โดย… สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
“วิธีการทางทหารจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อถูกใช้ผสมผสานกับวิธีการที่ไม่ใช่ทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสาร ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และอื่นๆ… [ในกรณีนี้] เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การปะทะของหน่วยหลักทางทหารในแนวหน้าจะค่อยๆ กลายเป็นอดีต”
Lawrence Freedman นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ
ในแต่ละช่วงเวลาของโลก จะเห็นได้ว่าแบบแผนของสงคราม (pattern of war) มีความแตกต่างกันออกไป แบบแผนเช่นนี้เป็นผลผลิตของปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี
ตัวอย่างเช่น เมื่อโลกอยู่ในยุคอาณานิคมของศตวรรษที่ 19 การสงครามของโลกก็มีแบบแผนเป็น “สงครามอาณานิคม” (Colonial Warfare) หรือเมื่อโลกมีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ผนวกเข้ากับพัฒนาการของเทคโนโลยีทหารแล้ว เราจะเห็นการกำเนิดของ “สงครามเบ็ดเสร็จ” (Total Warfare) ในศตวรรษที่ 20
และเมื่อเทคโนโลยีนิวเคลียร์มีพัฒนาการอย่างมากในยุคสงครามเย็น สงครามที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำการรบใหญ่ได้ ทำให้สงครามที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็น “สงครามจำกัด” (Limited Warfare)
และเมื่อโลกในยุคปัจจุบันได้ก้าวสู่การปฏิวัติสารสนเทศ การสงครามของโลกก็มีทิศทางล้อไปกับการปฏิวัติดังกล่าว และทำให้เห็นถึงการมาของสงครามชุดใหม่ที่มีแบบแผนเป็น “สงครามข่าวสาร” (Information Warfare) เป็นต้น
จากที่กล่าวแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่าแบบแผนการสงครามที่เกิดในเวทีโลกมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงเวลา แบบแผนเช่นนี้เป็นผลจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มิใช่จะถือเอาอย่างสุดโต่งว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเดียวที่เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะที่เป็นแบบแผนสงคราม และการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้มีความสำคัญในการกำหนดนโยบายทางทหารของประเทศ เพราะรัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายและออกแบบกองทัพให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนสงครามที่เกิดในแต่ละยุคสมัย
ผู้กำหนดนโยบายการทหารจะต้องตระหนักเสมอว่า รัฐบาลจะต้องไม่สร้างกองทัพเพียงเพื่อให้ได้รับชัยชนะในสงครามครั้งก่อนเท่านั้น หากแต่จะต้องคิดให้ได้ที่จะเอาชนะการสงครามในอนาคต และการจะทำเช่นนั้นได้ ผู้กำหนดนโยบายต้องมีความเข้าใจถึงพื้นฐานของแบบแผนสงครามที่รัฐต้องเผชิญในแต่ละช่วงเวลา
แบบแผนสงครามใหม่
การถกแถลงเรื่องแบบแผนการสงครามในเวทีโลกจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่นักการทหารในหลายประเทศ โดยเฉพาะการสรุปบทเรียนจากปฏิบัติการที่เกิดในสนามรบปัจจุบัน
นักการทหารและนักยุทธศาสตร์ส่วนหนึ่งมองเห็นถึงการมาของรูปแบบสงครามชุดใหม่ ที่มีลักษณะการผสมผสานของการใช้เครื่องมือหลากหลายในการต่อสู้ หรือในอีกมุมหนึ่งคือการผสมผสานวิถีของการทำสงครามที่หลากหลายเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ
กล่าวคือ สงครามจะไม่ถูกดำเนินการด้วยวิถีเดียว และอาจจะต้องยอมรับจากพัฒนาการในประวัติศาสตร์ทหารว่า ไม่เคยมีการสงครามใดที่ดำเนินการด้วยวิถีเดียวโดยไม่มีวิถีอื่นเข้ามาเป็นส่วนผสมผสาน
การผสมผสานไม่ว่าจะเป็นวิถีหรือเครื่องมือในการสงครามนั้นแทบจะเป็นเรื่องปกติในยุคปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธในเวทีโลกที่ไม่เคยใช้วิถีปฏิบัติเดียวในการต่อสู้ พวกเขาใช้ทุกวิถีทางในการสงครามจนเป็นเรื่องปกติ และลักษณะของสงครามที่มีการผสมผสานเช่นนี้ ถูกเรียกในหมู่นักทฤษฎีการทหารว่า “สงครามไฮบริด” (Hybrid Warfare)
หรืออาจเรียกว่า “สงครามพันทาง”
ในบริบทการสงครามนั้น การใช้เครื่องมือและวิถีที่หลากหลายในการทำสงครามไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังจะเห็นได้ว่ามีการใช้กำลังรบตามแบบผสมกับกำลังรบนอกแบบมาตลอดในประวัติศาสตร์สงคราม
ฉะนั้น หากพิจารณาแล้ว สงครามพันทางสามารถเขียนเป็นสมการกึ่งคณิตศาสตร์ได้ดังนี้
“hybrid warfare = regular forces x irregular forces”
ว่าที่จริงแล้ว การผสมผสานระหว่างปฏิบัติการของกำลังรบตามแบบกับกำลังรบนอกแบบเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายการสงครามในประวัติศาสตร์
เช่น เรามักจะมีจินตนาการว่าสงครามปฏิวัติจีนเป็นสงครามกองโจรที่ถูกดำเนินการโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน
แต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สงครามชุดนี้แทบจะเป็น “สงครามตามแบบ” (conventional warfare) ที่เป็นการยุทธ์ขนาดใหญ่ หรือในช่วงปลายสงครามเวียดนามโดยเฉพาะหลังจากการถอนตัวของกองทัพสหรัฐภายใต้นโยบาย “ทำให้เป็นเวียดนาม” แล้ว การรบของฝ่ายคอมมิวนิสต์มีลักษณะเป็นสงครามตามแบบที่เป็นการยุทธ์ของกองทัพเวียดนามเหนือ มากกว่าจะเป็นสงครามกองโจรที่ดำเนินการโดยพลพรรคของเวียดกง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก็คือภาพสะท้อนของความเป็นสงครามพันทาง แต่เรามักจะยึดเอาจินตนาการเดิมที่เห็นว่า สงครามปฏิวัติจีนหรือสงครามรวมชาติเวียดนามเป็นสงครามกองโจร จนละเลยความเป็นจริงว่าสงครามทั้งสองมีลักษณะผสมผสานอยู่ในตัวเอง
สงครามสามชุด-สงครามสี่ชุด
การหยิบยกเอารูปแบบของสงครามพันทางขึ้นมาเป็นประเด็นถกแถลงในหมู่นักทฤษฎีการทหาร เนื่องจาก Gen. Charles C. Krulak ผู้บังคับบัญชาการนาวิกโยธินอเมริกัน เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า กำลังพลของสหรัฐในปัจจุบันไม่ได้มีภารกิจการรบในพื้นที่ความขัดแย้งแต่เพียงประการเดียว
หากแต่มีภารกิจอื่นๆ ที่ต้องทำคู่ขนาน และภารกิจที่เพิ่มขึ้นมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นเช่นกันด้วย เขาเสนอว่าแบบแผนของสงครามชุดใหม่มีลักษณะเป็น “สงครามสามชุด” (Three-Block War) หรืออาจอธิบายว่าบทบาทใหม่มีนัยถึงภารกิจสามกลุ่มงาน
การสร้างภาพลักษณ์เช่นนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงภารกิจใหม่สามกลุ่มงานที่ทหารต้องดำเนินการในรูปแบบผสมผสาน ฉะนั้น ทหารอเมริกันในปัจจุบันจะมีภารกิจพื้นฐานถึงสามประการในเวลาเดียวกันคือ
1) ทหารทำหน้าที่ในฐานะผู้รักษาสันติภาพในภารกิจรักษาสันติภาพ (Peacekeeping Operations : PKO) เช่น การหย่าศึกระหว่างคู่ขัดแย้งในพื้นที่ การควบคุมและการลาดตระเวนพื้นที่ที่เป็นปัญหา
2) ทหารทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) เช่น การให้ความช่วยเหลือผู้อพยพและคุ้มครองขบวนขนส่งอาหารของ UN การแจกจ่ายอาหารและเสื้อผ้า
3) ทหารทำหน้าที่ในการรบต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงในระดับหนึ่ง ที่ปฏิบัติการรักษาสันติภาพอาจจะมีการใช้อาวุธด้วย เพราะปฏิบัติการรักษาสันติภาพในยุคหลังสงครามเย็นมีความรุนแรงมากกว่าปฏิบัติการแบบเก่า
สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากก็คือ ภารกิจสามกลุ่มงานนี้อาจจะต้องปฏิบัติภายในวันเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่ากำลังพลทหาร/หน่วยทหารอาจจะต้องทำภารกิจที่แตกต่างกันให้สำเร็จในเวลาเฉพาะเวลาหนึ่ง
ความเปลี่ยนแปลงของงานสนามเช่นนี้ทำให้ผู้บังคับหน่วยทหารในระดับต่างๆ ต้องมีความเข้าใจถึงรูปแบบของ “ภารกิจผสมผสาน” ว่าทหารจะไม่ได้ทำภารกิจเดียวที่เป็นเรื่องของการรบเท่านั้น หากแต่ต้องทำภารกิจอื่นๆ คู่ขนาน หรือกล่าวได้ว่างานสนามของทหารไม่ได้อยู่ในแบบเดิมอีกต่อไป
นอกจากนี้ ในโลกยุคปัจจุบัน สงครามสามชุดดังที่กล่าวแล้ว ยังเสริมด้วยภารกิจเพิ่มอีกหนึ่งประการ เมื่อนายพล James Mattis และพันโท Frank Hoffman ขยายแนวคิดเดิมเป็น “สงครามสี่ชุด” (Four-Block War) เพราะปัจจัยด้านข้อมูลข่าวสารที่เติบโตและมีบทบาทมากขึ้น จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับปฏิบัติการทางทหารในโลกปัจจุบัน
อันทำให้ทหารมีภารกิจเพิ่มขึ้นอีกประการคือ
4) ทหารทำภารกิจในปฏิบัติการจิตวิทยา หรือในสถานการณ์ปัจจุบัน ปฏิบัติการนี้อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมืออีกประการเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร ได้แก่ ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) หรือโดยนัยสงครามจะไม่ดำเนินการรบเพียงอย่างเดียวในสนามรบ หากแต่ยังมีการดำเนินการด้วยการใช้สารสนเทศเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และอาจรวมไปถึงการสร้างข่าวในรูปแบบต่างๆ เพื่อชักจูงและ/หรือโน้มน้าวจิตใจคนให้สนับสนุนฝ่ายตน
จนในบางกรณีอาจจะรวมไปถึงการสร้างข่าวปลอม (fake news) อีกด้วย
สงครามพันทาง
ประเด็นในข้างต้นอาจจะดูเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐ แต่หากพิจารณาจากมุมของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) แล้ว อาจจะเห็นถึงการใช้เครื่องมือแบบผสมผสานไม่แตกต่างกัน เช่น กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) มีปฏิบัติการทั้งจากกำลังรบตามแบบและกำลังของนักรบกองโจรผสมกัน
ตัวอย่างเช่น กลุ่มนี้มีชุดปฏิบัติการต่อต้านรถถัง (anti-tank warfare teams) ชุดควบคุมอาวุธปล่อยทางยุทธวิธี ชุดควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (UAVs) และมีแม้กระทั่งชุดควบคุมอาวุธปล่อยทำลายเรือรบ (anti-ship missile teams) ซึ่งมีอานุภาพในการทำลายสูง และยังมีชุดปฏิบัติการข่าวกรอง เช่น ข่าวกรองสัญญาณ (SIGINT) ตลอดรวมถึงชุดปฏิบัติการจิตวิทยา (PSYOP) และปฏิบัติการด้านข่าวสาร เป็นต้น ปฏิบัติการของกลุ่มนี้บ่งบอกถึงการใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการต่อสู้
ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มดังกล่าวใช้ปฏิบัติการทางทหารทั้งในแบบและนอกแบบผสมผสานกัน และยังผสมเข้ากับปฏิบัติการสารสนเทศอีกด้วย
