“จีนให้รางวัลชาวประมงที่ดักพบอุปกรณ์สอดแนมต่างชาติ” นี่คือหัวข้อข่าวที่อาจดูเป็นเรื่องแปลกในตอนแรก และชวนให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น”
ทว่าเบื้องหลังหัวข้อข่าวที่ปรากฏอยู่ในสื่อของทางการจีนนั้น กลับมีเรื่องราวที่แตกต่างและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
ประการแรก ในข่าวนี้ไม่ได้มีชาวประมงแค่ 2-3 คนที่ได้รับรางวัลจากทางการจีน ทว่ามีมากถึง 11 คน ในจำนวนนี้หนึ่งคนเป็นผู้หญิง พวกเขาดักพบ “อุปกรณ์สอดแนมต่างชาติ”รวมกันทั้งสิ้น 7 ชิ้น
ประการที่สอง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวประมงจากมณฑลเจียงซูพบ “ยานสอดแนมใต้น้ำ” ในปี 2018 มีชาวประมง 18 คนได้รับรางวัลจากการพบอุปกรณ์สอดแนม 9 ชิ้น และมีพิธีมอบรางวัลไปเมื่อปีก่อน
ประการที่สาม รางวัลที่ทางการจีนมอบให้มีมูลค่าสูงถึง 500,000 หยวน (ราว 2.2 ล้านบาท)
แล้ว “ยานสอดแนมใต้น้ำ” ที่ว่านี้มาจากไหน มาทำอะไร และเหตุใดจึงมีมูลค่าสูงนัก
และคำถามสำคัญก็คือ เหตุใดชาวประมงจีนจึงพบอุปกรณ์ชนิดนี้เป็นจำนวนมาก
เจียงซู เป็นมณฑลทางภาคตะวันออกของจีนซึ่งมีชายฝั่งทะเลทอดยาวเป็นระยะทางกว่า 1,000 กม.แวดล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้าน มีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่ตรงข้าม และไต้หวันอยู่ห่างลงไปทางใต้ราว 500 ไมล์
ลักษณะทางภูมิศาสตร์นี้ และการมีกองทัพสหรัฐฯ ประจำการอยู่เป็นจำนวนมากในภูมิภาค จึงช่วยอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ทางการจีนไม่ได้เปิดเผยว่าอุปกรณ์ที่พบมาจากผู้ใด เพียงแต่ระบุอย่างกว้าง ๆ ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ “ผลิตขึ้นในประเทศอื่น”
แต่ นายอเล็กซานเดอร์ นีล ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาค ระบุว่า อุปกรณ์พวกนี้อาจมาจาก “กองทัพเรือสหรัฐฯ , กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น หรือไม่ก็จากไต้หวัน ซึ่งล้วนเป็นคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค”
แล้วอเมริกา ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน มีจุดประสงค์อะไร
ในปี 2009 กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้สนับสนุนโครงการวิจัยโดรนใต้น้ำ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่า “ยานใต้น้ำไร้คนขับ” (Unmanned Underwater Vehicle หรือ UUV) งานวิจัยนี้มีข้อแนะนำถึงเป้าหมายการใช้อุปกรณ์นี้หลากหลายด้วยกัน เช่น
- ตรวจจับ “เรือดำน้ำที่อาจเป็นของศัตรู”
- ค้นหา และจัดการระเบิดใต้น้ำ โดยเฉพาะในเขตน่านน้ำประเทศอื่น
- ใช้ส่งอุปกรณ์สอดแนม
- เฝ้าตรวจสอบ “โครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเล” เช่นโครงข่ายเคเบิลโทรคมนาคม
งานวิจัยยังเน้นให้เห็นถึงจุดแข็งของ UUV โดยอุปกรณ์ที่เรียกว่า glider ซึ่งเป็นยานใต้น้ำไร้คนขับขนาดเล็ก และน่าจะเป็นสิ่งที่ชาวประมงในมณฑลเจียงซูค้นพบนั้น สามารถส่งไปประจำการได้เป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งยังมีราคาถูกพอสำหรับการใช้แล้วทิ้งได้ ซึ่งนิยามของคำว่า “ราคาถูก” นี้ อาจอยู่ที่หลักหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ
ต้นทุน พิสัยและศักยภาพในการทำงานของอุปกรณ์ชนิดนี้ แสดงให้เห็นว่า “อุปกรณ์สอดแนมใต้ทะเล” กำลังมีความสำคัญมากขึ้น นายนีล ประเมินว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกน่าจะมีการใช้อุปกรณ์แบบนี้กันในจำนวน “หลักร้อยปลาย ๆ”
นี่จึงอธิบายได้บางส่วนว่าเหตุใดจึงพบอุปกรณ์เหล่านี้ไปติดอวนจับปลาของชาวประมงจีนเป็นจำนวนมาก
จีนถือเป็นประเทศที่มีเรือประมงจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกองเรือประมงที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น เพราะชาวประมงบางคนเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพจีน และการทำความเข้าใจถึงการทำงานของหน่วยงานพิเศษนี้ ก็อาจช่วยอธิบายว่าทำไมพวกเขาจึงค้นพบอุปกรณ์ทางทหารอย่างต่อเนื่อง
กองกำลังสำรองทางทะเลจีน (Chinese Maritime Militia หรือ CMM) เป็นส่วนหนี่งของกลุ่มทหารกองหนุนที่เป็นพลเรือนของจีน
ศาสตราจารย์แอนดรูว์ เอส เอริคสัน จาก วิทยาลัยการสงครามทางเรือ (Naval War College) ระบุว่า CMM เป็นหน่วยที่มีลักษณะพิเศษและมีความคลุมเครือสูง แต่ก็เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีของกองทัพสหรัฐฯ
รายงานเมื่อปี 2017 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า CMM มีบทบาทสำคัญในการแข่งขันด้านการทหารและเหตุการณ์คับขันทางการทหารหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในอดีต CMM ได้เช่าเรือประมงจากบริษัทหรือชาวประมง แต่ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า “ดูเหมือนว่าจีนจะสร้างกองเรือประมงที่รัฐเป็นเจ้าของสำหรับ CMM”
นายนีล ระบุว่า เรือหลายลำแสร้งทำเป็นเรือประมงบังหน้า ทั้งที่จริงกำลังปฏิบัติภารกิจตรวจการและสอดส่องชาติศัตรูคู่แข่งของจีน
เขาชี้ว่าในทางปฏิบัติเรือเหล่านี้สามารถทำงานเป็นปราการด่านหน้าหรือใช้ในการสอดส่องทางทหารได้
“ผมคิดว่าหากมีการตรวจสอบให้ลึกลงไป คุณจะพบว่าคนเหล่านี้ (ชาวประมงจากเจียงซู) อาจเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังนี้
จีนไม่ใช่แค่ฝ่ายที่ค้นพบโดรนสอดแนมใต้น้ำ แต่ยังเป็นฝ่ายที่ใช้งานเทคโนโลยีนี้ด้วย
ในงานสวนสนามวาระครบรอบ 70 ปี วันชาติจีน ได้มีการอวดโฉม HSU001 ซึ่งเป็นยานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) ที่สามารถปล่อยโดรนใต้น้ำขนาดเล็กกว่าได้
5 เดือนก่อนหน้านั้น มีข่าวว่าชาวประมงอินโดนีเซียพบ UUV ซึ่งมีตัวหนังสือภาษาจีนกำกับอยู่ที่บริเวณหมู่เกาะรีเยา
แม้จะไม่มีการยืนยันที่มาอย่างชัดเจน แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามันคือส่วนหนึ่งของระบบตรวจการใต้น้ำที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ของจีน หรือที่เรียกว่า “กำแพงใต้น้ำของเมืองจีน”
ดังนั้นยิ่งเทคโนโลยี UUV พัฒนาไปไกลเท่าใด ก็จะยิ่งมีชาวประมง ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรืออินโดนีเซียได้พบเจอกับโดรนสอดแนมใต้น้ำมากขึ้นเท่านั้น
“พวกมัน (โดรน) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจตราความปลอดภัยของกองทัพเรือที่มีความทันสมัยของชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้” นายนีลกล่าว
ที่มา : BBC Thai 19 มกราคม 2563
Link : https://www.bbc.com/thai/international-51147615