พลเอกกาเซ็ม สุไลมานี (Qasem Suleimani) ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ “คุดส์”ของอิหร่าน ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/
รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
จากการอนุมัติของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้กับการโจมตีด้วยเครื่องโดรนเพื่อสังหารพลเอกกาเซ็ม สุไลมานี (Qasem Suleimani) ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ “คุดส์” ของอิหร่าน ที่สนามบินแบกแดด อิรัก เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา กล่าวกันว่า เป็นปฏิบัติการที่อุกอาจที่สุดของสหรัฐฯ นับจากปฏิวัติของอิหร่านเมื่อปี 1979
พลเอกสุไลมานีถือเป็นบุคคลที่มีอำนาจอิทธิพลมากสุดอันดับสองของอิหร่าน และเป็นผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ที่เป็นกองกำลังพิเศษในต่างประเทศของกองกำลังพิทักษ์อิสลามของอิหร่าน สุไลมานีมีบทบาทสำคัญที่กำหนดความเป็นไปต่างๆที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เช่น สงครามการเมืองในซีเรีย และสร้างกองกำลังอาสาสมัครกลุ่มชีอะห์ในอิรัก เพื่อต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอซิส
พลเอกเดวิด เพทราอุส อดีตผู้อำนวยการ CIA และผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในอิรักปี 2007-2008 กล่าวว่า “หากจะเปรียบกับตำแหน่งในสหรัฐฯ กาเซ็ม สุไลมานีคือคนที่ดำรงตำแหน่ง ทั้งผู้อำนวยการ CIA ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ และทูตพิเศษของประธานาธิบดีต่อภูมิภาค”
รัฐบาลสหรัฐฯในสมัยจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และบารัค โอบามา ตัดสินใจไม่เล่นงานพลเอกสุไลมานี เนื่องจากเห็นว่า การสังหารนายพลที่มีอำนาจมากสุดของอิหร่าน ไม่เพียงแต่จะเสี่ยงทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไป แต่ยังจะทำให้พันธมิตรสหรัฐฯในยุโรปและตะวันออกกลาง ห่างเหินออกจากสหรัฐฯ และยังจะกัดกร่อนทำลายฐานะของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง ที่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯสูญเสียชีวิตทหารจำนวนมาก และงบประมาณมหาศาล
ความขัดแย้งที่เลี่ยงไม่พ้น
ที่มาภาพ : dailymail.co.uk
บทความของเว็บไซต์ spiegel.de กล่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์กล่าวย้ำมาตลอดว่า ไม่ต้องการทำสงครามกับอิหร่าน แต่การสังหารพลเอกสุไลมานี อาจทำให้ความขัดแย้งของ 2 ประเทศ กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น เป็นผลจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ใช้สัญชาตญาณของโดนัลด์ ทรัมป์
ในเรื่องต่างประเทศ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการทำทุกอย่างที่แตกต่างจากอดีต ใช้วิธีการทำข้อตกลงแทนการอาศัยพันธมิตร ใช้วิธีการการสร้างแรงกดดันแทนการใช้ยุทธศาสตร์ ทรัมป์ล้มเลิกธรรมเนียมเดิมในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ปฏิเสธบทบาทของผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือต่างๆของวิธีการทางการทูต เช่น การเจรจา การแลกเปลี่ยน และการชั่งน้ำหนักเรื่องผลประโยชน์ เป็นต้น
การสังหารพลเอกสุไลมานีเป็นตัวอย่างนโยบายที่ขาดเอกภาพหนึ่งเดียวของทรัมป์ การใช้วิธีการคุกคามและการโจมตีแบบไม่คาดหมาย ยิ่งทำให้สหรัฐฯจมปลักกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น หลังจากทรัมป์ให้สหรัฐฯถอนตัวจากความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และใช้วิธีการสร้างแรงกดดันมากที่สุดกับอิหร่าน ทำให้อิหร่านเปลี่ยนท่าทีจากเดิม โดยหันมาตอบโต้สหรัฐฯ
แต่การโจมตีตอบโต้กันและกันจะนำไปสู่หายนะภัย การสังหารพลเอกสุไลมานี ที่คนอิหร่านถือเป็นวีระบุรุษ ถือเป็นความต่อเนื่องของการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ประเทศ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้อิหร่านไม่อยู่ในฐานะที่จะวางตัวเฉยอีกต่อไป ทรัมป์เองบอกว่าไม่ต้องการสงคราม แต่สิ่งที่ทรัมป์ทำอยู่ คือการกระทำที่นำไปสู่จุดดังกล่าว ล่าสุด ทรัมป์ยังทวีตเตือนอิหร่านว่า หากคนอเมริกันหรือสถานที่ตั้งของสหรัฐฯถูกโจมตี สหรัฐฯเล็งเป้าหมายในอิหร่านไว้แล้ว 52 แห่ง
จะหลีกเลี่ยงสงครามอย่างไร
นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดความตึงเคลียดในอ่าวเปอร์เซีย เพราะโลกไม่อยู่ในสภาพที่จะมีสงครามครั้งใหม่อีกแล้วในตะวันออกกลาง แต่การสังหารพลเอกสุไลมานี ถือเป็นการตัดสินใจด้านต่างประเทศที่จะเกิดผลลัพธ์ต่อเนื่องมากที่สุดของทรัมป์ ผลลัพธ์นี้อาจปรากฏขึ้นภายในเวลาอีกไม่กี่วัน หรือในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
บทความของนิตยสาร Foreign Affairs ชื่อhttps://www.foreignaffairs.com/articles/iran/2020-01-04/how-avoid-another-war-middle-east กล่าวว่า การตอบโต้ของอิหร่านอาจมีหลายรูปแบบ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ การถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ และการโจมตีแหล่งน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น แต่ทรัมป์จะต้องตัดสินใจว่า ต้องการจะแก้ปัญหาวิกฤตินี้อย่างไร และดำเนินการที่จะออกห่างจากจุดนี้
ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/iran/2020-01-04/how-avoid-another-war-middle-east
เมื่อเหตุการณ์มาถึงจุดนี้แล้ว เป้าหมายของสหรัฐฯควรจะอยู่ที่การลดการขยายตัวของเหตุการณ์ และหลีกเลี่ยงสงครามที่จะเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง จากเป้าหมายดังกล่าว สหรัฐฯจะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจน เสมอต้นเสมอปลาย และไม่ยั่วยุ สหรัฐฯต้องประสานร่วมมือกับพันธมิตร และพยายามเปิดช่องทางการติดต่อทางการทูตกับอิหร่าน ผ่านประเทศที่สาม สิ่งที่แตกต่างไปจากนี้ จะทำให้เกิดความเสี่ยง ที่สหรัฐฯถลำลึกเข้าสู่ความขัดแย้งที่มีต้นทุนสูงครั้งใหม่
ในระยะเฉพาะหน้า ท่าทีสหรัฐฯที่จะตอบโต้อิหร่าน จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เช่น สหรัฐฯจะใช้การโจมตีแบบตาต่อตาฟันต่อฟันหรือไม่ สิ่งนี้จะนำไปสู่การขยายตัวของความขัดแย้งหรือไม่ หากสหรัฐฯต้องเพิ่มกำลังทหารมากขึ้นในภูมิภาค มาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดการพร่ามัวของเส้นแบ่ง ระหว่างการยับยั้งความขัดแย้ง หรือว่าเป็นการขยายตัวของความขัดแย้ง และอิหร่านอาจตีความผิดพลาดในประเด็นเรื่องนี้
บทความของ Foreign Affairs กล่าวว่า ในแต่ละจุดของการตัดสินใจ ทรัมป์ล้วนเผชิญกับทางเลือกแบบไม่พึงประสงค์ ทรัมป์เป็นฝ่ายทำให้ตัวเองไม่มีช่องทางติดต่อทางการทูตกับอิหร่าน ชุมชนนานาชาติก็มีความเห็นที่แตกแยก และรัฐสภาสหรัฐฯก็ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว การตอบโต้แบบสมน้ำสมเนื้อแต่ไม่รุนแรงมาก เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะจะถูกอีกฝ่ายนำไปตีความในทางที่ผิดพลาดได้ เช่นการตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อกรณีการปิดล้อมสถานทูตสหรัฐฯในกรุงแบกแดด ที่อิหร่านหนุนหลัง
การลดความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย ก็เป็นเรื่องยากลำบาก เมื่อพิจารณาจากการโฆษณาโจมตีกันและกัน รวมทั้งในสมัยของทรัมป์ ก็ไม่มีช่องทางติดต่อทางการทูตกับอิหร่าน เหมือนกับสมัยรัฐบาลสหรัฐฯก่อนหน้านี้ ดังนั้น การขยายตัวของความขัดแย้ง จึงหมายถึงสงครามแบบแผน ที่แผ่กว้างออกไป
เนื่องจากทรัมป์ขาดความคิดแบบยึดนโยบายที่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียวในด้านต่างประเทศ และตัวทรัมป์เองก็ต่อต้านการวางแผน ที่มีระยะเวลายาวนานกว่าการส่งทวีตเตอร์ครั้งต่อไปของทรัมป์ การนำสหรัฐฯออกจากเขาวงกต จึงต้องเป็นหน้าที่ของนักการทูตสหรัฐฯ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ทรัมป์ต้องการเป็นอย่างมากในเรื่องทางเลือกต่างๆในเชิงนโยบาย และแผนดำเนินงาน ที่จะมาจากหน่วยงานความมั่นคงและต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ก็ถูกทรัมป์โจมตีมาตลอด
ที่มาภาพ : northcoastjournal.com
ทรัมป์ไม่ชอบทำงานร่วมกับประเทศอื่น แต่ในเหตุการณ์ความขัดแย้งกับอิหร่าน ทรัมป์หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทรัมป์ต้องการความร่วมมือจากพันธมิตร รวมทั้งรัสเซียกับจีน ที่จะผลักดันให้สหประชาชาติมีมติออกมาใหม่ หากอิหร่านฟื้นโครงการนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ แต่ปัจจุบัน ไม่มีกลุ่มประเทศไหนที่เต็มใจจะลงโทษอิหร่าน และนโยบายของสหรัฐฯที่ใช้แรงกดดันสูงสุด ก็ไม่บรรลุเป้าหมาย
บทความของ Foreign Affairs กล่าวว่า วิกฤติการณ์กับอิหร่านครั้งนี้ สามารถทำให้ทรัมป์เปลี่ยนจากประธานาธิบดีที่ต่อต้านสงคราม กลายมาเป็นประธานาธิบดีที่ทำสงคราม ทรัมป์ควรจะหาทางคุยกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช เพื่อหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับมรดกผลงานตัวเอง เมื่อถลำลึกเข้าสู่สงครามที่ไม่มีความจำเป็น และหาทางพูดคุยกับบารัค โอบามา ถึงหนทางที่ประเทศจะถอนตัวออกจากสงคราม
————————————————————–
ที่มา : Thaipublica / 5 มกราคม 2563
Link : https://thaipublica.org/2020/01/pridi174/