ยุคสังคมออนไลน์ เพียงปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอก็สามารถส่งต่อข้อมูล ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว สำคัญสุดคือ หากไม่แน่ใจยิ่งไม่ควรแชร์ เพราะการแชร์ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไป อาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ หรือถึงขั้นสร้างความตื่นตระหนก วุ่นวาย และแตกแยกในสังคมก็เป็นได้
วันศุกร์ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิพากษาตัดสินคดียุบพรรคการเมือง ทันทีที่ผู้คนทราบคำพิพากษาของศาลฯ เราก็ได้เห็นข้อความต่างๆ ว่อนไปทั่วสังคมออนไลน์เต็มไปหมด ทั้งบนเฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม โดยมากเป็นข้อความสั้นๆ จับประเด็นต่างๆ มาสรุปตามความเห็นส่วนตัว บางคนก็บรรจงตัดต่อภาพแล้วก็ใส่ข้อความต่างๆ กันไป ผู้คนก็จะส่งต่อไปตามทัศนคติของตัวเอง
ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย หลายคนไม่ทราบว่า เขาฟ้องร้องด้วยข้อหาอะไร ผิดมาตราไหน ที่สำคัญสุดคนส่วนใหญ่ไม่ฟังคำพิพากษาของศาล หรือไม่เคยแม้แต่อ่านสรุปคำพิพากษาของศาลที่ออกมาเป็นทางการ แต่เลือกที่จะเชื่อข่าวสารที่แชร์มา ไม่แสวงหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง
จึงเห็นได้ว่า หลายคนเริ่มเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นเรื่องจริง เพราะอ่านข้อมูลเหล่านั้นแชร์ต่อๆ กันมาหลายครั้ง เหมือนที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ บอกไว้ว่า “หากท่านโกหกเรื่องใหญ่มากพอ, โกหกบ่อยครั้งเพียงพอ, เรื่องนั้นจะถูกเชื่อ”
เช่นกันในสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 เราได้พบทั้งข่าวจริงและข่าวลวง ที่มีตั้งแต่การเจอผู้ป่วยตามที่ต่างๆ บ้างก็ส่งข่าวให้กระทบกับห้าง ร้านค้า พนักงานบริษัท บ้างก็แชร์ข่าวเรื่องสุขภาพ วิธีการรักษา โดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีการอ้างอิงข้อมูล บางคนอาจแชร์ข่าวสารความหวังดี โดยไม่ทราบว่าข้อมูลที่ได้รับต่อมาไม่ถูกต้อง บางคนจงใจสร้างข้อมูลเท็จด้วยความคึกคะนอง ตัดต่อภาพ ตัดต่อข้อความทำให้ดูเหมือนจริง แล้วส่งต่อกันไป
ดังนั้น ยิ่งเทคโนโลยีเอไอก้าวหน้ามากขึ้นเพียงใด ผู้ที่เล่นสื่อออนไลน์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีวิจารณญาณการแยกแยะข้อมูลยิ่งขึ้น อย่าเพิ่งเชื่อเพราะแชร์กันมา มิฉะนั้น จะทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย และสุดท้ายอาจนำไปสู่ความเสียหายอย่างรุนแรงได้
ข้อมูลในโลกออนไลน์มีมหาศาล ทุกวันนี้เราสามารถค้นหาข้อมูลสารพัดอย่างได้จากกูเกิล เราได้รับข้อมูลที่หลั่งไหลมามากมายตลอดเวลา ผิดบ้างถูกบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคข้อมูลจำนวนมากยังขาดความตระหนัก คือ การกลั่นกรองในการพิจารณาข้อมูลที่ดีและถูกต้อง
ดังนั้นเรื่องต่างๆ ควรต้องมาจากหลักวิชาการจึงเป็นข้อมูลที่พอเชื่อถือได้ เช่น เรื่องกฎหมาย การเมืองควรมีความเข้าใจข้อกฎหมาย ศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ในอดีต เรื่องทางการแพทย์ควรต้องมีความรู้ด้านสาธารณสุข ข่าวสารที่ส่งต่อกันมาควรมีที่มาที่ไป ตรวจสอบแหล่งข่าวชัดเจน ไม่ใช่แค่เห็นข่าวก็แค่กด Click, Like และ Share ต่อกันไป จนอาจทำให้ข่าวลวงแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียอีก
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงหลักกาลามสูตรในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการว่า อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง อย่าเพิ่งเชื่อโดยการคิดคาดคะเนอนุมาน อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกตรองจากอาการที่ปรากฏ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าตรงกับความเห็นของตน อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้ อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
ซึ่งหลักนี้ตรงกับกฎทางวิทยาศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะไม่เชื่อถ้าเขายังไม่ได้ทดสอบ หรือพิจารณาเหตุผลให้ปรากฏก่อน เช่นกันถ้าเราได้รับข้อมูลในออนไลน์มา ก็ควรต้องตรวจสอบให้รอบคอบ สำคัญสุดถ้าไม่แน่ใจยิ่งไม่ควรแชร์ เพราะการแชร์ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไป นอกจากทำให้ตัวเองขาดความน่าเชื่อถือ บางครั้งอาจถึงขั้นสร้างความตื่นตระหนก สร้างความวุ่นวาย และความแตกแยกในสังคมก็เป็นได้
ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผู้คนสร้างเนื้อหาลวงได้โดยง่าย ทั้งตบแต่งภาพ ทำเอกสารเท็จ ยิ่งจำเป็นต้องระมัดระวัง โดยจำเป็นต้องค้นหาแหล่งที่มาให้ดียิ่งขึ้น ที่น่ากลัวสุด คือ เรากำลังเข้าสู่ยุคเอไอ ซึ่งมีเทคนิคที่สามารถสร้างวิดีโอ ภาพ หรือเสียงปลอมได้ กล่าวคือ สามารถใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Deep Fake สร้างวิดีโอเท็จที่เสมือนบุคคลนั้นแสดงจริงหรือสร้างเสียงเสมือนจริง จนเราแยกไม่ออกว่า อันไหนจริงอันไหนเท็จ
ดังนั้น ยิ่งเทคโนโลยีเอไอก้าวหน้ามากขึ้นเพียงใด ผู้ที่เล่นสื่อออนไลน์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีวิจารณญาณการแยกแยะข้อมูลยิ่งขึ้น อย่าเพิ่งเชื่อเพราะแชร์กันมา มิฉะนั้น จะทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย และสุดท้ายอาจนำไปสู่ความเสียหายอย่างรุนแรงได้
——————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 2 มีนาคม 2563
ลิงค์ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/868489