรถนะสูงราคาแพงเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องกลับมาคิดกันใหม่ เพราะราคาระบบอาวุธสมัยใหม่มีแต่จะสูงขึ้น
ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ใช่ฝูงบินขับไล่โจมตี แต่กลับเป็นเพียงโดรนจำนวน 10 ลำเท่านั้น และการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า เทคโนโลยีของโดรนนี้แต่เดิมจำกัดอยู่กับรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน หรืออยู่ในมือของรัฐที่มีขีดความสามารถทางทหาร เช่น อิสราเอล หรืออิหร่าน เป็นต้น
จนเป็นที่ยอมรับว่าสี่ประเทศหลักที่เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีโดรนในโลกได้แก่ สหรัฐ จีน อิสราเอล และอิหร่าน แต่ปัจจุบันเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มฮูติและฮิซบุลลอฮ์ล้วนมีขีดความสามารถในการมีและใช้เทคโนโลยีโดรนไม่ต่างจากรัฐมหาอำนาจ
การโจมตีทางอากาศครั้งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า “ยุคแห่งการผูกขาดโดรน” ที่อยู่ในมือของรัฐมหาอำนาจนั้น ได้สิ้นสุดลงแล้ว ในอีกด้าน การโจมตีของโดรนไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงการสงครามทางอากาศยุคใหม่ ที่อากาศยานแบบไร้นักบิน (UAVs) กำลังก้าวเข้ามามีบทบาททางทหารมากขึ้น และไม่เพียงแต่จะท้าทายกับอากาศยานแบบเดิมที่มีนักบินเท่านั้น หากแต่ยังท้าทายกับการเปิดยุคสมัยของสงครามที่อาจจะต้องเรียกว่า “สงครามโดรน” ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว…
โดรนไม่ใช่จะมีอยู่แต่ในนิยายวิทยาศาสตร์ หรือมีบทบาทอยู่ในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อย่างสตาร์วอร์ (Star Wars) เท่านั้น แต่โดรนกำลังก้าวเข้ามามีภารกิจสงครามทางอากาศเต็มรูป และถือได้ว่าวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา คือสัญญาณบ่งชี้ถึงแบบแผนสงครามใหม่ที่เรียกว่า “สงครามโดรน” (Drone Warfare)
อนาคต
นับจากนี้จึงคาดได้ไม่ยากว่า พัฒนาการเทคโนโลยีของโดรนจะยิ่งมีมากขึ้น และเช่นเดียวกันบทบาทของโดรนในทางทหารจะยิ่งมีมากขึ้นด้วย โดรนจะไม่ใช่เพียงกล้องถ่ายภาพมุมสูงให้เราเก็บภาพสวยงามของภูมิประเทศเบื้องล่างอีกต่อไป และเห็นอีกว่าหลายประเทศในโลกได้หันมาพัฒนาโดรนติดอาวุธมากขึ้น
หรือหากไม่มีขีดความสามารถ ก็มีการนำเข้าอาวุธนี้ และน่ากังวลในอีกด้านที่ผู้ก่อการร้ายจะใช้โดรนในการโจมตี อันอาจทำให้เกิด “สงครามอสมมาตรของโดรน” ในอนาคตได้ด้วย
โดรนวันนี้ก้าวจากเครื่องมือของการลาดตระเวนทางอากาศและการล่าสังหารทางอากาศ ไปสู่บทบาทใหม่ของการโจมตีทางอากาศ…
การสงครามทางอากาศยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว!
—————————————–
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ / 18-24 ตุลาคม 2562–
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_240250