(ซ้าย) ริชาร์ด นิกสัน (ขวา) มาร์ก เฟลต์ ฉากหลังเป็นภาพการจัดแสดงหลักฐานจากวาระครบ 30 ปี การงัดสำนักงานพรรคเดโมแครต ที่วอเตอร์เกต (ภาพจาก PAUL J. RICHARDS / AFP)
คดีวอเตอร์เกต (Watergate) อันลือลั่นซึ่งว่าด้วยการแฉข้อมูลทางการเมือง แม้จะล่วงเลยมาหลายสิบปีแล้ว จนถึงปัจจุบัน คดีนี้ยังอยู่ในความทรงจำในฐานะเรื่องอื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา หรืออาจเป็นประวัติศาสตร์โลก
คดีวอเตอร์เกต
การแฉข้อมูลเบื้องลึกว่าด้วยการดำเนินการของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน และผู้ใกล้ชิดซึ่งกระทำการโดยผิดกฎหมายเพื่อให้มีชัยเหนือคู่แข่งทางการเมือง และชนะการเลือกตั้ง แต่จุดที่ทำให้ถูกเปิดโปง คือกรณีที่ทีมงานเข้าไปติดตั้งเครื่องดักฟังในศูนย์รณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครต และถูกตำรวจจับได้ ขณะที่สื่อสารมวลชนที่รายงานเบื้องหลังของการงัดแงะครั้งนั้นอย่างต่อเนื่อง จนข้อมูลเบื้องลึกถูกเปิดโปงใหญ่โต จากคดีงัดแงะเล็กน้อยกลายเป็นคดีอื้อฉาวระดับประเทศอันเป็นผลทำให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และน้ำตาตกต่อหน้าการแถลงข่าว สื่อมวลชนกลุ่มที่ปฏิบัติการนี้เองมีแหล่งข่าวปริศนารายสำคัญซึ่งสาธารณชนรู้จักในนามแฝงว่า “ดีพโธรต” (Deep Throat) แล้วเขาคือใคร?
หากเอ่ยถึงในข้อเท็จจริงโดยรวมแล้ว คดีวอเตอร์เกทในช่วงต้นยุค 70s มีตัวละครสำคัญที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อคดีคือบทบาทสื่อมวลชนทั้งของวอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) และนิวยอร์ก ไทม์ส (The New York Times) โดยเฉพาะบทบาทการทำข่าวสืบสวนสอบสวนโดยบ๊อบ วูดวาร์ด (Bob Woodward) และคาร์ล เบิร์นสไตน์ (Carl Bernstein) ของวอชิงตัน โพสต์ ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือและภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันว่า “All the President’s Men” แต่การทำงานของสื่อจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ข้อมูล” และ “แหล่งข่าว”
แหล่งข่าวรายสำคัญของคดีนี้ในห้วงเวลาเกิดเหตุคือ “บุคคลนิรนาม” ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลว่า การย่องเบาที่เกิดในสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครตที่ตึกวอเตอร์เกตไม่ใช่แค่การงัดแงะเล็กน้อย แต่เบื้องลึกเบื้องหลังจริงๆ แล้วเป็นกลุ่มคนจากฝ่ายพรรครีพับลิกันที่ดำเนินการ “ชกใต้เข็มขัด” ใช้วิธีนอกกฎหมายเพื่อเอาชนะคู่แข่งทางการเมือง และบุคคลนิรนามรายนี้ก็เป็นแหล่งข่าวสำคัญของบ๊อบ วูดเวิร์ด และคาร์ล เบิร์นไสตน์ นักข่าววอชิงตัน โพสต์ ในช่วงทำงานเกี่ยวกับคดีวอเตอร์เกต
คดีงัดห้องในอาคารวอเตอร์เกต และวอชิงตัน โพสต์
