ร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นหลังการจากไปของไอดอลคนดังที่ถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตวิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรงจนต้องจบชีวิตตัวเอง
โลกอินเทอร์เน็ตเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในที่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของ Hate Speech หรือการเอ่ยวาจาประทุษร้าย จนคนที่เป็นเป้าหมายตัดสินใจจบชีวิตหนีความเจ็บปวดจากคนที่อาจจะไม่แม้แต่จะรู้จักหรือเห็นหน้าค่าตากันเลยสักครั้ง ในขณะที่เจ้าของถ้อยคำทิ่มแทงจิตใจเหล่านี้ทำไปเพราะความสะใจเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ไม่ได้ตระหนักถึงผลที่จะตามมาแม้แต่น้อย
ล่าสุดสมาชิกรัฐสภาของเกาหลีใต้อย่างน้อย 9 คนได้ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายต่อต้านการแสดงความคิดเห็นในช่องทางออนไลน์ด้วยถ้อยคำมุ่งร้าย หยาบคาย รุนแรง โดยคณะอนุกรรมการจะพิจารณารายละเอียดและข้อบังคับต่างๆ ภายในต้นเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการคณะดังกล่าวประกอบด้วยตัวแทนจากสมาคมศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ, สมาคมนักฟุตบอลคนดัง, สหภาพแรงงานของคนในวงการบันเทิง, สหภาพแรงงานข้าราชการ รวมทั้งคนดังที่ที่เคยหรือมีคนใกล้ชิดเคยตกเป็นเหยื่อการใช้ถ้อยคำรุนแรง
ร่างกฎหมายฉบับนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กฎหมายซอลลี” ซึ่งตั้งชื่อตามซอลลี นักร้องและนักแสดงเกาหลีใต้ที่เพิ่งตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง หลังจากทุกข์ทรมานกับภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเธอด้วยถ้อยคำมุ่งร้ายมาตลอดเวลาที่เธออยู่ในวงการบันเทิง
หลังการเสียชีวิตของเธอจึงเกิดการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎที่เข้มงวดกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่แสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม รวมทั้งเรียกร้องให้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของผู้แสดงความคิดเห็นด้วย
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สมาคมการบริหารงานวงการบันเทิงเกาหลี (CEMA) ได้ร่วมกับสมาคมธุรกิจธุรกิจบันเทิงและศิลปิน รณรงค์เกี่ยวกับการใช้ภาษาในโลกออนไลน์ ทว่าด้วยเหตุขัดข้องบางอย่างจึงไม่สามารถผลักดันเป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ การสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว พบว่า ในจำนวนนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยม 50,000 คนที่เคยเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน 10.8% ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (cyberbullying) ซึ่งสูงกว่านักเรียนที่ถูกทำร้ายร่างกายที่มีเพียง 10%
เมื่อปลายปีที่แล้ว นักเรียนมัธยมปลายใน จ.ชุงช็องเหนือตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังได้รับข้อความข่มขู่จากเพื่อน ส่วนอีกรายหนึ่งถูกเพื่อนข่มขืนแล้วนำเรื่องราวไปเปิดเผยทำให้มีคนส่งข้อความไปหาเธอทางเฟซบุ๊คเพื่อขอมีเพศสัมพันธ์ด้วยมากมาย จนเธอมีอาการซึมเศร้า
อีชางโฮ จากสถาบันนโยบายเยาวชนแห่งชาติ เผยว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มีพัฒนาการจากเดิมมาก เนื่องจากฟีเจอร์ต่างๆ ในสมาร์ทโฟนเอื้ออำนวยต่อการลงมือ โดยจากเดิมที่ผู้กลั่นแกล้งจะทำโดยไม่เปิดเผยตัวตน แต่หากเป็นการกลั่นแกล้งผ่านสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ผู้ลงมือจะเป็นคนรู้จักของผู้ถูกกระทำ
ด้านผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างพยายามแก้ปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งทีมเฝ้าจับตาและลบคอมเม้นท์หรือโพสต์ที่ไม่เหมาะสมการเผยแพร่คำแนะนำให้ผู้ปกครองสอดส่องดูแลบุตรหลาน ทว่ายังไม่สามารถขจัดการกลั่นแกล้งได้
—————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / 16 ตุลาคม 2562
Link : https://www.posttoday.com/world/603765