กรณีเอกสารลับขององค์กรอิสระถูกนำไปเปิดเผยสาธารณะ
ด้วยเหตุที่ต้องดูแล คุ้มครอง และป้องกันข้อมูลข่าวสารในครอบครองของทางราชการโดยเฉพาะที่กำหนดชั้นความลับหรือสำคัญ ให้มีความปลอดภัย ไม่รั่วไหลไปสู่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่หรือถูกนำออกไปเปิดเผยสาธารณะก่อนเวลาอันสมควร ทางราชการจึงกำหนดระเบียบสำหรับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐอื่นให้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติหรือนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ จึงมีการกำหนดระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ซึ่งประกาศใช้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติขึ้น แต่ด้วยความหลากหลายของหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามสภาพการปรับเปลี่ยนในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ส่งผลให้ระเบียบราชการตามกล่าวข้างต้น ซึ่งได้ประกาศใช้มาก่อนนั้น ไม่ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นใหม่และเกิดความไม่ชัดเจนในการถือปฏิบัติตามระเบียบนั้นๆ อย่างเช่น หน่วยงานของรัฐตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ไม่ได้ระบุถึงองค์กรอิสระที่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เป็นต้น เมื่อนำกรณีสำนวนสืบสวนการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ถูกนำไปเปิดเผยต่อสาธารณะ และเป็นเอกสารกำหนดชั้นความลับของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงเป็นที่สังเกตเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่อเอกสารในครอบครองของสำนักงาน กกต. เนื่องจาก สำนักงาน กกต. มีหน้าที่รับผิดชอบ ครอบครองและดูแลรักษาเอกสารที่มีความสำคัญหลายประเภทและมีจำนวนมาก แต่ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบ ข้อกำหนด หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับความลับของทางราชการที่แสดงไว้ใน www.ect.go.th/ect_th/ ซึ่งเป็นเพจเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ สำนักงาน กกต. พบระเบียบภายในเกี่ยวกับการจัดการเอกสารเพียงระเบียบเดียว คือ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเก็บรักษาและการทําลายเอกสาร พ.ศ.2552 โดยตามเนื้อหาของระเบียบ กกต. นั้น พิจารณาได้ว่า เป็นการจัดการด้านธุรการพื้นฐานและไม่ได้ระบุถึงการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ ระเบียบ กกต.…