การติดบัตรประจำตัวนับเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ เนื่องจากเป็นวิธีการควบคุมบุคคลที่จะผ่านเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่หวงห้ามของหน่วยงาน และเป็นการพิสูจน์ทราบตัวบุคคล เพื่อให้แน่ใจว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีสิทธิผ่านเข้า-ออกพื้นที่ของหน่วยงานเหล่านั้นได้จริง อย่างเช่น กลุ่มเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน กลุ่มผู้มาติดต่อ กลุ่มผู้ร่วมประชุม เป็นต้น อีกทั้งรูปแบบหรือสีของบัตรประจำตัวที่กำหนดไว้ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานสามารถแบ่งแยกเบื้องต้นได้ว่า กลุ่มผู้ติดบัตรประจำตัวอยู่ในกลุ่มใด หรือสังเกตเห็นได้ว่าผู้ติดบัตรประจำตัวล่วงล้ำเข้าสู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้มาตรการติดบัตรประจำตัวนี้ไม่กำหนดชัดเจนในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ มีเพียงระบุไว้ในคู่มือมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยหน่วยงานภาครัฐฝ่ายพลเรือน ซึ่งจัดทำเมื่อปี 2553 โดยสำนักข่าวกรองแห่งชาติในฐานะองค์การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติฝ่ายพลเรือน สำหรับให้หน่วยงานของรัฐและองค์การอิสระฝ่ายพลเรือน นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ซึ่งปัจจุบันยกเลิกแล้ว เป็นระเบียบที่ให้ความสำคัญต่อบัตรประจำตัวและกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ชัดเจน โดยถือว่า บัตรประจำตัวเป็นเอกสารราชการที่ใช้แสดงฐานะเจ้าของบัตรต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ถึงสิทธิในการผ่านเข้า-ออกพื้นที่ส่วนราชการ ขณะผ่านจุดตรวจหรือช่องทางเข้า-ออก เพื่อเข้าสู่เขตที่มีการรักษาความปลอดภัย ทั้งยังใช้เป็นหลักฐานควบคุมบุคคลทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะต่อกรณีที่พบการกระทำความผิดหรือละเมิดกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในหน่วยงานรัฐ ตลอดจนยังเป็นเอกสารเฉพาะตัวบุคคลที่ยืนยันถึงการได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงและระดับชั้นที่ให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับหรือมีความสำคัญของราชการ หรือแสดงถึงการได้รับอนุญาตให้ผ่านหรือเข้าไปปฎิบัติงานในพื้นที่ควบคุมหรือเขตหวงห้าม รวมทั้งในพื้นที่ที่จัดการประชุมลับอีกด้วย แม้ว่าในปัจจุบันมาตรการเกี่ยวกับบัตรประจำตัวจะยังกำหนดใช้ภายในหน่วยงานของรัฐ แต่ก็มิได้สร้างความเข้าใจให้ตระหนักถึงความสำคัญของบัตรประจำตัวหรือมิได้เข้มงวดในการถือปฏิบัติมากนัก เช่น บัตรประจำตัวต้องติดที่อกเสื้อ เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน และให้ติดไว้ตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น
ถึงแม้ขณะนี้ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับบัตรประจำตัวจะไม่มีความชัดเจนในระเบียบราชการว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนก็ตาม แต่หากหน่วยงานของรัฐเห็นถึงความสำคัญก็สามารถกำหนดขึ้นเป็นระเบียบภายใน เพื่อให้เจ้าหน้าที่และผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ครอบครองของหน่วยงานของรัฐนั้น ถือปฏิบัติตามตลอดระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่ก็ได้ ตัวอย่างหน่วยงานของรัฐที่กำหนดเป็นระเบียบภายใน ได้แก่ รัฐสภาเรียกว่า ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภา พ.ศ.2559 ระบุถึงเช่นนี้
ข้อ 5 ในระเบียบนี้
“บัตรอนุญาต” หมายความว่า บัตรอนุญาตสําหรับบุคคล และบัตรอนุญาตสําหรับยานพาหนะ
“บัตรแสดงตน” หมายความว่า บัตรแสดงตนที่ออกโดยสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือสํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา
หมวด 4 การอนุญาต ข้อ 19 – ข้อ 29
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการกวดขันให้ถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภา พ.ศ.2559 โดยเฉพาะในข้อ 27 หากผู้ที่ถือครองบัตรแสดงตนมิได้ทราบถึงรายละเอียด ดังนี้
ข้อ 27 ให้ผู้มีบัตรแสดงตนหรือบัตรอนุญาตสําหรับบุคคล ติดบัตรแสดงตนหรือบัตรอนุญาต สําหรับบุคคลที่อกเสื้อให้มองเห็นได้ชัดตลอดเวลาที่อยู่ในบริเวณรัฐสภา
——————————————————
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย