ประเทศไต้หวันก็มีปัญหาจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เช่นกัน จากการที่มีคนมองว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามใช้ปฏิบัติการสื่อแทรกซึมและชักนำให้มีการสนับสนุนจีนและการรวมประเทศ แม้มีกฎหมายต่อต้านการแทรกซึมเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศภายนอกใช้ข้อมูลเท็จส่งอิทธิพลต่อการเมืองในไต้หวัน แต่ก็มีข้อถกเถียงว่ากฎหมายนี้จะกลายเป็นลิดรอน “เสรีภาพสื่อ” หรือไม่
26 ก.พ. 2563 ช่วงปลายปีที่แล้วไต้หวันผ่านร่างกฎหมายใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ข้อมูลเท็จแทรกแซงการเมืองในไต้หวันที่เรียกว่า “กฎหมายต่อต้านการแทรกซึม” กฎหมายนี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามจำกัดการใช้อิทธิพลของจีนต่อไต้หวัน
มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว สื่อสนับสนุนจีนที่ชื่อ “มาสเตอร์เชน” ประกาศว่าจะออกจากกตลาดไต้หวัน แม้มีคนแสดงความกังวลว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะนำมาอ้างใช้ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่ก็มีคนตีความว่าการที่สื่อสนับสนุนจีนอย่างมาสเตอร์เชนประกาศลาแสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งเล่นงานอิทธิพลต่อสื่อของค่ายจีนแผ่นดินใหญ่
ในช่วงที่มีการอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ พรรคพลังใหม่ พรรคสายสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นอิสระจากจีนเสนอให้มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในหลายส่วนให้เน้นเป้าหมายไปที่ “สื่อสนับสนุนจีน”
หนึ่งในข้อเสนอคือการห้ามไม่ให้ใครก็ตามดำเนินการโดยได้รับคำสั่ง ถูกควบคุม หรือได้รับเงินสนับสนุนจากจีน รวมถึงไม่โฆษณาสร้างภาพลักษณ์ให้กับจีน แต่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันปฏิเสธที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยต้องการให้กฎหมายยังคงมีภาษากว้างๆ ที่พูดเรื่องการป้องกันการแทรกแซงรวมถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งในประเทศด้วย สภากิจการจีนแผ่นดินใหญ่เสนอว่าควรจะมีการหารือเรื่องการแทรกซึมจากสื่อของจีนแผ่นดินใหญ่ในกฎหมายเกี่ยวกับการแพร่ภาพกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์
ในบริบทของไต้หวัน ความกังวลที่มีคือการที่จีนพยายามแทรกซึมการเมืองไต้หวันผ่านภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร ศาสนา และสื่อ เพื่อต่อต้านความเป็นอิสระของไต้หวัน หนึ่งในนั้นคือสื่อมาสเตอร์เชนที่มีผู้ก่อตั้งคือจวงลี่ปิง คนเดียวกับที่เคยเขียนหนังสือสนับสนุนแนวคิดจีนเดียว หรือที่เรียกว่า “ฉันทามติ 1992” ซึ่งหมายถึงการรวมเอาไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องที่จีนใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารว่า สื่อสนับสนุนจีนมีการจ้างอดีตเจ้าหน้าที่รัฐของไต้หวันเพื่อให้เป็นเครือข่ายข้อมูลข่าวสารข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมีสื่อบางแห่งที่สนับสนุนจีนแบบเนียนๆ เช่น วอนต์ วอนต์ มีเดียกรุ๊ป ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน พวกเขาไม่ทำข่าวในแบบที่แสดงให้เห็นว่าสนับสนุนจีนโดยตรงแต่พยายามสร้างเรื่องเล่า (narrative) ว่ากฎหมายต่อต้านการแทรกซึมจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ โดยต้องการให้เกิดความคิดเห็นต่อต้านจากประชาชนและส่งแรงผลักดันให้เกิดการสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่มีท่าทีต้องการใกล้ชิดกับจีนมากกว่า ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งก่อนหน้านี้
ความกังวลแบบนี้ยังเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในกลางปีที่แล้ว (2562) ที่ทางการจีนเชิญให้สื่อไต้หวันเข้าร่วมประชุมสื่อข้ามอ่าวกับจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการที่จีนพยายามเสริมความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนการส่งอิทธิพลต่อไต้หวัน หลังจากนั้นในเดือนถัดมาก็มีการเดินขบวนประท้วงในไต้หวันเรียกร้องให้มีการต่อต้านสื่อจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อคุ้มครองประชาธิปไตยในไต้หวัน รวมถึงมีนักการเมืองขอให้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเรื่องกฎหมายป้องกันการแทรกซึม
รายงานของโกลบอลวอยซ์ก็ตั้งข้อสังเกตว่าการต่อต้านการแทรกซึมด้วยกฎหมายอาจจะไม่ได้ผลขนาดนั้น เพราะไต้หวันกับจีนก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและจีนก็มีผลประโยชน์ทางธุรกิจกับไต้หวันอยู่ นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตยังเป็นพื้นที่ๆ กำกับดูแลได้ยาก นอกจากนั้น จีนอาจจะได้ช่องทางสิงคโปร์และมาเลเซียในการส่งอิทธิพลทางความคิดต่อประเด็นในไต้หวันโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในไต้หวันเลยก็ได้
—————————————–
ที่มา : ประชาไท / 26 กุมภาพัน 2563
Link : https://prachatai.com/journal/2020/02/86533