จุดเกิดเหตุแรกเริ่มเกิดขึ้นเมื่อชาย 5 รายพร้อมกล้อง ม้วนฟิล์ม อุปกรณ์ดักฟัง และเครื่องรับสัญญาณที่ดักฟังการสื่อสารของตำรวจได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1972 ที่อาคารวอเตอร์เกต ภายหลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพบเห็นเศษเทปติดที่ประตูห้องในอาคารหลายจุดตั้งแต่โรงจอดรถใต้ดินจนถึงประตูหลายจุดในออฟฟิศ เทปทำให้ประตูปิดแต่อยู่ในสภาพไม่ได้ล็อกไว้ เขาไม่ได้คิดอะไรมาก และดึงเทปออก แต่เมื่อกลับมาอีกครั้งก็พบว่ามีคนติดเทปใหม่อีกจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่จนนำมาสู่การจับกุมชายฉกรรจ์ 5 ราย
กลุ่มผู้ต้องหาพยายามปกปิดตัวตนด้วยชื่อปลอม แต่การสืบสวนสอบสวนทำให้พบว่า หนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหาคือเจมส์ แม็กคอร์ต (James McCord) หัวหน้ารักษาความปลอดภัยของคณะกรรมาธิการจัดการเลือกตั้งของพรรครีพับลิกันที่นิกสัน สังกัดอยู่ และเคยเป็นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ที่เหลืออีก 4 รายคือชาวคิวบาที่อพยพเข้ามาอาศัยในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบว่า สมุดที่ยึดได้จากผู้ต้องหาปรากฏเบอร์โทรศัพท์ของอี โฮเวิร์ด ฮันท์ (E. Howard Hunt) ที่ปรึกษาทำเนียบขาวและอดีตซีไอเอ ภายหลังพบว่า ฮันท์ คือผู้ที่หาเครื่องมือสำหรับใช้ในการจารกรรม บุคคลที่ถูกจับเพิ่มเติมในภายหลังคือ จี กอร์ดอน ลิดดี้ (G. Gordon Liddy) ซึ่งเป็น “สายตรง” ของนิกสัน มีหน้าที่สืบหาความลับของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ฉากหน้าของลิดดี้ คือที่ปรึกษากฎหมายของแผนกการเงินคณะกรรมาธิการจัดการเลือกตั้ง และแผนการจารกรรมนี้ก็วางแผนโดยลิดดี้
วอชิงตัน โพสต์ รายงานคดีนี้ แต่ช่วงเริ่มต้นยังไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะมากนักเนื่องจากคิดว่าเป็นกลเกมทางการเมืองทั่วไป แต่นักข่าวทั้งสองรายนี้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามข่าวจารกรรมตั้งแต่เริ่มต้นยังพยายามขุดคุ้ยและรายงานข่าวขยายสืบเนื่องต่อจากการจารกรรมนี้อย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปี ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 1973 วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนการรณรงค์หาเสียงของนิกสัน มีวุฒิสมาชิกแซม เออร์วิน เป็นประธาน หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ความลับก็เริ่มเปิดเผยออกมา
ในหนังสือ All the President’s Men วูดวาร์ด และเบิร์นสไตน์ นักข่าวของวอชิงตัน โพสต์ ระบุว่า ข้อมูลสำคัญทั้งหลายในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนนี้มาจากบุคคลนิรนาม และพวกเขาใช้ชื่อเรียกว่า “ดีพโธรต” (Deep Throat)
การจัดแสดงหลักฐานกรณีงัดสำนักงานพรรคเดโมแครต ที่วอเตอร์เกต ในวาระครบ 30 ปี เมื่อ 13 มิ.ย. 2002 (ภาพจาก AUL J. RICHARDS / AFP)
“ดีพโธรต” (Deep Throat)
การประสานงานระหว่าง “ดีพโธรต” กับนักข่าวจากวอชิงตัน โพสต์ วูดวาร์ด อ้างว่า เมื่อเขาอยากพบกับแหล่งข่าวรายนี้ เขาจะเลื่อนกระถางดอกไม้ที่ปักธงสีแดงเอาไว้ไปวางบนระเบียงของอพาร์ตเมนต์ที่เขาพัก
ก่อนหน้าการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของแหล่งข่าวลึกลับ จอห์น ดีน อดีตผู้ช่วยของนิกสัน เคยเขียนหนังสือเรื่อง “ถอดหน้ากากดีพโธรต” ตั้งข้อสันนิษฐานเรื่องตัวตนของ “ดีพโธรต” รายชื่อที่เป็นผู้ต้องสงสัย 5 ราย ไม่มีชื่อของมาร์ก เฟลต์ อยู่เลย นอกเหนือจากดีน ยังมีจอห์น เซียร์ส ผู้เคยทำงานใกล้ชิดนิกสัน อีกรายที่เขียนหนังสือเหมือนกันคือ เลียวนาร์ด การ์เมนต์ เขาคิดว่า “ดีพโธรต” คือ จอห์น เซียร์ส (John Sears) ที่ปรึกษาพิเศษฝ่ายกิจการภายในของริชาร์ด นิกสัน และเคยเป็นทีมหาเสียงให้นิกสัน
ก่อนหน้าการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ชาวอเมริกัน (และอาจเป็นคนทั่วโลก) มีผู้รู้ตัวตนที่แท้จริงของ “ดีพโธรต” 4 ราย คือ บ๊อบ วูดวาร์ด, คาร์ล เบิร์นสไตน์, แบน แบรดลีย์ อดีตบรรณาธิการบริหารของวอชิงตันโพสต์ และคนสุดท้ายตัวเจ้าตัว “ดีพโธรต” เอง มีรายงานว่า วูดวาร์ด เคยสัญญาจะไม่เปิดเผยตัวตนของดีพโธรต จนกว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว
ตัวตนของดีพโธรต ถูกปกปิดมายาวนาน 3 ทศวรรษ กระทั่งเมื่อปี 2005 หรือ 31 ปีหลังจากนิกสัน ลาออกจากตำแหน่ง และ 11 ปีหลังจากนิกสัน เสียชีวิตแล้ว ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของครอบครัว และลูกสาวของ “ดีพโธรต” จึงออกมาเปิดเผยกับสาธารณะว่า แหล่งข่าวรายนี้คือ “มาร์ก เฟลต์” (Mark Felt) อดีตรองผู้อำนวยการเอฟบีไอ
เมื่อเป็นครอบครัวของดีพโธรต เปิดเผยตัวเองอย่างสมัครใจ นักข่าวของวอชิงตัน โพสต์ ก็คงไม่ต้องปิดบังความลับไว้อีก วันที่ 1 มิถุนายน วอชิงตัน โพสต์ จึงยอมรับว่า มาร์ก เฟลต์ คือ “ดีพโธรต” ซึ่งปิดเป็นความลับมากว่า 3 ทศวรรษ
ข้าราชการสองหน้า
นงนุช สิงหเดช คอลัมนิสต์ชื่อดังอธิบายในบทความ “สองหน้า 2 ชีวิต ของดีพโธรต นิ่ง-แนบเนียน โค่น นิกสัน” ว่า เหตุผลการเปิดเผยครั้งนี้ ลูกสาวของเฟลต์ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร “วานิตี้ แฟร์” (Vanity Fair) มี 2 ประการ คือ เชื่อว่าการกระทำของเฟลต์ เป็นเรื่องที่ชาวอเมริกันควรได้รับรู้ เพราะมองว่า การกระทำแบบนี้คือฮีโร่ และเหตุผลต่อมาคือ เงิน เธอมองว่าเรื่องราวของดีพโธรต จะทำให้ครอบครัวมีรายได้ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จะช่วยจุนเจือครอบครัวซึ่งมีค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเฟลต์ รายงานข่าวเผยว่า ช่วงเวลานั้นดีพโธรต ในวัย 91 ปี มีปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องความจำเสื่อม แม้ว่าตัวเขาเองไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน แต่เมื่อครอบครัวเห็นว่าจำเป็น เรื่องจึงลงเอยด้วยการเปิดเผยข้อมูลสู่สายตาคนทั่วโลก
