บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน
อิหร่านหักปากกาเซียนด้วยการโจมตีสหรัฐแบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่วิธียืมมือกลุ่มติดอาวุธที่ตัวเองสนับสนุนอย่างที่บางคนคาดการณ์ไว้
การโจมตีด้วยขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐในอิรัก คือการทำสงครามแบบ Conventional warfare หรือ “สงครามในรูปแบบ” นั่นคือการรบโดยใช้อาวุธโจมตีกันไปมา ไม่ว่าจะเป็นอาวุธแบบมาตรฐาน เช่นจรวดหรือแบบล้ำสมัยเช่นโดรน
บรรดาเซียนการเมืองเชื่อว่าอิหร่านอาจจะรบแบบ Unconventional warfare หรือสงครามนอกระบบ โดยเฉพาะการใช้ตัวแทนรบกับสหรัฐ (Proxy war) ด้วยการบ่อนทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นจุดๆ ไป อย่างที่สหรัฐเรียกว่า “การก่อการร้าย”
อิหร่านควรใช้วิธีนี้เพราะมีแสนยานุภาพด้อยกว่าสหรัฐแต่มี “บริวาร” ที่เป็นเครือข่ายติดอาวุธที่ทำงานครอบคลุมไปทั่วโลก เช่น ฮิซบุลลอฮ์
แต่อย่างที่เราทราบ อิหร่านเลือกที่จะปะทะตรงๆ ทั้งๆ ที่แสนยานุภาพของอิหร่านเมื่อเทียบกับสหรัฐแล้วเหมือนหนูกับช้าง นั่นแสดงว่าอิหร่านกำลังเลือดเข้าตา และเห็นแก่ศักดิ์ศรีที่ถูกหยามมากกว่าจะมองความเป็นจริงในการรบ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าอิหร่านจะไม่รบนอกแบบ และใช้ตัวแทนรบกับสหรัฐ
Quds Force ของอิหร่านซึ่งผู้บัญชาการเพิ่งจะถูกสังหารไป มีสายสัมพันธ์กับกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) จากการรายงานของ Institute for Near East Policy ในกรุงวอชิงตัน ในระยะหลังทั้งสองกลุ่มนี้ทำงานร่วมกันเพื่อโจมตีเป้าหมายสหรัฐ อิสราเอล และประเทศตะวันตก เพราะความเกี่ยวโยงกับฮิซบุลลอฮ์นี่เองที่ทำให้ไทยต้องระวังตัวเอาไว้
แม้ว่า “สงคราม” จะเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง แต่การรบนอกแบบไม่ได้หมายความว่าจะต้องรบจุดเดียว การรบโดย “กองโจร” ที่สนับสนุนอิหร่านหรืออิหร่านสนับสนุน อาจเกิดขึ้นที่ใดก็ได้บนโลกนี้ ที่ใดก็ตามที่มีผลประโยชน์ของสหรัฐ อิสราเอล และโลกตะวันตก
หากมีการรบนอกแบบโดยตัวแทนของอิหร่าน ไทยจึงเป็นหนึ่งในสมรภูมิหรืออย่างน้อยก็อาจเป็นเป้าโจมตี ซึ่งไทยไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง เพียงแต่ประเทศไทยมีความ “สะดวก” ที่คนนอกจะเข้ามาโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐ อิสราเอล และโลกตะวันตก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 มีกรณีชาวอิหร่านกลุ่มหนึ่งวางแผนที่จะลอบสังหารทูตอิสราเอลในประเทศไทย และหมายจะสังหารเอฮูด บารัก อดีตรัฐมนตรีว่การกระทรวงกลาโหมอิสราเอลที่กำลังจะมาเยือนไทย คนร้ายพากันไปเช่าบ้านหลังหนึ่งในแถบพระโขนงเหนือ กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมทำระเบิดไว้ก่อเหตุ แต่เกิดระเบิดขึ้นเสียก่อน คนร้ายที่ได้รับบาดเจ็บจึงหนีออกมาเพื่อเรียกรถไปโรงพยาบาล แต่คนขับแท็กซีปฏิเสธ คนร้ายบันดาลโทสะจึงขว้างระเบิดมือเข้าใส่รถจนได้รับความเสียหาย เมื่อเจ้าหน้าที่พยายามเข้ายับยั้งเหตุ คนร้ายก็โยนระเบิดเขาใส่ตำรวจอีก แต่เดชะบุญที่ระเบิดไปกระดอนใส่ต้นไม้กลับมาระเบิดใส่คนร้ายจนขาขาดทั้งสองข้าง
จากกรณีนี้ ทางการไทยได้จับตัวชาวอิหร่านจำนวน 7 คน และหน่วยงานความมั่นคงของอิสราเอลเตือนว่าอิหร่านกับฮิซบุลลอฮ์อาจก่อการโจมตีอิสราเอลทั่วโลก และย้อนไปในเดือนมกราคมพ.ศ. 2555 ทางการไทยยังได้ควบคุมตัวชาวสวีเดนเชื้อสายเลบานอนที่ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกฮิซบุลลอฮ์ด้วย นี่คือกรณีล่าสุด แต่ไม่ใช่กรณีแรกที่เป้าหมายอิสราเอลในไทยตกเป็นเป้าการโจมตี เช่นในปี พ.ศ. 2515 ผู้ก่อการปาเลสไตน์กลุ่มแบล็กเซปเทมเบอร์ได้จับตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย
ในเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2537 เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกเฉี่ยวชนกับรถมอเตอร์ไซค์ที่ชิดลม แต่แทนที่คนขับจะลงมาเคลียร์เขาหลบหนี ทำให้จ้องนำรถไปจอดไว้แถวนั้น ห่างจากสถานทูตอิสราเอลประมาณ 250 เมตร นานเกือบ 1 สัปดาห์
ภายหลังเมื่อตรวจรถจึงพบปุ๋ยเต็มคันพร้อมด้วยตัวจุดชนวนระเบิด 14 ตัว เบื้องต้นทราบว่าคนขับเป็นชายชาวตะวันออกกลางแต่หลบหนีไปก่อนหลังเกิดเฉี่ยวชนกับมอเตอร์ไซค์ของคนไทย เจ้าหน้าที่สืบเสาะและจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชาวอิหร่าน 2 คน คือ Hossein Shahriarifar กับ Mohammadi Lotfollah แต่ต้องปล่อยตัวไปก่อนเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ต่อมา Mohammadi Lotfollah หลบหนีไปจากไทยได้สำเร็จ เหลือแต่ Hossein Shahriarifar ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาวางแผนโจมตีสถานทูตอิสราเอลในไทย หากทำสำเร็จสถานทูตอิสราเอลจะพังพินาศไม่มีเหลือ แรงระเบิดจะสร้างความเสียหายในพื้นที่รัศมีโดยรอบ 2 กิโลเมตร แต่มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่าผู้ลงมืออาจหมายตาสถานทูตสหรัฐที่อยู่ใกล้ๆ กัน
เหตุการณ์เหล่านี้น่าจะเพียงพอแล้วว่า ไทยเราเคยเป็นสมรภูมิของการโจมตีของสงครามนอกแบบระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ/อิสราเอลมาก่อน แต่โชคช่วยที่การโจมตีไม่สำเร็จ หาไม่แล้วคนไทยอีกมากมายอาจต้องรับเคราะห์ไปด้วย
พึงสังเกตว่า ความพยามของอิหร่าน-ฮิซบุลลอฮ์ ที่จะก่อเหตุในไทยเมื่อปี 2555 เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอิสราเอล-สหรัฐทั่วโลก เริ่มจากแผนการของอิหร่านที่จะโจมตีสถานทูตอิสราเอลกับซาอุดีอาระเบียในกรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2554 ซึ่งสหรัฐสกัดไว้ได้ ตามมาด้วยการเล็งเป้าหมายทางการทูตของอิสราเอลในจอร์เจียและอินเดีย และตามมาด้วยไทย
การโจมตีเหล่านี้ซาลง หลังจากที่สหรัฐและอิหร่านได้ข้อตกลงเรื่องโครงการรนิวเคลียร์เมื่อปีพ.ศ. 2558 แต่เมื่อทรัมป์ฉีกสัญญาในปี พ.ศ. 2562 ความตึงเครียดก็เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นการโจมตีกันซึ่งๆ หน้าในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563
ในปีนี้ หลังจากที่อิหร่านกับสหรัฐ หนังสือพิมพ์ Los Angeles Times อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ในกองทัพอิสราเอลที่บอกว่าสหรัฐแจ้งอิสราเอลช่วงหน้าว่าจะปลิดชีพผู้บัญชาการ Quds Force ของอิหร่าน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความขัดแย้งของอิสราเอลกับอิหร่านว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮิซบุลลอฮ์กองกำลังทหารตัวแทนของอิหร่านในเลบานอน ถูกกล่าวหาว่ากระทำการโจมตีเป้าหมายอิสราเอลในอินเดีย ไทย และบัลแกเรีย”
ส่วน Foreign Policy ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศกล่าวว่า “ซูเลมานี (แห่ง Quds Force) เป็นนักยุทธศาสตร์ของปฏิบัติการนอกแผ่นดินอิหร่าน เขามีหน้าที่ประสานงานแผนการก่อการร้ายทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งไปไกลที่สุดถึงประเทศไทยและบัลแกเรีย” เป็นไปได้หรือไม่ว่า สหรัฐได้แจ้งเรื่องปฏิบัติการนี้กับรัฐบาลไทยเช่นกัน เพื่อให้เตรียมรับกับการทำสงครามตัวแทนอีกครั้ง โดยใช้แผ่นดินไทยเป็นสมรภูมิ?
ประเด็นหลังนี้ ผู้เขียนได้แต่เพียงคาดเดาเท่านั้น โดยวิเคราะห์จากกรณีที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า “อันที่จริงก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 ม.ค.ทางสหรัฐฯ ได้ประสานมายังไทยเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ว่าเขามีเหตุว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้”
แต่ในเวลาต่อมา น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แก้ไขข้อมูลว่า สหรัฐไม่ได้แจ้งให้ไทยทราบก่อนที่จะมีการปฏิบัติการในอิรัก และเรื่องทีเกิดขึ้นเป็น “ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน”
ไม่ว่าเรื่องนี้จะมีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนไทยต้องเตรียมตัวไว้ก็คือ ไทยไม่ได้ปลอดภัยจากสงครามที่เกิดไกลจากประเทศเราเลย
——————————————————
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / 8 มกราคม 2563
Link : https://www.posttoday.com/world/611169