‘Defector’ Wang Liqiang and the Great Game
By Dave Makichuk
ความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ดูเหมือน หวัง “วิลเลียม” ลี่เฉิง อดีตนักศึกษาศิลปะวัย 27 ปี ผู้อ้างเป็นสายลับจีนซึ่งขอ “แปรพักตร์” อย่างเก่งที่สุดก็น่าจะเป็นมือปฏิบัติการระดับล่างๆ เท่านั้น
เจมส์ แองเกิลตัน (James Angleton) [1] อดีตผู้คุมงานด้านต่อต้านสปายสายลับ ในสำนักงานซีไอเอมาอย่างยาวนาน เคยพูดถึงการต่อต้านข่าวกรอง โดยบรรยายว่ามันคือ “ดงแห่งกระจก” (Wilderness of Mirrors) ซึ่งภาพของสิ่งต่างๆ จะถูกสะท้อนไปสะท้อนมา ยากแก่การจำแนกว่า สิ่งนั้นมีรูปร่างลักษณะที่แท้จริงอย่างไรกันแน่
คำพูดนี้เห็นกันว่าคมคายสมเหตุสมผล เนื่องจากในธุรกิจของสปายสายลับนั้น สิ่งต่างๆ ไม่เคยเป็นอย่างที่มันดูเหมือนจะเป็นเลย
ในเดือนธันวาคมนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนและหน่วยงานด้านข่าวกรองของประเทศนั้น กลายเป็นข่าวพาดหัวหลายๆ ข่าวในสื่อมวลชนโลก จากวิธีการปฏิบัติแบบเผด็จการและมุ่งใช้อำนาจปราบปราม อย่างไรก็ดี กิจกรรมที่ตกเป็นข่าวในคราวนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง หรือพวกไม่เห็นด้วยกับทางการในทางการเมืองใดๆ หากแต่เป็นเรื่องการมุ่งเล่นงานขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงและไต้หวัน
ตัวละครเอก คือ หวัง “วิลเลียม” ลี่เฉียง (Wang “William” Liqiang) ผู้ปรากฏตัวทางสื่อมวลชนออสเตรเลียโดยอ้างว่า เขาเคยทำงานเป็นสายลับให้แก่กลไกข่าวกรองทางทหารของจีนในฮ่องกง แต่ตอนนี้เขาต้องการแปรพักตร์ขอลี้ภัย โดยพรักพร้อมและกระตือรือร้นที่จะเปิดโปงสิ่งต่างๆ ที่เขาเคยทำเคยรับรู้มา
ปกติแล้ว เมื่อมีผู้แปรพักตร์ร้องขอที่จะพำนักลี้ภัยในประเทศใดประเทศหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนมักตั้งข้อสงสัยกันขึ้นมาว่า เขา (หรือเธอ) กำลังโกหกหลอกลวงอยู่หรือเปล่า ขณะที่สำหรับพวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแล้ว จะตั้งข้อสงสัยว่าบุคคลผู้นี้กำลังโกหกหลอกลวงมากน้อยแค่ไหนเพียงใด
เจมส์ คินจ์ (James Kynge) บรรณาธิการอาวุโสคนหนึ่งของไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในข้อความที่เขาโพสต์ทางทวิตเตอร์ว่า “มีสิ่งต่างๆ เยอะแยะเกี่ยวกับเจ้าหมอนี่ซึ่งดูไม่น่าเชื่อถือ เรื่องราวของเขาอ่านดูแล้วเหมือนกับมันถูกดึงออกมาจากแฟ้มรวมข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ แล้วมันก็ไม่ได้มีสิ่งที่เป็นการเปิดเผยอะไรใหม่จริงๆ”
ถึงแม้เป็นข่าวพาดหัวเกรียวกราว แต่ยังคงมีคำถามฉกาจฉกรรจ์ที่ไม่กระจ่าง
ตามรายงานชิ้นหนึ่งของ นิก เอฟทิเมียเดส (Nick Eftimiades) ซึ่งเขียนให้แก่ เบรกกิ้งดีเฟนซ์ (Breaking Defense) นิตยสารดิจิตอลเน้นข่าวสารกลาโหมซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ระบุว่าจิตวิทยาและแรงจูงใจของผู้แปรพักตร์รายนี้ดูสลับซับซ้อน ขณะที่พวกแปรพักตร์มาอยู่กับฝ่ายตะวันตกมักอ้างเหตุผลว่าเป็นเพราะหัวใจเกิดการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว และมีเชื่อถือศรัทธาในเสรีภาพและประชาธิปไตย ทว่าแรงจูงใจอันแท้จริงซึ่งทำให้บุคคลคนหนึ่งตัดสินใจผละจากครอบครัว, อาชีพการงานที่ทำอยู่, ตลอดจนประเทศชาตินั้น อาจมีความแตกต่างกันออกไปได้หลายหลาก
แรงจูงใจเหล่านี้มีตั้งแต่การที่บุคคลผู้นี้กำลังถูกจับได้ว่ากระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือประกอบอาชญากรรม ไปจนกระทั่งเผชิญการแข่งขันในแวดวงอาชีพ และมีเรื่องรักใคร่ฉันชู้สาวซึ่งกระทำแบบลักลอบไม่ถูกต้อง การต่อสู้กันภายในระหว่างฝักฝ่ายทางการเมืองซึ่งเป็นศัตรูกันภายในแวดวงการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยเป็นสาเหตุที่ผลักไสเจ้าหน้าที่จำนวนมากให้แปรพักตร์หลบหนีเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย มีอยู่บ่อยๆ ซึ่งพวกผู้แปรพักตร์จะขยายความสำคัญของตนเองจนเกินเลยความจริง หรืออวดอ้างว่าทราบอะไรๆ มากกว่าที่ตนเองรู้จริงๆ
พิจารณาจากลัหษณะทางพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่องค์การความมั่นคงและข่าวกรองออสเตรเลีย (Australian Security and Intelligence Organization ใช้อักษรย่อว่า ASIO) คงกำลังทำงานกันวุ่นวายกับพันธมิตรฝ่ายต่างๆ เพื่อยืนยันหรือปฏิเสธรายละเอียดทั้งหลายในเรื่องราวที่ หวัง บอกเล่า
ถ้าหากเขาต้องการลี้ภัยในออสเตรเลียแล้ว สิ่งที่ หวัง จำเป็นจะต้องทำ บางทีอาจจะมีเพียงแค่เข้าร่วมการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงสัก 2-3 ครั้ง จากนั้นก็จัดหาจัดเตรียมภาพถ่ายพร้อมกับเรื่องราวสำหรับบอกเล่าว่าตำรวจกำลังคอยเฝ้าติดตามตัวเขาอย่างไรบ้าง
แต่ตรงกันข้าม ในคำให้การความยาว 17 หน้าที่เขายื่นให้ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของออสเตรเลีย กลับเป็นข้อมูลข่าวสารเชิงลึกซึ่งระบุถึงสื่อมวลชนเจ้าต่างๆ, ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ, บริษัทกิจการธุรกิจและบุคคลซึ่งเขาอ้างว่าเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในการปฏิบัติการจารกรรมและปกปิดซ่อนเร้น เพื่อมุ่งบ่อนทำลายฮ่องกง, ไต้หวัน, และออสเตรเลีย
กรณีของ หวัง มีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่มากมายทีเดียวซึ่งยังคงไม่รับการคลี่คลายให้กระจ่าง หวัง ยังได้พูดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องราวประสบการณ์ของเขาอีกด้วย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนเช่นนี้โดยทั่วไปแล้วไม่ได้เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีเหตุผลอะไรบางอย่างรองรับหรอก บางทีอาจจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลออสเตรเลียมีความระแวงสงสัยเกี่ยวกับตัวเขาก็เป็นได้
สำหรับฝ่ายจีนนั้นทั้งกล่าวอ้างและยังได้ผลิตคลิปวิดีโอ ซึ่งดูเหมือนจะต้องการใช้เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า หวัง แท้ที่จริงแล้วเป็นอาชญากรคนหนึ่ง และได้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง ในอำเภอกว่างเจ๋อ (Guangze County) มณฑลฝู่เจี้ยน เมื่อปี 2016 ตัว หวัง เองเล่าว่าไปอยู่ในฮ่องกงตั้งแต่ช่วงใดช่วงหนึ่งในปี 2014 ทั้งนี้เขาย่อมไม่สามารถที่จะอยู่ในสถานที่ 2 แห่งในเวลาเดียวกันได้ น่าสังเกตด้วยว่าเมื่อตอนที่ หวัง ยื่นขอวีซ่าเข้าออสเตรเลียในปี 2018 นั้น จึนได้แจ้งรัฐบาลออสเตรเลียว่าเขาไม่ได้มีชื่อปรากฏอยู่ในบันทึกความผิดทางอาญาใดๆ
แต่กระทั่งถ้าหากเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติการต่างๆ ของ หวัง เป็นความจริงแม้เพียงแค่บางส่วน เขาก็น่าจะเป็นได้แค่ผู้แปรพักตร์ในระดับล่างๆ เท่านั้น เขาไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองอย่างแท้จริง อีกทั้งไม่ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องทักษะกลเม็ดด้านข่าวกรองแบบปกปิดซ่อนเร้น
ตามคำบอกเล่าของ หวัง ศูนย์สารสนเทศ (Information Centre) แห่งมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ (National Defense University) ในมณฑลหูหนาน เป็นผู้ออกเอกสารประจำตัวปลอมให้แก่เขาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2019 เอกสารเหล่านี้ทำขึ้นโดยใช้ชื่อปลอม 2 ชื่อด้วยกัน ทั้งนี้ เอกสารปลอมแปลงฉบับหนึ่งซึ่งเขาได้รับคือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของเกาหลีใต้ ซึ่งให้เขาใช้ชื่อปลอมว่า หวัง กัง (Wang Gang)
มีข้อน่าสังเกตว่าหนังสือเดินทางเกาหลีใต้นั้นขึ้นชื่อลือชาว่ามีคุณลักษณะเพื่อการรักษาความปลอดภัยจำนวนหนึ่งซึ่งทำให้ยากลำบากแก่การปลอมแปลง แม้กระทั่งสำหรับแก๊งอาชญากรชั้นเยี่ยม
คุณลักษณะเหล่านี้มีอาทิเช่น ใช้หน้าลามิเนตปิดคลุมตัวพิมพ์เรืองแสง, ภาพถ่าย, ตัวพิมพ์เล็กๆ, ภาพถ่ายลับ, และพื้นที่สำหรับให้อ่านได้ด้วยเครื่อง (Machine Readable Zone) ซึ่งบรรจุข้อมูลทางชีวมิติ (biometric data)
ในหนังสือเดินทางปลอมของ หวัง มีอยู่ 3 อย่างถูกตั้งคำถามด้วยความกังขา
อย่างแรกสุด ทำไมจึงใช้ชื่อ หวัง กัง? หวัง เป็นแซ่หรือนามสกุลที่ธรรมดาสามัญอย่างยิ่งพบเห็นได้เกลื่อนกลาดในหมู่ชาวจีน แต่กลับพบเห็นกันน้อยมากในหมู่ชาวเกาหลี การเลือกใช้แซ่ซึ่งไม่ใช่แซ่ทั่วๆ ไปสำหรับชาวเกาหลีใต้เช่นนี้ มีแต่ทำให้ผู้ถือหนังสือเดินทางกลายเป็นจุดสนใจอย่างไม่พึงประสงค์เท่านั้น ดังนั้นหากจะใช้พาสปอร์ตอย่างนี้กันจริงๆ ก็ควรที่จะต้องมีการจัดเตรียมเรื่องราวอำพรางอย่างชนิดลงลึก ตลอดจนเอกสารสนับสนุนต่างๆ เอาไว้ด้วย ทว่านี่กลับไม่มีเลย
หวัง เป็นผู้ที่ไม่สามารถพูดภาษาเกาหลีได้ ด้วยเหตุนี้การใช้หนังสือเดินทางปลอมฉบับนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรอื่นก็ตามทีนอกเหนือจากเพื่อ “เปล่งแสงวิบวับให้คนสนใจ” แล้ว ย่อมต้องถือว่าเป็นทางเลือกในการดำเนินการที่ย่ำแย่มาก การข้ามพรมแดนระหว่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่งขณะที่ถือหนังสือเดินทางในภาษาซึ่งผู้ถือไม่สามารถพูดได้ คือการเสี่ยงภัยอย่างสุดๆ
อย่างสุดท้าย ชื่อภาษาเกาหลีในหนังสือเดินทางปลอมฉบับนี้ตรงบริเวณด้านล่างขวามือ มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากชื่อภาษาอังกฤษที่ให้ไว้ นี่เป็นความผิดพลาดที่เตะตาเหลือเกิน
การจัดทำเอกสารปลอมแปลงด้วยคุณภาพเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงทักษะลูกเล่นด้านสปายสายลับที่อ่อนหัดเป็นอย่างยิ่ง ทันทีที่เข้าประเทศได้ จะคาดหวังได้อย่างไรว่าบุคคลผู้ถือหนังสือเดินทางจะสามารถเช่าห้องพัก, เช่าพื้นที่สำนักงาน, จัดการเรื่องบัญชีธนาคาร, เบิกถอนโอนเงินผ่านออนไลน์ ฯลฯ ขณะที่ถือพาสปอร์ตปลอมในภาษาซึ่งผู้ถือพูดไม่ได้?
แม้กระทั่งพวกแก๊งอาชญากรที่ทำงานแบบหยาบๆ ในเวลาโจรกรรมหนังสือเดินทาง ก็ยังสามารถที่จะคำนึงถึงความเหมาะสมเข้ากันได้กับรูปร่างลักษณะของผู้ซื้อ เพื่อลดขั้นตอนต่างๆ ในการปลอมแปลงที่จะต้องกระทำ โดยเหลือเพียงแค่การเปลี่ยนภาพถ่ายให้เป็นภาพของผู้ซื้อเท่านั้น มันช่วยทั้งเรื่องการลดความยุ่งยาก ลดเงินทองที่จะต้องใช้ และก็ลดความเสี่ยงอีกด้วย พวกบุคลากรวงการข่าวกรองจีนนั้นจะเป็นพวกที่ไร้ความสามารถกันถึงขนาดนี้ได้ทีเดียวหรือ?
ลีโอนิด เปตรอฟ (Leonid Petrov) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงชาวเกาหลีผู้หนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian ¬National University) ก็พูดเช่นกันว่า หนังสือเดินทางเกาหลีใต้ซึ่ง หวัง บอกว่าทางเจ้าหน้าที่จีนที่เป็นหน่วยเหนือของเขาเป็นผู้จัดทำมาให้แก่เขานั้น มีความคลาดเคลื่อนบกพร่องอย่างร้ายแรงหลายๆ จุด ฝ่ายจีนจะให้คนของพวกเขาใช้เอกสารปลอมแปลงหยาบๆ เช่นนี้หรือ?
“พวกพาสปอร์ตเกาหลีใต้ปลอม มีตลาดซื้อขายกันอยู่” เปตรอฟ อธิบาย
“พาสปอร์ตเกาหลีใต้เป็น 1 ในพาสปอร์ตที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก คุณสมารถเดินทางไปสถานที่จำนวนมากโดยไม่ต้องขอวีซ่า”
ตามรายงานของ สิ่งพิมพ์เผยแพร่ทางเว็บ ดิ อินเทอร์พรีเตอร์ (The Interpreter) รัฐบาลจีนไม่ได้เพียงแค่ปฏิเสธไม่ยอมรับว่า หวัง เป็น ผู้แปรพักตร์ที่ทำงานในวงการข่าวกรองเท่านั้น หากยังประกาศอย่างไร้ความละอายจนน่าขัน ว่าปักกิ่งไม่ได้กระทำจารกรรมในออสเตรเลีย และไม่เคยคิดฝันที่จะแทรกแซงกิจการภายในของประเทศดังกล่าว
ฝ่ายจีนยืนกรานหนักแน่นว่า หวัง เป็นเพียงนักต้มตุ๋นซึ่งกำลังหลบหนีจากเงื้อมมือกฎหมายในจีนเท่านั้น เวลานี้ย่อมมีคนจำนวนมากมายทีเดียวซึ่งสามารถอ้างเรื่องการหลบหนีให้พ้นเงื้อมมือกฎหมายในประเทศจีน ว่านี่แหละเป็นเหตุผลความชอบธรรมของพวกเขา ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากการที่แดนมังกรขาดไร้ระบบตุลาการที่เป็นอิสระและกระบวนการทางกฎมาย
ทว่า อย่างน้อยที่สุดมันก็มีความเป็นไปได้ว่า ในกรณีของ หวัง นั้น ทางพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายจีนกำลังพูดความจริง โดยที่อย่างดีที่สุด หวัง ก็เป็นเพียงมือปฏิบัติการระดับล่าง ไม่ได้เป็นผู้แปรพักตร์ผู้ทรงความสำคัญยิ่งระดับ “คิม ฟิลบี” (Kim Philby) [2]
ภาพถ่ายจากคลิปวิดีโอเผยแพร่โดย “โกลบอลไทมส์” สื่อในเครือเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งนี้ทางการจีนอ้างคลิปนี้เป็นหลักฐานแสดงว่า หวัง ลี่เฉียง แท้ที่จริงแล้วเป็นอาชญากรที่ถูกศาลจีนตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อปี 2016
หมายเหตุผู้แปล
[1] เจมส์ จีซัส แองเกิลตัน (James Jesus Angleton) (เกิด 9 ธ.ค. 1917 ตาย 11 พ.ค. 1987) เป็นหัวหน้าใหญ่ของงานต่อต้านข่าวกรอง ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ตั้งแต่ปี 1954 จนถึงปี 1975 ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเขาภายในซีไอเอ คือ รองผู้อำนวยการด้านการปฏิบัติการเพื่อต่อต้านข่าวกรอง (Associate Deputy Director of Operations for Counterintelligence) (จากวิกิพีเดีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/James_Jesus_Angleton)
[2] แฮโรลด์ เอเดรียน รัสเซลล์ “คิม” ฟิลบี (Harold Adrian Russell “Kim” Philby) (เกิด 1 ม.ค. 1912 ตาย 11 พ.ค. 1988) เป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหราชอาณาจักร และก็เป็นสายลับสองหน้าซึ่งทำงานให้แก่สหภาพโซเวียต ในปี 1963 เขาถูกเปิดโปงว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม “เคมบริดจ์ ไฟฟ์” (Cambridge Five) เครือข่ายสายลับที่ส่งข้อมูลข่าวสารไปให้สหภาพโวเวียตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และในระยะต้นๆ ของสงครามเย็น ในสมาชิก 5 คนของกลุ่มนี้ เชื่อกันว่า ฟิลบี ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการจัดหาข้อมูลข่าวสารลับให้แก่ฝ่ายโซเวียต
ฟิลบีเกิดในอินเดียสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร เขาได้รับการศึกษาที่โรงเรียนเวสต์มินสเตอร์ และวิทยาลัยทรินิตี้ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาได้รับชักชวนจากหน่วยข่าวกรองโซเวียตให้เข้าร่วมเมื่อปี 1934 ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากเคมบริดจ์ ฟิลบีทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ และเคยไปทำข่าวสงครามกลางเมืองสเปน ตลอดจนสงครามความปราชัยของฝรั่งเศสต่อนาซีเยอรมนี ในปี 1940 เขาเริ่มทำงานให้แก่ “เอ็มไอ 6” หน่วยสืบราชการลับในต่างประเทศของสหราชอาณาจักร เมื่อถึงตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็กลายเป็นสมาชิกระดับสูงของหน่วยงานข่าวกรองสหราชอาณาจักร ในปี 1949 ฟิลบีได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการเอกของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำกรุงวอชิงตัน และได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อหลักของฝ่ายสหราชอาณาจักรกับสำนักข่าวข่าวกรองต่างๆ ของฝ่ายอเมริกัน ระหว่างที่เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหราชอาณาจักรนี้ เขาได้ส่งผ่านข่าวกรองจำนวนมากไปให้สหภาพโซเวียต เป็นต้นว่า แผนการของฝ่ายสหราชอาณาจักรและอเมริกันในการบ่อนทำลายระบอบคอมมิวนิสต์ของแอลเบเนีย นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้รับผิดชอบเตือนภัยให้สมาชิกอีก 2 คนใน “เคมบริดจ์ ไฟฟ์” ได้แก่ โดนัลด์ แมคคลีน (Donald Maclean) และ กาย เบอร์เจสส์ (Guy Burgess) ว่ากำลังถูกสงสัย ยังผลให้ทั้งคู่หลบหนีไปยังกรุงมอสโกในเดือนพฤษภาคม 1951
แต่การแปรพักตร์ของแมคคลีนและเบอร์เจสส์ ก็ทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับฟิลบี ส่งผลให้เขาลาออกจาก เอ็มไอ6 ในเดือนกรกฎาคม 1951 อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการประกาศว่าไม่มีความผิดในปี 1955 หลังจากนั้นเขาก็กลับเข้าทำงานหนังสือพิมพ์อีกครั้งโดยประจำอยู่ที่กรุงเบรุต ในเดือนมกราคม 1963 หลังจากถูกเปิดเผยในท้ายที่สุดว่าเป็นสายลับของโซเวียต ฟิลบีจึงแปรพักตร์เดินทางไปยังมอสโก และพำนักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1988
——————————————–
ที่มา : MGR Online / 15 ธันวาคม 2562
Link : https://mgronline.com/around/detail/9620000119535