ปลายเดือนมิถุนายน วอชิงตัน โพสต์ เผยแพร่รายงานความยาว 9 หน้า ใช้ชื่อหัวข้อว่า “วอเตอร์เกตและ 2 ชีวิต ของมาร์ก เฟลต์” บอกเล่าเรื่องการทำงาน 2 หน้าของเฟลต์ ตามความคิดเห็นของนงนุช แล้ว เชื่อว่า ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในการ “เล่นเกม” กับผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศในเวลานั้น
รายงานเล่าเนื้อหาที่น่าสนใจทีเดียว เพราะช่วงที่นิกสัน โดนกรณีวอเตอร์เกต เล่นงานเข้าไปจนถึงช่วงพีคที่ทั้งประเทศจับตาจ้องมาที่เขา นิกสัน ย่อมโกรธเกรี้ยวและพยายามหาตัวผู้นำความลับนี้ไปมอบให้สื่อ เป้าหมายหนึ่งที่นิกสัน มุ่งเป้าไปคือเอฟบีไอ แน่นอนว่าเบอร์สองของเอฟบีไออย่างเฟลต์ ในเวลานั้นก็ตกเป็นเป้าด้วย นิกสัน ให้คนใกล้ชิดไปถามข้อเท็จจริงต่อหน้าเฟลต์ ว่าเขาคือมือมืดตัวแสบสำหรับนิกสันหรือไม่
ในสถานการณ์ที่มีคนถามคำถามซึ่งชี้เป็นชี้ตายขนาดนี้ คนทั่วไปอาจเผยพิรุธแบบไม่รู้ตัวแล้ว แต่สำหรับอดีตสายลับที่ช่ำชองจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เฟลต์ สงบนิ่งและมีวิธีเล่นเกม
เฟลต์ ตีสองหน้าด้วยการออกมาประณามรายงานเกี่ยวกับวอเตอร์เกต ของวอชิงตัน โพสต์ ว่าเป็นนิยายที่มีความจริงครึ่งเดียวเท่านั้น และยังสั่งให้สอบสวนหาผู้ปล่อยข้อมูลให้สื่อเสียเองอีก และยังเปรยด้วยตัวเองว่า สงสัยในตัวคนจากเอฟบีไอหรือไม่ก็คนในกระทรวงยุติธรรม อ่านถึงตรงนี้อาจเข้าใจทันทีว่า ที่เฟลต์ ทำแบบนี้ก็เพื่อหันเหความสนใจเบนเป้าไปยังคนอื่นที่ไม่ใช่เขา
เรียกได้ว่า เวลางานยามกลางวัน เขาออกคำสั่งสอบสวน เป็นข้าราชการที่ทรงประสิทธิภาพ แต่ในยามค่ำคืน เวลาตี 2 แทบทุกคืน ตลอด 6 เดือนในช่วงเวลาที่ข่าวโหมแรง เฟลต์ ลอบไปพบกับวูดวาร์ด ในลานจอดรถใต้ดินใกล้กับสะพานคีย์ บริดจ์ ในวอชิงตัน ดีซี เอาข้อมูลไปมอบให้นักข่าววอชิงตัน โพสต์
เฟลต์ เล่นเกมที่เสี่ยงต่อชีวิตและอาชีพการงานของเขาอย่างมาก แต่นงนุช เล่าว่า หลังจากวอชิงตัน โพสต์ ปูดข่าวได้ 5 เดือน ในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1972 ฮอลเดแมน ผู้ช่วยของนิกสัน เคยนัดพบกับปธน. แบบลับๆ และรายงานว่า เขาเชื่อว่า เฟลต์ คือผู้ปูดเรื่องให้สื่อ ฮอลเดแมน เชื่อว่า แรงจูงใจของเฟลต์ เป็นเพราะเขาอยากเป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอ จึงอยากให้คนของพรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดี
ในเรื่องนี้ นายแพทริก เกรย์ รักษาการผู้อำนวยการเอฟบีไอ (นิกสัน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนเอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ที่เสียชีวิตลง) เกรย์ ไม่ค่อยเชื่อนักว่าเฟลต์ ที่มีท่าทางซื่อสัตย์ ทำงานดีผู้นี้จะเป็นผู้ทรยศ จึงไม่ได้ดำเนินการกับเฟลต์ ตามคำสั่งของทำเนียบขาว นิกสัน บีบให้เกรย์ นำตัวเฟลต์ เข้าเครื่องจับเท็จ นงนุช เล่าว่า ช่วงมกราคม ค.ศ. 1973 เกรย์ ยังถามเฟลต์ ตรงๆ ว่าเขาคือผู้มอบข้อมูลหรือไม่ เฟลต์ ยังตอบหน้าตาเฉยว่า ไม่ได้นำข้อมูลไปให้ใคร
ประกอบกับเกรย์ ที่ช่วงเวลานั้นกำลังรอวุฒิสภาพิจารณารับรองให้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอแบบเต็มตัว ก็น่าจะเกรงว่า เฟลต์ จะนำความลับทั้งหมดไปเผยแพร่ จึงทำให้เกรย์ ไม่กล้าบีบเฟลต์ แบบเต็มขั้น
แน่นอนว่า ความล้มเหลวในการหยุดยั้งตัวผู้ปูดข้อมูลนำมาสู่แรงกดดันที่ทำให้นิกสัน ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 สิงหาคม 1974 (ก่อนเข้ากระบวนการพิจารณาถอดถอนตำแหน่งโดยรัฐสภา) และยังปรากฏภาพแถลงพร้อมน้ำตา ยอมรับว่าใช้วิจารณญาณผิดไปในบางเรื่อง และเอ่ยถึงเหตุผลในการกระทำว่า เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด และให้เหตุผลเรื่องลาออกเพราะ “ขาดฐานทางการเมืองในรัฐสภา” ผลจากคดีของวอเตอร์เกต ยังทำให้การใช้อำนาจของเอฟบีไอและซีไอเอถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ และมีการชำระล้างครั้งใหญ่
เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกแปรรูปเป็นทั้งหนังสือ และภาพยนตร์ออกมาตามลำดับ
ฮีโร่ หรือขายชาติ?
สำหรับการกระทำของดีพโธรต อาจเป็นภาพตัวอย่างข้อถกเถียงคลาสสิกว่า แท้จริงแล้ว เขาคือ “ข้าราชการผู้ทรยศ” ละเมิดระเบียบราชการนำความลับไปบอกสื่อมวลชน หรือเป็น “ฮีโร่” ผู้ปกป้องผลประโยชน์ของ “ประเทศชาติ” กันแน่ ที่สำคัญคือ คำถามเรื่องแรงจูงใจในการกระทำการเช่นนี้
นงนุช สิงหเดชะ บรรยายว่า ข้อวิเคราะห์เรื่องแรงจูงใจของเฟลต์ แตกต่างกันหลากหลาย อาทิ ความผิดหวังที่เขาไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอ ภายหลังฮูเวอร์ เสียชีวิตลง เฟลต์ อาจผิดหวังและไม่พอใจที่เกรย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผอ. ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์งานด้านการบังคับใช้กฎหมาย แทนที่จะเป็นเฟลต์ ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนาน และอาจเกี่ยวข้องกับความไม่พอใจสไตล์การทำงานของเกรย์
หรือข้อสันนิษฐานเรื่องเฟลต์ ต้องการรักษาหน่วยงานที่ทำงานให้เป็นอิสระปลอดจากการใช้อำนาจของนักการเมือง อย่างไรก็ตาม นงนุช วิเคราะห์สรุปสาเหตุลงท้ายไว้ว่า
“แท้จริงแล้วหากพิเคราะห์ลึกๆ ทั้งสองเหตุผลเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก เพราะเฟลต์นั้น ชื่นชมบูชานายเก่าคือฮูเวอร์อย่างมาก ที่มีวัตรปฏิบัติที่ควรเอาแบบอย่าง แต่เมื่อนิกสันแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาอยู่ในเอฟบีไอและยังมีพฤติกรรมที่ชั่วร้าย จึงกลายเป็นมูลเหตุที่ทำให้เฟลต์กลายเป็น’ดีพโธรต’”
เกร็ดเกี่ยวกับการบรรยากาศในสหรัฐอเมริกา เมื่อวอชิงตัน โพสต์ รายงานตีแผ่กรณีวอเตอร์เกตนี้ นงนุช บันทึกไว้ว่า หนังสือพิมพ์เก่าแก่ฉบับนี้เผชิญการคุกคามหลายด้าน ทั้งจากรัฐบาลที่ดิสเครดิต และข่มขู่เล่นงาน “ทางเศรษฐกิจ” โดยนิกสัน ใช้นักธุรกิจซึ่งเป็นคนใกล้ตัว ระดมทุนเข้าซื้อหุ้นหวังเทกโอเวอร์สื่อเก่าแก่ฉบับนี้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของ “แคเธอรีน เกรแฮม” ผู้บริหารหญิงเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่สั่งเดินหน้าเต็มที่ สื่อรายนี้ได้รับผลลัพธ์คุ้มค่ากับช่วงเวลายากลำบากหลังตัดสินใจเดินเครื่องเต็มกำลัง
ขณะที่สาวกฝั่งรีพับลิกันก็เขียนจดหมายด่าวอชิงตันโพสต์ โดยใช้คำนิยามสื่อฉบับนี้ว่า “ขายชาติ”
เฟลต์ เสียชีวิตเมื่อปี 2008 ในวัย 95 ปี ขณะที่นิกสัน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษ และเสียชีวิตเมื่อปี 1994 รวมอายุ 81 ปี นิกสัน เสียชีวิตก่อนเฟลต์ มิเช่นนั้นอาจได้เห็นปฏิกิริยาและการเผชิญหน้ากันหลังจากครอบครัวเฟลต์ ออกมาเปิดเผยตัวตนดีพโธรต ด้วยตัวเอง ขณะที่บทบาทของเฟลต์ ปรากฏในสื่อบันเทิงหลายชิ้น ทั้งเรื่อง All the President’s Men (1976) หรือภาพยนตร์ Mark Felt: The Man Who Brought Down the White House (2017) ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเฟลต์ โดยตรง บทเฟลต์ แสดงนำโดยเลียม นีสัน (Liam Neeson)
นอกเหนือจากคดีวอเตอร์เกต มาร์ก เฟลต์ มีชื่อเป็นผู้ควบคุมดูแลปฏิบัติการ COINTELPRO ในช่วงต้นยุค 70s ซึ่งริเริ่มโดยฮูเวอร์ ปฏิบัติิการนีี้ว่าด้วยการแทรกซึมและขัดขวางขบวนการที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิพลเมือง, กลุ่มต่อต้านสงคราม และกลุ่มฝ่ายซ้ายใหม่ เฟลต์ และเอ็ดเวิร์ด มิลเลอร์ อนุมัติให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอบุกเข้าไปค้นบ้านพักโดยไม่มีหมายค้นระหว่างการสืบสวนกลุ่ม The Weather Underground ฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดหลายจุด ในช่วงกระบวนการสอบสวนเฟลต์ และผู้เกี่ยวข้อง เมื่อปี 1980 ช่วงเวลานั้นนิกสัน ที่ออกจากตำแหน่งไปแล้วยังขึ้นให้การในฐานะพยานโต้แย้งให้ฝ่ายจำเลยด้วย
——————————————————–
ที่มา : นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่ออนไลน์เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2563
Link : https://www.silpa-mag.com/history/article_46007