กองบัญชาการพัฒนาความสามารถในการรบ (CCDC) ของกองทัพสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่ระบุว่า เทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยเสริมสมรรถนะการมองเห็น การได้ยิน และการใช้กล้ามเนื้อให้กับทหารอเมริกันนั้น จะพร้อมนำมาใช้งานได้ภายในปี 2050 และจะทำให้แผนประจำการ “นักรบไซบอร์ก” ในกองทัพ มีความเป็นไปได้สูงในอนาคตอันใกล้นี้
รายงานดังกล่าวมีชื่อว่า “ทหารไซบอร์ก 2050: การผสมผสานมนุษย์กับเครื่องจักร และผลกระทบต่ออนาคตของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ” ได้ระบุถึงความสามารถทางเทคโนโลยีชีวภาพ 4 ด้าน ที่ผ่านการประเมินแล้วว่าน่าจะพร้อมใช้งานกับทหารที่เป็นมนุษย์ได้ ภายใน 30 ปีข้างหน้า ซึ่งได้แก่การเสริมสมรรถนะดวงตา หู กล้ามเนื้อ และสมอง
ทีมนักวิจัยผู้จัดทำรายงานดังกล่าวระบุว่า การสร้างนักรบไซบอร์กที่มีความสามารถเหนือมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมประสิทธิภาพของระบบประสาทในสมองโดยตรง จะนำไปสู่การปฏิวัติกลยุทธ์ดำเนินแผนการรบสมัยใหม่อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ดวงตาของนักรบไซบอร์กจะสามารถมองเห็นและประกอบสร้างภาพได้ชัดเจนขึ้น ช่วยให้การระแวดระวังภัยและการรับรู้สถานการณ์รอบข้างดีขึ้น หูไซบอร์กช่วยให้การสื่อสารและระบบคุ้มกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนเทคนิคพันธุศาสตร์เชิงแสง (Optogenetics) ซึ่งใช้หลักพันธุวิศวกรรมทำให้โมเลกุลไวแสงเข้าควบคุมกิจกรรมภายในเซลล์นั้น จะช่วยวางโปรแกรมควบคุมและฟื้นฟูกล้ามเนื้อของนักรบไซบอร์ก ผ่านการสวมชุดบอดี้สูทแนบเนื้อที่มีตาข่ายเซนเซอร์แทรกอยู่ทั่วตัวด้วย
“เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้การสื่อสารและโอนถ่ายข้อมูลระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร รวมทั้งการสื่อสารทางสมองโดยตรงระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เป็นไปได้ ทหารไซบอร์กยังสามารถสื่อสารกับพาหนะไร้คนขับและบังคับระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้การบัญชาการและปฏิบัติการรบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” รายงานล่าสุดระบุ
นอกจากเทคโนโลยีด้านการทหารแล้ว รายงานข้างต้นยังชี้ว่า การใช้งานไซบอร์กจะแพร่หลายในสังคมพลเรือนภายในช่วง 30 ปีข้างหน้าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานด้านสุขภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจของเทคโนโลยีไซบอร์กในสังคมพลเรือนจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้การพัฒนาไซบอร์กทางการทหารก้าวหน้าไปยิ่งขึ้นในที่สุด
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ยังแสดงความกังวลด้วยว่า หลังจากปี 2050 ไปแล้ว การนำเทคโนโลยีไซบอร์กมาใช้สร้าง “มนุษย์เสริมสมรรถนะ” จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ประชาชนทั่วไป จนอาจทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและไม่เท่าเทียมทางสังคม รวมทั้งปัญหาทางกฎหมาย ความมั่นคงปลอดภัย และปัญหาเชิงจริยธรรมได้
—————————————————–
ที่มา : BBC Thai / 1 ธันวาคม 2562
Link : https://www.bbc.com/thai/thailand-50620291?ocid=socialflow_facebook&fbclid=IwAR01fH7WGle9gYY3e92vOx4dGE0wKuqcjk3tU3qHePZNymWRIWI7eu1o-20