เป็นไปตาม รธน. มาตรา 52 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2560 เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุปัญหาอ้างความเท็จบ่อนทำลายสถาบันฯ รวมถึงความผูกพันของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีต่อสถาบันฯ น้อยลงเนื่องจากขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถาบันฯ
22 พ.ย. 2562 วันนี้ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศเรื่อง นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565) ความว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบให้ประกาศใช้นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565 ) ตามบทบัญญัติมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2559
เพื่อเป็นแผนหลักของชาติที่เป็นกรอบทิศทางการดำเนินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคามเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีสาระสำคัญตามที่แนบท้ายนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ใช้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2562-2565) ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
ประกาศ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2562
เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เนื้อหาในแผนของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ดังกล่าวระบุถึงการเปลี่ยนแปลงบริบทความมั่นคงทั้งภายนอกและภายในประเทศ ส่วนของภายในประเทศข้อหนึ่ง ระบุเรื่อง ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะยังคงมีบทบาทและเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังคงปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลทั้งจากภายในประเทศ และจากต่างประเทศที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันฯ ทั้งที่มีลักษณะการเชื่อมโยงสถาบันฯ นำมาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง ตลอดจนมีการกล่าวอ้างความเท็จเพื่อบิดเบือนและสร้างความเข้าใจที่ผิดอันเป็น การบ่อนทำลายต่อสถาบันฯ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ประกอบกับความผูกพันเชื่อมโยงของประชาชนบางส่วน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีต่อสถาบันฯ มีน้อยลงเนื่องจากขาดความเข้าใจและความตระหนักรู้อย่างถูกต้องแท้จริงถึงความสำคัญของสถาบันฯ ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและจุดยึดเหนี่ยวของสังคมไทย
ทั้งนี้ ในแผนดังกล่าวยังแนบหลักการและเหตุผล โดยระบุว่า ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 52 บัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ กำลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนา ประเทศด้วยกอปรกับพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๑๓ บัญญัติให้คณะรัฐมนตรี จัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติขึ้นตามข้อเสนอแนะของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจึงจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ การจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเป็นไปตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๙ ที่บัญญัติให้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
ต้องมีสาระที่ครอบคลุมถึงนโยบายภายในประเทศ นโยบายต่างประเทศ และนโยบายการทหารกับการเศรษฐกิจและอื่นๆ อันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อให้กิจการของหน่วยงานของรัฐสามารถประสานกันได้ อย่างใกล้ชิดเป็นผลดีต่อความมั่นคงแห่งชาติ และอย่างน้อยต้องกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติในเรื่อง
1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2) การปกป้องและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
3) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและศักยภาพการป้องกันประเทศ
4) การรักษาความมั่นคงภายในประเทศและระหว่างประเทศ
อีกทั้งการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป็นไปตามมาตรา ๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่บัญญัติให้การกำหนด นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนอื่นใด รวมตลอดทั้ง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ เมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบหรือแนวทางหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนนิติบัญญัติ
การกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ แผนบริหารวิกฤตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือกำหนดแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับนโยบาย และ แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ หรือการปฏิบัติอื่นใดให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติต่อไป
——————————————
ที่มา : ประชาไท / 22 พฤศจิกายน 2562
Link : https://prachatai.com/journal/2019/11/85254