กองทัพทั่วโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนาอาวุธ ก้าวเข้าสู่ยุค “สงครามไฮเทค” โดยเฉพาะการใช้ “กองทัพโดรน” เพื่อลดความเสี่ยงสูญเสียชีวิตของกำลังพล และลดงบประมาณจัดซื้ออาวุธขนาดใหญ่ หลายประเทศแอบพัฒนา “อาวุธโดรน” ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น บินได้เร็ว บินได้สูง บินได้ไกล และติดตั้งจรวดโจมตีขนาดใหญ่ให้ได้มากสุด…กองทัพไทยก็มีการทุ่มเทพัฒนาโดรนสายพันธุ์ไทยแท้เช่นกัน
คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ “โดรน” (Dynamic Remotely Operated Navigation Equipment) อุปกรณ์ที่ใช้รีโมทในการบังคับให้เคลื่อนที่ ถ้าเป็นจำพวกเครื่องบินขนาดจิ๋วหรืออุปกรณ์ที่บินได้ด้วย จะใช้คำ “ยูเอวี” (Unmanned Aerial Vehicle) แต่สำหรับโดรนที่นำมาพัฒนาให้เป็นอาวุธหรือเครื่องมือต่างๆ ในกองทัพทหารนั้น ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า “อากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ” หรือ “ยูซีเอวี” (Unmanned Combat Air Vehicle) ซึ่งอาวุธโดรนประเภทนี้ จะสามารถบรรทุกกล้องสอดแนม ปืน ระเบิด จรวดขนาดต่างๆ ได้ด้วย
ปัจจุบัน อาวุธโดรน หรือ ยูซีเอวี กลายเป็นพระเอกตัวสำคัญที่บริษัทผลิตอาวุธพยายามพัฒนาออกมาเพื่อเชิญชวนกองทัพทั่วโลกให้ซื้อไปใช้ป้องกันประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทผู้ค้าอาวุธยักษ์ใหญ่ เช่น จีน มักจัดงานโรดโชว์อาวุธโดรนไปทั่วโลก ล่าสุดจีนได้ติดตั้งปืนไรเฟิลเข้ากับยูซีเอวี หวังให้เป็นเครื่องบินรบรุ่นใหม่ไร้คนขับแทนที่ฝูงบินรบแบบเก่า ขณะนี้มีหลายบริษัทแอบพัฒนาให้โดรนมีขนาดใหญ่ขึ้น บางลำยาวเท่าสนามเทนนิส บินได้เร็วกว่า 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไต่ระดับความสูงได้ถึง 13,000 เมตร เรียกว่ามีขนาดไม่ต่างจากเครื่องบินรบทั่วไป
ตัวอย่างการทำสงครามด้วย “กองทัพโดรน” เข้มข้นขึ้นหลังจากโดรนลาดตระเวนราคากว่า 5 พันล้านบาท ของกองทัพสหรัฐ ถูกทหารอิหร่านยิงตกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ขณะบินอยู่เหนือช่องแคบเฮอร์มุซ โดยอ้างว่าไปละเมิดน่านฟ้าของอิหร่าน มีกระแสข่าวออกมาว่าโดรนสอดแนมลำนี้เป็นรุ่น RQ-4 Global Hawk ขนาดใหญ่เท่าเครื่องบินรบทั่วไป ติดอาวุธครบครันและบินสำรวจได้ถึงวันละ 1 แสนตารางกิโลเมตร
เมื่อถูก “สอยตก” ทำให้กองทัพอเมริกันแค้นใจเป็นอย่างยิ่ง !
ผ่านไปแค่เดือนเดียว ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 อเมริกาประกาศว่าสอย “โดรนอิหร่าน” ร่วงแล้วที่ช่องแคบเฮอร์มุซเช่นกัน เพราะบินเข้ามาสอดแนมใกล้เรือรบของสหรัฐในระยะไม่ถึง 1 กิโลเมตร ถือว่าเป็นภัยคุกคาม เพราะเรือรบลำนี้แล่นอยู่ในน่านน้ำสากล
เหตุการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า “โดรนติดอาวุธ” คือหัวใจของกองทัพทั่วโลกในอนาคต เพราะขีดความสามารถทำลายล้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ต้องเสี่ยงต่อความสูญเสียชีวิตจำนวนมาก ลดการถูกโจมตีจากครอบครัวพลทหาร
ล่าสุด ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ดีเฟนส์ แอนด์ ซีเคียวริตี้ 2019” (Defense and Security Expo 2019) ถือเป็นนิทรรศการอาวุธไฮเทคระดับภูมิภาคอาเซียน ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 18-21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีบูธแสดงโชว์จาก 28 ประเทศ เช่น อเมริกา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิสราเอล ญี่ปุ่น รัสเชีย ยูเครน ฯลฯ
มีการแสดงของจริงทั้ง รถถังรถหุ้มเกราะ ดาวเทียม ปืนใหญ่ จรวด เครื่องยิงลูกระเบิด ฯลฯ และที่น่าสนใจคือการโชว์ “อากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ” หรือโดรนติดอาวุธจากบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะของประเทศไทย
“สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” (สทป.) นำโดรนหลายรุ่นของกองทัพไทยออกมาแสดงโชว์ด้วย เช่น “รุ่นD-Eyes01” เป็นเครื่องขนาดเล็กแบบขึ้นลงทางดิ่ง (Multi-Rotor UAV) หมายถึงสามารถใช้บินขึ้นลงในทางดิ่ง หรือที่คับแคบได้อย่างสะดวก มีการติดกล้อง 360 องศา นอกจากใช้งานในกองทัพแล้ว ยังใช้สำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินได้ด้วย บังคับด้วยระบบควบคุมการบินแบบอัตโนมัติ บินได้นานถึง 40 นาที ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร สามารถถ่ายทอดสัญญาณภาพจากกล้องที่สร้างภาพจากการตรวจจับความร้อนได้ด้วย จากรุ่น 1 ก็มีการพัฒนาไปเป็นรุ่น D-Eyes02 ที่เพิ่มสมรรถนะในเรื่องระยะเวลาปฏิบัติการ เพิ่มเป็น 80 นาที และรัศมีการบินตรวจการณ์เพิ่มเป็น 10 กิโลเมตร
ทั้งนี้ รุ่นที่น่าสนใจที่สุดคือ “D-Eyes03” เป็นรุ่นที่ สทป.วิจัยและพัฒนาสร้างต้นแบบ ให้สามารถบินได้นาน 4 ชม. ระยะทาง 40 กิโลเมตร มีการติดตั้งกล้องคุณภาพสูงและสามารถติดตั้งอาวุธบางชนิดได้ด้วย ซึ่งน่าจะนำมาใช้ได้จริงประมาณเดือนกันยายน 2563
พ.อ.ชัชพงษ์ พันธุ์พยัคฆ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ให้ข้อมูลว่าทั้ง 3 รุ่นนั้น เป็นฝีมือคนไทยที่ต้องการพัฒนาให้ทหารไทยมีเทคโนโลยีของตัวเอง เพราะยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในกองทัพบางอย่างนั้น ควรเป็นข้อมูลลับเฉพาะ ประเทศอื่นไม่ควรรู้ทั้งหมด
“เราต้องเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาต่อยอด แล้วสร้างผลงานใหม่ของไทยเอง เช่น อาจสั่งซื้อแค่ตัวโครงสร้างภายนอก หรือจัดซื้ออุปกรณ์บางอย่างจากต่างประเทศ จากนั้นก็มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพแวดล้อมของไทย ที่สำคัญคือโดรนทหารส่วนใหญ่จะมีราคาแพงมาก ถ้าผลิตได้เองจะช่วยลดงบประมาณส่วนนี้ไปได้เยอะ เช่นราคาที่รวมทั้งระบบและรวมอุปกรณ์บังคับทุกอย่าง ถ้ารุ่นเล็กหรือ 01 บินได้ไกล 2.5 กม. ประมาณ 8 แสนบาท รุ่น 02 บินได้ไกล 10 กม. ประมาณ 12 ล้าน ส่วนตัวล่าสุดรุ่น 3 ขนาดใหญ่หน่อยราคา 20 ล้าน ปีกกว้างข้างละ 2 เมตร รวมเป็น 4 เมตร ตอนนี้เราพัฒนาจนพร้อมจะขายให้กองทัพประเทศอื่นๆ” พ.อ.ชัชพงษ์ กล่าวให้ข้อมูล
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา “ยานเกราะล้อยาง” หรือรถสะเทินน้ำสะเทินบกสำหรับกองทัพไทย ชื่อรุ่น BTR3CS รูปร่างเหมือนรถถังขนาดใหญ่ ข้างในบรรจุทหารได้ 8 คน ทั้งพลขับ ผู้บังคับยานเกราะ ทหารคุมปืน ฯลฯ ราคาประมาณ 100 ล้านบาท จุดเด่นคือ การติดตั้งระบบอาวุธที่ทำงานแบบอัตโนมัติ และระบบควบคุมบังคับบัญชาการรบที่ติดต่อสื่อสารได้หลายๆ คันพร้อมกัน มีหน้าจอคอมพิวเตอร์โชว์ให้เห็นเลยว่ารอบข้างของแต่ละคันเห็นอะไรบ้าง ซึ่งแต่ก่อนต้องใช้วิทยุสื่อสารระหว่างรถแต่ละคัน แต่รุ่นนี้สามารถเห็นจากหน้าจอของคันอื่นได้เลย พร้อมด้วยการสร้างห้องจำลอง “เครื่องช่วยฝึกรถถัง” มีเก้าอี้ 3 ตัวและหน้าจอคอมพิวเตอร์จำลองภาพและอุปกรณ์เสมือนจริงในรถถังหรือยานเกราะรุ่นใดก็ได้ เพื่อให้พลทหารสามารถฝึกซ้อมควบคุมบังคับเครื่องมือต่างๆ จนชำนาญ แล้วค่อยไปฝึกกับของจริง
ด้วยความสามารถของนักวิจัยไทยนั้น หากกองทัพยุคใหม่เอาจริงกับเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอาวุธไฮเทค จากการ “สั่งซื้อ” เป็นส่งเสริม “ส่งขาย” เชื่อว่าจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ไทยแลนด์ในอนาคต…
——————————————————
ที่มา : คมชัดลึก / 26 พฤศจิกายน 2562
Link : https://www.komchadluek.net/news/scoop/401026?utm_source=tiein&utm_medium=internal_referral