สัปดาห์นี้ไปดูจีนจะเริ่มดำเนินการใช้ทะเบียนรถไฟฟ้าแบบสมาร์ทอัจฉริยะได้ข้อมูลเที่ยงตรงแม่นยำแบบเรียลไทม์ รู้หมดรถเป็นของใคร จดทะเบียนที่ไหน ใช้มากี่ปีแล้ว ทำผิดกฎจราจรมาหรือไม่
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นไป จีนจะเริ่มดำเนินการใช้ทะเบียนรถไฟฟ้า เรามาดูกันว่า “ทะเบียนรถอิเล็กทรอนิกส์” หรือ Electronic Vehicle Identification, EVI คืออะไร
EVI ก็คือ จากการที่ในปัจจุบันระบบอินเตอร์เนทที่พัฒนาจนสามารถจะออนไลน์ดูและแยกแยะ รวมไปถึงการมีระบบ RFID หรือ Radio Frequency Identification หรือการระบุข้อมูลสิ่งต่างๆ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งพวกเราทุกคนคงคุ้นเคยกันดี เพราะมันถูกนำมาใช้งานชีวิตประจำวันของเราอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแท็กที่ใช้ในป้ายสินค้าเพื่อป้องกันการขโมย ตั๋วรถไฟใต้ดิน เป็นต้น แต่ของประเทศจีนนั้น ระบบต่างๆ กำลังถูกนำมาเพื่อใช้ระบุทุกอย่าง อย่างเข้มข้น ตั้งแต่การที่ประชาชนจะถูกเก็บข้อมูลอย่างละเอียด จนที่บ้านเราอาจจะรู้สึกว่า การทำดังกล่าวนั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เฉพาะกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดินทางเข้าประเทศจีน ก็จะถูกเก็บข้อมูลด้วยการเข้าไปเครื่องเก็บข้อมูล เมื่อเราสอดพาสปอร์ตเข้าไปเครื่องจะทราบว่าเราเป็นคนชาติใด และใช้ภาษาของเราในการสื่อสาร คือไม่ต้องกลัวว่าจะอ่านภาษาจีนไม่ออก และตั้งแต่เริ่มสแกนหน้า สแกนนิ้วทั้งหมด ให้สัมพันธ์กับหนังสือเดินทาง เมื่อไปถึงโรงแรม โรงแรมก็จะขอหนังสือเดินทางและสแกนพาสปอร์ตส่งข้อมูลไปว่า นักท่องเที่ยวท่านนี้ได้เดินทางมาเข้าพักที่โรงแรมนี้ หรือแม้แต่จะเดินทางด้วยรถไฟก็จะต้องระบุตัวตนด้วยบัตรประชาชนและหนังสือเดินทาง ทำให้ระบบฐานข้อมูลของจีนจะเป็นประเทศที่สมบูรณ์และละเอียดเข้าถึงข้อมูลได้ในทุกเรื่อง
แล้วระบบทะเบียนรถอิเล็กทรอนิกส์คืออะไรนั้น มันก็คือระบบการใช้ทะเบียนแบบสมาร์ทหรืออัจฉริยะนั่นเอง โดยนำระบบระบุข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุเพื่อแยกแยะข้อมูลชั้นสูง แทนที่จะเป็นแค่ทะเบียนรถเหมือนเดิม ทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ก็จะเชื่อมต่อกับระบบออนไลน์ เพื่อจะได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและแม่นยำแบบเรียลไทม์ ตั้งแต่จะทราบว่า รถนี้เป็นของใคร จดทะเบียนที่ไหน ใช้มากี่ปีแล้ว ทำผิดกฎจราจรมาหรือไม่ ถึงเวลาต้องต่อทะเบียนรถเมื่อไร หรือแม้แต่การเตือนเมื่อถึงเวลาต้องต่อทะเบียน เป็นต้น
นอกจากนี้ระบบนี้ยังเชื่อมต่อกับระบบใบขับขี่และบัตรประชาชน และที่สำคัญสุด คือ เชื่อมต่อกับระบบกล้อง CCTV ที่มีตามถนน ทันทีที่กล้องจับสัญญาณของทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ก็จะเชื่อมต่อฐานข้อมูลรถ ซึ่งถ้ารถทำผิดกฎจะไม่สามารถหนีไปไหนได้ รวมถึงการขโมยรถเพื่อจะประกอบอาชญากรรมก็ทำไม่ได้อีกต่อไป หรือเรียกได้ว่าเป็นการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ
ในขณะเดียวกันเมื่อนำมารวมกับระบบการขับขี่รถที่ผู้ขับรถจะต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการเข้าไปเช็คในระบบการคมนาคมว่าตนได้ทำผิดกฎอะไรบ้าง โดยผู้ขับขี่ทุกคนจะสามารถเข้าไปเช็คในระบบตรวจสอบข้อมูลการทำผิดกฎจราจร
