ว่าด้วยเอกสารราชการที่กำหนดชั้นความลับ
จากวิทยาการสมัยใหม่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลต่อรูปแบบของข้อมูลข่าวสารที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารที่จับต้องได้ เช่น ข้อมูลข่าวสารในหนังสือ กับข้อมูลข่าวสารที่จับต้องไม่ได้ คือ ข้อมูลข่าวสารที่บันทึกด้วยสัญญาณ ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์แปลงสัญญาณนั้นก่อน จึงจะสื่อความเข้าใจได้ เช่น ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จากการนำมาใช้งานของส่วนราชการ ข้อมูลข่าวสารทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าวจึงถูกแบ่งลักษณะออกเป็นข้อมูลข่าวสารทั่วไป และข้อมูลข่าวสารที่กำหนดชั้นความลับหรือมีความสำคัญ จากลักษณะการใช้งานนี้จึงเป็นผลให้ต้องกำหนดระเบียบราชการ เพื่อเป็นแนวทางบริหารและปฏิบัติ กับเป็นแนวทางดูแล คุ้มครองและป้องกันการสูญหาย ถูกปรับเปลี่ยน แก้ไขเนื้อความไปจากเดิม หรือถูกนำไปเปิดเผยก่อนเวลาอันควร หรือรั่วไหลไปสู่ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ สำหรับรูปแบบข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐที่ใช้ปฏิบัติงานอยู่ขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นเอกสารบันทึกบนกระดาษ นับเป็นประเภทหนึ่งของข้อมูลข่าวสารที่จับต้องได้ จำเป็นต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับเอกสารราชการ เพื่อให้หน่วยงานทุกประเภทของรัฐอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน ที่สำคัญคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการงานเอกสารราชการ สำหรับการดูแล คุ้มครอง และป้องกันนั้น แต่เดิมถือปฏิบัติตามบทการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเอกสารของระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 แต่ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และเพื่อให้รองรับมาตรา 16 และมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงกำหนดระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ซึ่งเนื้อความของระเบียบการรักษาความลับของทางราชการนั้นปรับมาจากบทการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเอกสารของระเบียบการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517…