การโพสต์ภาพพร้อมข้อความจากเพจ DAYRAJCHANSHARE ว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปลอมใบ สด.9 (ใบสำคัญทหารกองเกิน) ระบุว่า “โป๊ะแตก ธนาธร สด.9 ปลอม ลองไปตรวจสอบว่า สำเนาใบ สด.9 ที่ไอ้ตี๋ให้ใว้กับกองหนังสือเดินทาง ตอนทำพาสสปอร์ตนั้น มีต้นขั้วหรือเปล่า” ต่อมาผู้บัญชาการทหารบกได้ยืนยันข้อเท็จจริง กรณีนี้จึงกลายเป็นการแพร่กระจาย Fake News ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นรูปแบบ mal-information คือเป็นข่าวสารลวงที่สร้างขึ้นจากข้อมูลจริงบางส่วน โดยจงใจนำมาใช้ใส่ร้าย โจมตี สร้างความเสียหาย หรือทำลายฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมาย
เมื่อนำความเป็น Fake News ที่ประจักษ์ชัดจากเพจดังกล่าวมาพิจารณาเปรียบเทียบว่าละเมิดหรือไม่ต่อกฎหมายและระเบียบราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งกับการรักษาความปลอดภัยของทางราชการและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนขัดกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ดังนี้ จึงขอเสนอข้อสังเกตโดยเรียงตามลำดับประโยคเฉพาะย่อหน้าแรกที่เพจ DAYRAJCHANSHARE เผยแพร่ไว้
เนื้อความแรก คือ “โป๊ะแตก ธนาธร สด.9 ปลอม” เห็นว่าจงใจแพร่กระจายข้อมูลเป็นสาธารณะบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเสนอให้ผู้รับรู้ข้อมูลพิจารณาความน่าเชื่อถือเอาเอง แต่ด้วย สด.9 คือ ใบสำคัญทหารกองเกิน จะได้รับเมื่อได้ทำการขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ฉะนั้น สด.9 จึงมีสภาพเป็นเอกสารราชการที่มอบต่อชายไทยเฉพาะบุคคล และเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามความหมายมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 ที่ว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการ หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารเกี่่ยวกับเอกชน” และ “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือส่งบอกลักษณะอื่่นที่่ทำให้รู้ต้วผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึก ลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่่ยวกับสิ่่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย”
การเผยแพร่เป็นสาธารณะว่ามีบุคคลทั่วไปถือเอกสารราชการประจำตนปลอม หน่วยงานรัฐต้นสังกัดของเอกสารนั้นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และปรากฎว่าผู้บัญชาการทหารบกได้ยืนยันว่า สด.9 ของธนาธรเป็นเอกสารจริง เช่นนี้เพจ DAYRAJCHANSHARE จึงกลายเป็นการกระจายข้อมูลปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 8 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 รายละเอียดคือ
“ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”
แม้ว่ามาตรา 8 ข้างต้นเคยถูกวิพากษ์ว่า เอื้อให้ตีความผิดได้หลายแบบ จึงนำข้อคิดเกี่ยวกับประเภทความผิดที่สามารถพิจารณาได้ตามมาตราดังกล่าวมาตั้งเทียบกับที่เพจ DAYRAJCHANSHARE เสนอไว้ดังนี้
“ความผิดต่อระบบ” คือ การแฝงเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการปลอมแปลง เพราะเพจ DAYRAJCHANSHARE ไม่เคยแสดงข้อเท็จจริงและตัวตนใด ๆ แต่แสดงจุดประสงค์โจมตีผู้อื่นด้วยการนำเสนอข้อมูลปลอม
“ความผิดที่มาจากการหลอกลวง” คือ แพร่กระจายข้อมูลปลอมว่า สด.9 ของธนาธร เป็นเอกสารราชการที่มาจากการปลอมแปลง จึงเท่ากับเป็นการหลอกลวงในระบบออนไลน์
“ความผิดในฐานหมิ่นประมาท”
อย่างไรก็ดี ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่เสนอแยกไว้ทั้ง 3 ประเภทข้างต้นนั้น เป็นความผิดที่ต่างกัน คือ 2 ประเภทแรกเป็นการสร้างความเสียหายต่อกลุ่มคนหรือประชาชน ส่วนการหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อบุคคล ที่มีประมวลกฎหมายอาญาควบคุมและคุ้มครองอยู่แล้ว
เนื้อความส่วนที่ 2 ของย่อหน้าแรก “ลองไปตรวจสอบว่า สำเนาใบ สด.9 ที่ไอ้ตี๋ให้ใว้กับกองหนังสือเดินทาง ตอนทำพาสสปอร์ตนั้น มีต้นขั้วหรือเปล่า” ข้อสังเกตคือ พาดพิงถึงการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ กล่าวคือ
เนื้อความแรก “ลองไปตรวจสอบว่า” หากข้อความนี้หมายถึงให้ผู้ที่ต้องการพิสูจน์ สด.9 ของธนาธร ว่าเป็นเอกสารจริงหรือปลอมนั้น แม้ว่าประชาชนมีสิทธิขอตรวจสอบข้อมูลข่าวสารราชการตามที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 บัญญัติไว้ แต่การขอตรวจสอบ สด.9 ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไม่สามารถกระทำได้ เพราะพระราชบัญญัติฉบับเดิมมีบทบัญญัติคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม ต้องแจ้งทราบและได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน
เนื้อความต่อมา “สำเนาใบ สด.9 ที่ไอ้ตี๋ให้ใว้กับกองหนังสือเดินทาง ตอนทำพาสสปอร์ตนั้น” เป็นการระบุหน่วยงานรัฐที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับให้ไปดำเนินการขอตรวจสอบ แต่หากที่ระบุว่า “กองหนังสือเดินทาง” คือ กองหนังสือเดินทาง กรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและให้บริการเกี่ยวกับหนังสือเดินทางของคนไทย และมีครอบครองสำเนา สด.9 ซึ่งกำหนดเป็นเอกสารประกอบในการยื่นขอหนังสือเดินทางแล้ว แต่กองหนังสือเดินทางไม่มีสิทธิที่จะนำสำเนาดังกล่าวออกมาเปิดเผยแก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของข้อมูลนั้น เพราะการขอตรวจสอบเอกสารราชการต้องดำเนินการกับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลเท่านั้น กรณีนี้จึงต้องติดต่อกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำ สด.9 ตามมาตรา 15 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540
“ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่่ยวข้องประกอบกัน
(1) ……………………………….
(5) รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิ ส่วนบุคคลโดยไม่สมควร”
อย่างไรก็ดี เพจ DAYRAJCHANSHARE ถูกบล็อกไปแล้ว โดย Facebook ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เพจดังกล่าวใช้บริการเครือค่ายสังคมออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นไปตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560
“ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14
ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”
——————————————————
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย