ใบหน้าของผู้เข้าชมงานนิทรรศการดิจิตัล ไชน่า ในฝูโจว ปรากฏบนจอภาพของเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ภาพเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2019 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
ระบบการจดจำใบหน้า (facial recognition) กำลังหลั่งบ่าสู่ชีวิตชาวจีนในมิติต่างๆมากขึ้นทุกวันในขณะที่ยังไร้มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ระบบระบุอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดได้ก่อความเคลือบแคลงวิตกกังวลให้กับบางกลุ่มเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนตัวและการนำไปในในทางมิดีมิร้ายต่าง ๆ ที่น่าสะพรึงอย่างไม่อาจจิตนาการ
หลังจากที่จีนออกกฎข้อบังคับใหม่ให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือต้องสแกนใบหน้าเมื่อลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ ก็อาจกล่าวได้ว่าขณะนี้แทบไม่มีชาวจีนคนไหนรอดพ้นจากการแวะข้องกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้ากันแล้ว
กระทรวงสารสนเทศและเทคโนโลยีแห่งจีนซึ่งประกาศกฎข้อบังคับนี้มาตั้งแต่เดือนก.ย. โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ออกโรงอธิบายมาตรการใหม่นี้จะช่วยป้องกันการขายต่อซิมการ์ดและป้องกันพวกมือมืดหรือมิจฉาชีพลงทะเบียนในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในกรณีที่บัตรประชาชนถูกขโมย
สื่อโซเชียลมีเดียและบริการออนไลน์หลายรายในจีนได้เชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เพื่อที่จะสามารถติดตามผู้ใช้ได้ แอพลิเคชั่นเชิงพาณิชย์และหน่วยงานตำรวจก็ใช้ระบบรู้จำใบหน้ากับคึกคัก
เครือข่ายสถานีรถไฟใต้ดินปักกิ่งเป็นรายล่าสุดที่นำระบบรู้จำใบหน้ามาใช้ในปลายเดือนที่ผ่านมา(28 พ.ย.) ขณะที่สถานีรถไฟใต้ดินในหลายๆเมืองในจีนได้ใช้ระบบฯนี้กันไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน
จีนได้ทะยานขึ้นเป็นจ้าวเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) ชั้นนำของโลก และกำลังนำเอไอมาใช้ในทุกมิติชีวิต ตามสถานที่สาธารณะเริ่มทยอยติดตั้งกล้องวงจรปิดเทคโนโลยีจดจำใบหน้าทั้งเพื่อการต่างๆ ทั้งการจับขโมย นักล้วงกระเป๋า ไปยันการขโมยกระดาษชำระในห้องน้ำ
มีการเปิดเผยอย่างกว้างขวางระบุว่าจำนวนกล้องวงจรปิดที่ใช้ในจีน ราว 200 ล้านตัว และกำลังจะเพิ่มมากขึ้นถึง 626 ล้านตัว
ไล่เรียงดูแล้วแทบจะพูดได้ว่าเทคโนโลยีจดจำใบหน้าแพร่ระบาดไปทั่วหย่อมหญ้าจีน แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันชาวจีนจนกลายเป็นความปกติธรรมดาไปแล้ว
สำหรับผู้ที่มองโลกในแง่ดีบอกว่ามาตรการใหม่ที่ให้สแกนใบหน้าเพื่อลงทะเบียนเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือนี้จะช่วยลดคดีฉ้อฉลในด้านโทรคมนาคม และการหลอกลวงเกี่ยวกับโทรศัพท์
มหาวิทยาลัยหลายแห่งคุยว่าการใช้ระบบจดจำใบหน้ามาเช็คชื่อผู้เข้าเรียนช่วยให้อัตราการเข้าห้องเรียนของนักศึกษาสูงขึ้น เป็นต้น
ทว่า ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มเคลือบแคลงสงสัยต่อระบบจดจำใบหน้าได้ชี้ถึงผลพวงอันไม่พึงประสงค์ของปัจเจกชน บ้างกล่าวว่ามันเป็นอีกตัวอย่างของการขยายการติดตามพลเมือง บ้างชี้ว่ามันเป็นการละเมิดและอาจจะถูกนำไปใช้ในการฉ้อฉลอย่างน่าสะพรึง
ในต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับระบบรู้จำใบหน้าคดีแรกของจีน โดยนาย กัว ปิง รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ไฮ-เทค (Zhejiang Sci-tech University) ได้ยื่นฟ้องร้องสวนสัตว์ซาฟารีเมืองหังโจวในข้อกล่าวหาผิดสัญญาโดยเปลี่ยนระบบยืนยันอัตลักษณ์ของผู้ผ่านประตูเข้าชมสวนสัตว์จากระบบสแกนลายนิ้วมือมาเป็นระบบสแกนใบหน้าหลังจากที่เขาได้ซื้อตั๋วปีเข้าชมสวนสัตว์ไปเมื่อเดือนเม.ย. ซึ่งตอนนั้นสวนสัตว์ได้ใช้ระบบผ่านประตูฯโดยการสแกนลายนิ้วมือ
กัว ปฏิเสธให้ข้อมูลแก่สวนสัตว์เพื่อนำไปเข้าระบบใหม่ เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนระบบรับเข้าสวนสัตว์นี้เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