แต่ในอีกด้านของสงครามของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ที่มีการผสมผสานเครื่องมือและวิธีการทุกอย่างนั้น อาจจะตีความได้ว่าเป็น “สงครามอสมมาตร” (Asymmetric Warfare) อันมีนัยว่าตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐพร้อมที่จะดำเนินการด้วยการใช้ทุกมาตรการในการสงคราม ฉะนั้น คู่ขนานกับสงครามพันทางก็คือสงครามอสมมาตร
ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า แบบแผนการสงครามมิได้ดำรงอยู่ในแบบเดียว หรืออาจกล่าวด้วยข้อสรุปเชิงประวัติศาสตร์ได้ว่า สงครามไม่เคยดำรงอยู่ด้วยแบบแผนเดียว หากแต่มีลักษณะของการผสมผสานด้วยการนำเครื่องมือใหม่ๆ ที่เป็นผลจากการพัฒนาของเทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมกับอำนาจกำลังรบในแบบเดิม
ตัวอย่างเช่น สงครามในปัจจุบันมีการนำเอามิติข่าวสารเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้คู่ขนานกับการใช้กำลังรบทั้งในแบบและนอกแบบ เช่น ปฏิบัติการของรัสเซียในวิกฤติยูเครนในปี 2014 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสงครามไฮบริดในปัจจุบัน
อีกทั้งอาจจะต้องตระหนักว่า สงครามพันทางไม่ใช่สงครามข่าวสาร แม้ในสงครามนี้จะมีมิติของการทำสงครามด้วยปฏิบัติการข่าวสารมากขึ้นก็ตาม ดังตัวอย่างของปฏิบัติการของรัสเซีย เช่น การใช้หน่วยรบพิเศษนอกเครื่องแบบที่ทำหน้าที่ก่อกวนและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความสับสน และขณะเดียวกันก็ใช้ปฏิบัติการนี้เพื่อปกปิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของรัสเซียในยูเครน และเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากเป้าหมายที่แท้จริงของรัสเซีย
ดังนั้น ถ้าปรับสมการเดิมในข้างต้น เราอาจสร้างสมการใหม่ได้ว่า “hybrid warfare = regular forces x irregular forces x information forces”
กล่าวคือ สงครามพันทางคือการใช้กำลังทั้งในแบบและนอกแบบผสมผสานเข้ากับกำลังทางด้านสารสนเทศ
เตรียมรับสงครามใหม่
การอธิบายเชิงวิชาการถึงการมาของแบบแบบแผนสงครามใหม่ในลักษณะที่เป็นสงครามพันทางนั้น ก็เพื่อให้นักการทหารมองเห็นถึงการมีบทบาทของเทคโนโลยีใหม่ในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ
และสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยสนับสนุนในการทำสงครามของตัวแสดงที่เป็นรัฐ และขณะเดียวกันตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐก็มีโอกาสใช้เครื่องมือเช่นนี้ไม่แตกต่างกันด้วย
จะคิดเพียงว่ามีแต่รัฐเท่านั้นที่มีขีดความสามารถในการทำสงครามไฮบริดไม่ได้ เพราะการกระจายตัวของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ความได้เปรียบเกิดแก่ผู้ที่เข้าใจ และสามารถใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของแบบแผนสงครามเช่นนี้ในด้านหนึ่งเป็นการนำเสนอทฤษฎีการสงครามที่ต้องการให้เกิดความเข้าใจถึงพลวัตที่เกิดขึ้น
และในอีกด้านหนึ่งเป็นคำเตือนว่า สงครามแบบเก่ากำลังจากไป และสงครามในแบบแผนใหม่ได้เข้ามาแทนที่…
ความคิดเก่า-ยุทโธปกรณ์เก่าอาจรองรับสงครามแบบเก่าได้ แต่ไม่อาจรองรับต่อสงครามแบบใหม่ได้แน่นอน!
————————————————————-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ / 26 กันยายน 2562
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_232303