ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สถาปนากองทัพอวกาศ ให้เป็นกองกำลังที่ 6 ภายใต้สังกัดกองทัพสหรัฐอย่างเป็นทางการ เพื่อพิทักษ์ “ผลประโยชน์ของชาติ” ที่อยู่ในอวกาศ ซึ่งเป็น “แนวรบใหม่”
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามใน “กฎหมายการจัดการอำนาจความมั่นคงแห่งชาติ ( เอ็นดีเอเอ ) 2020” ที่ฐานทัพร่วมเรือ-อากาศแอนดรูว์ส ในรัฐแมริแลนด์ ริมชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวรวมถึงงบประมาณ 738,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 22.29 ล้านล้านบาท ) ที่สภาคองเกรสอนุมัติให้ในสัปดาห์นี้ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งการจัดสรรงบประมาณความมั่นคงในปีงบประมาณล่าสุดมีสัดส่วนเกินครึ่งของงบประมาณทั้งหมดที่สภาคองเกรสรับรอง คือ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 42.29 ล้านล้านบาท )
ทั้งนี้ หนึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายเอ็นดีเอเอคือการจัดตั้ง “กองทัพอวกาศ” เป็นกองกำลังที่ 6 ของกองทัพสหรัฐ นอกจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองกำลังนาวิกโยธิน และกองกำลังยามฝั่ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 72 ปี ที่สหรัฐมีการตั้งกองกำลังใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพ โดยกองทัพอวกาศซึ่งแยกตัวออกมาจากกองทัพอากาศจะได้งบประมาณสนับสนุนในปีแรก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1,208.22 ล้านบาท ) ขณะที่ผู้บัญชาการกองทัพอวกาศคนแรกคือ พล.อ.อ.จอห์น เรย์มอนด์ ซึ่งควบตำแหน่งผู้บัญชาการอวกาศ “สเปซคอม” ที่มีการก่อตั้งและเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มอบเอกสารลงนามสถาปนากองทัพอวกาศ ให้แก่พล.อ.อ.จอห์น เรย์มอนด์
ด้านทรัมป์กล่าวถึงการก่อตั้งกองทัพอวกาศว่า “อวกาศคือแนวรบใหม่” และท่ามกลางภัยคุกคามจากรอบด้าน การที่กองทัพสหรัฐ “ต้องเป็นเลิศกว่าศัตรู” ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศจึงเป็นสิ่งสำคัญ และกองทัพอวกาศจะเป็นกำลังสำคัญเพื่อช่วยให้สหรัฐยกระดับมาตรฐานของตัวเองไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งภารกิจของกองทัพอวกาศที่มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและพลเรือนในสังกัดรวมกันประมาณ 16,000 นาย ไม่ใช่การส่งทหารขึ้นสู่อวกาศ แต่คือการปกป้อง “ผลประโยชน์” ของสหรัฐที่อยู่ในอวกาศ อาทิ ดาวเทียมหลายร้อยดวงซึ่งโคจรอยู่ในชั้นบรรยากาศ ทำหน้าที่ทั้งการสำรวจและเก็บข้อมูลทั่วไป และ “การสอดแนม”
มาร์ค เอสเปอร์ รมว.กระทรวงกลาโหม จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพทุกด้านของกองทัพสหรัฐ “ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกฝ่ายว่า “อิทธิพล” ของสหรัฐในอวกาศจะไม่ถูกคุกคามจาก “ศัตรู” โดยเฉพาะรัสเซียและจีน อนึ่ง ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า การจัดตั้งกองทัพอวกาศของสหรัฐ “เป็นภัยคุกคาม” ต่อผลประโยชน์ของรัสเซียที่อยู่นอกโลกเช่นกัน และรัฐบาลมอสโกควรมีมาตรการตอบสนองในเรื่องนี้
เครดิตภาพ : AFP
———————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ / 23 ธันวาคม 2562
Link : https://www.dailynews.co.th/foreign/748124