“วัตถุประสงค์การยื่นฟ้อง ไม่ได้ต้องการค่าชดเชย แต่ต้องการต่อสู้การละเมิดโดยระบบจดจำใบหน้า”
อีกกรณีการปฏิเสธระบบรู้จำใบหน้า: นาย หวัง ฉีอี้ว์ ใช้โต้เถียงกับพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในใจกลางเมืองเซินเจิ้นถึง 20 นาที กว่าที่ทางโรงแรมจะยินยอมให้นายหวังเช็คอินเข้าพักโดยที่ไม่ต้องสแกนใบหน้า
จากรายงานของเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ระบุว่านายหวังวัย 31 ปี เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสหรัฐฯ และเดินทางกลับบ้านเกิดที่จีนเมื่อสองปีที่แล้ว เขารู้สึกว่าการสแกนใบหน้าของทางโรงแรมเป็นการก่อกวนสร้างความวิตกกังวลให้กับเขา “ทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ ร้านค้า และโรงแรม แทบทุกหน่วยแห่งหนเรียกร้องให้สะแกนใบหน้า แต่ไม่มีใครเลยที่อธิบายว่าพวกเขาจัดเก็บข้อมูลนี้ไปทำไมและจะปกป้องข้อมูลอย่างไร”
กลุ่มนักกฎหมายที่เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ได้ไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้กล้องวงจรปิดเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า “ทำไมแม่แต่สวนสัตว์ยังต้องเก็บข้อมูลใบหน้า?” เนื่องจากมันมีมูลค่าเชิงพาณิชย์” ฝู หวาหลิง อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวถึงกรณีฟ้องร้องของนาย กัว ปิง
“ผมคิดว่าการฟ้องร้องทางกฎหมายของกัว มีเป้าหมายเปิดประเด็นถกเถียงในสาธารณะ และดึงดูดความสนใจของรัฐบาลต่อปัญหาความปลอดภัยของข้อมูลใบหน้า”
อาจารย์ด้านกฎหมายอีกท่าน เหลา ตงเหยียน ประจำมหาวิทยาลัยชิงหัว ชี้ว่าข้อมูลใบหน้าไม่เหมือนกับข้อมูลชีวภาพอื่นๆอย่างเช่นลายนิ้วมือหรือดีเอ็นเอ ซึ่งต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัวก่อนที่จะทำการขอจัดเก็บ ส่วนข้อมูลใบหน้านั้นคุณสามารถได้มาโดยที่เจ้าตัวของไม่รู้หรือยินยอม
“เมื่อเราอยู่บนถนน ใบหน้าของเราถูกสแกนหลายร้อยครั้งในแต่ละวันจากทุกๆมุม แต่ไม่มีใครบอกคุณเลยว่าข้อมูลใบหน้าของคุณได้ถูกจัดเก็บเข้าระบบไปแล้ว ข้อมูลใบหน้านี้อาจถูกขายให้กับนักการตลาดซึ่งเป็นบุคคลที่สาม และหากข้อมูลนี้รั่วไหลออกไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่อาจกู้คืนมาได้เลยเนื่องจากมันไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว”
“มันเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจจินตนาการ หากพวกมิจฉาชีพได้ข้อมูลใบหน้าของคุณไป บัญชีการเงินของคุณจะถูกแฮ็คไปได้ง่ายๆ ใบหน้าของคุณอาจถูกตัดต่อนำไปใช้ในวิดีโอลามกอนาจาร”
ยักษ์ใหญ่แอพพลิเคชั่นชำระเงินออนไลน์ อย่าง WeChat Pay และ Alipay ให้ผู้ใช้ชำระเงินด้วยการสแกนใบหน้า ณ จุดจำหน่ายสินค้าที่มีกล้องติดตั้งไว้ และจากรายการสืบสวนของ The Beijing News เผยแพร่ในต้นปีนี้ เผยว่ามีแพล็ตฟอร์มมากมายผุดขึ้นมาเป็นเสมือนกับตลาดที่ให้ประชาชนขายบริการสลับเปลี่ยนใบหน้าของเหล่าเซเลปหรือบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงกับภาพของพวกดาวโป๊ในราคาไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแค่ราว 30-31 บาท
ขณะที่หลายคนวิจารณ์ว่าในจีนยังขาดกฎหมายดูแลคุ้มครองเทคโนโลยีใหม่ๆซึ่งทำให้กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกชนจำนวนมหาศาลน่าตกใจ แต่ก็ใช่ว่าผู้นำจีนจะมิได้ทำอะไรในการแก้ไขปัญหาฯนี้ จากการเปิดเผยของจาง เย่ซุ่ย โฆษกสภาผู้แทนประชาชนจีน (National People’s Congress) หรือรัฐสภาเผยในการพิจารณากฎหมายเมืองเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนได้พิจารณาร่างกฎหมายใหม่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่มิได้เผยว่าจะเสร็จสิ้นหรือจะผ่านการรับรองเมื่อไหร่
กลุ่มผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมกล่าวว่าข้อเสนอกฎหมายดังกล่าวจะเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลพลเมืองโดยเฉพาะข้อมูลทางชีวภาพ (biometric data) อย่างเช่นลายนิ้มมือ และข้อมูลใบหน้า
———————————————-
ที่มา : MGR Online / 7 ธันวาคม 2562
Link : https://mgronline.com/china/detail/9620000117043