โดยกรอกข้อมูลที่ต้องการเช็ค เช่น อยู่ในเมืองปักกิ่ง ก็เลือกแล้วใส่รหัสเข้าไป ภายในไม่ถึงนาทีก็จะสามารถทราบได้ว่า เราไปทำอะไรเอาไว้ ซึ่งเช็คได้ทั้งจากหมายเลขทะเบียนรถ หมายเลขตัวถังรถ จะเช็คจากโทรศัพท์มือถือ หรือจากคอมพิวเตอร์ก็ได้ หรือสามารถโทรเช็คข้อมูลก็ได้ อีกทั้งกฎระเบียบการจราจรจีนก็ค่อนข้างทันสมัย บทลงโทษที่ชัดเจน เช่น ในหนึ่งปีผู้ขับขี่จะมีคะแนนคนละ 12 คะแนน อันนี้ไม่รวมถึงค่าปรับที่จะเข้ามาร่วมด้วย และการชำระเงินค่าปรับก็มีการทำฐานข้อมูลอย่างดี คือต้องไปชำระในระบบธนาคารเท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่ตำรวจจะมาคอรัปชั่นเก็บเงินจากผู้ขับขี่จึงไม่มี หรือทำไม่ได้อีกต่อไป
สำหรับการฝ่าฝืนกฎจราจรที่จะถูกหักแต้มขั้นสูงสุดก็คือ ขับรถหลังจากดื่มเหล้า จะถูกตัด 12 แต้มและถูกปรับขั้นสูงสุด นอกจากนี้ในบางกรณีอาจจะถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ รวมถึงต้องโทษจำคุกอีกด้วย หรือแม้แต่การฝ่าไฟแดง การฝ่าไฟเหลืองก็มีโทษทั้งตัดแต้ม ปรับเงิน และลงโทษอื่นๆ อีก เพื่อไม่ให้คนละเมิดกฎจราจร
ในขณะที่จีนกำลังก้าวเข้าสู่ระบบ 5 G อย่างเต็มรูปแบบไม่ใช่แบบบ้านเรา 4 Gแบบขาดๆ เกินๆ ดังนั้น ระบบทุกอย่างในจีนก็จะใช้ระบบสมาร์ทเข้ามาในทุกเรื่อง เช่น การใช้แอพจ่ายค่าทางด่วน ค่าจอดรถ โดยไม่ต้องพกบัตรหลายใบ ทุกอย่างจ่ายผ่านแอพ เวลาผ่านทางก็ขับผ่านไปได้อย่างสบาย ไม่ต้องมาหาเงินจ่าย รอเงินทอน เอาการ์ดออกมาโบกเพราะอ่านบัตรไม่พบ แม้แต่ซื้อตั๋วรถไฟก็เป็นระบบผ่านข้อมูลส่วนบุคคล เพียงแค่เอาบัตรประชาชนสแกนก็เรียบร้อย ทำให้การเดินทางสะดวก และรวดเร็วไม่ต้องมาคอยตรวจบัตร การจ่ายเงินก็ผูกกับระบบธนาคารออนไลน์หรือจ่ายผ่านแอพได้ อีกทั้งหากใครไม่ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี ก็จะถูกตัดแต้มพลเมืองด้วย
เรียกได้ว่าในอนาคตอันใกล้ จีนจะเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่มีระบบฐานข้อมูลเข้มข้น ซึ่งหลังจากดำเนินการใช้ทุกอย่างเป็นระบบออนไลน์ คนก็ไม่ต้องพกเงินสด ขโมยก็ลดลง พวกคนที่จะทำผิดกฎก็น้อยลงหรือไม่กล้าทำอีกต่อไป อาชญากรรมลดลง เพราะรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลคนได้ในทันที ทุกอย่างจะปรากฏข้อมูลเรียลไทม์ เรียกได้ว่า “จีนกำลังก้าวข้ามไปโลกอนาคตที่เป็นสมาร์ทเต็มรูปแบบ”
ประเทศไทยเรายังคงระบบแมนนวลหรืออัตโนมือ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แค่บัตรรถไฟฟ้าบีทีเอส บัตรรถใต้ดินยังต้องแยกกัน เวลาจะเข้าด่านทางด่วน ต้องเอาบัตรมาโบกนอกรถไปมา คนจีนมาเจอแบบบ้านเราคงงงว่าเรากำลังใช้ระบบอะไรกันแน่ ในด้านหนึ่งเราอาจจะรู้สึกดีปลอดภัยที่ว่าเราให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล แต่หากวิเคราะห์จริงๆ ในบางเรื่องก็เป็นจุดอ่อนในการก่ออาชญากรรมได้อย่างง่าย ๆ
คอลัมน์ : ฝ่ากำแพงเมืองจีน
โดย “อ.ผศ.ดร.ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี” คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
—————————————
ที่มา : เดลินิวส์ / 29 ธันวาคม 2562
Link : https://www.dailynews.co.th/article/749185