‘ข้อมูลในโลกออนไลน์’ อย่าเชื่อเพราะเพื่อนแชร์มา
ยุคสังคมออนไลน์ เพียงปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอก็สามารถส่งต่อข้อมูล ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว สำคัญสุดคือ หากไม่แน่ใจยิ่งไม่ควรแชร์ เพราะการแชร์ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไป อาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ หรือถึงขั้นสร้างความตื่นตระหนก วุ่นวาย และแตกแยกในสังคมก็เป็นได้ วันศุกร์ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิพากษาตัดสินคดียุบพรรคการเมือง ทันทีที่ผู้คนทราบคำพิพากษาของศาลฯ เราก็ได้เห็นข้อความต่างๆ ว่อนไปทั่วสังคมออนไลน์เต็มไปหมด ทั้งบนเฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม โดยมากเป็นข้อความสั้นๆ จับประเด็นต่างๆ มาสรุปตามความเห็นส่วนตัว บางคนก็บรรจงตัดต่อภาพแล้วก็ใส่ข้อความต่างๆ กันไป ผู้คนก็จะส่งต่อไปตามทัศนคติของตัวเอง ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย หลายคนไม่ทราบว่า เขาฟ้องร้องด้วยข้อหาอะไร ผิดมาตราไหน ที่สำคัญสุดคนส่วนใหญ่ไม่ฟังคำพิพากษาของศาล หรือไม่เคยแม้แต่อ่านสรุปคำพิพากษาของศาลที่ออกมาเป็นทางการ แต่เลือกที่จะเชื่อข่าวสารที่แชร์มา ไม่แสวงหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง จึงเห็นได้ว่า หลายคนเริ่มเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นเรื่องจริง เพราะอ่านข้อมูลเหล่านั้นแชร์ต่อๆ กันมาหลายครั้ง เหมือนที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ บอกไว้ว่า “หากท่านโกหกเรื่องใหญ่มากพอ, โกหกบ่อยครั้งเพียงพอ, เรื่องนั้นจะถูกเชื่อ” เช่นกันในสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 เราได้พบทั้งข่าวจริงและข่าวลวง ที่มีตั้งแต่การเจอผู้ป่วยตามที่ต่างๆ บ้างก็ส่งข่าวให้กระทบกับห้าง ร้านค้า พนักงานบริษัท บ้างก็แชร์ข่าวเรื่องสุขภาพ วิธีการรักษา โดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีการอ้างอิงข้อมูล บางคนอาจแชร์ข่าวสารความหวังดี โดยไม่ทราบว่าข้อมูลที่ได้รับต่อมาไม่ถูกต้อง บางคนจงใจสร้างข้อมูลเท็จด้วยความคึกคะนอง ตัดต่อภาพ ตัดต่อข้อความทำให้ดูเหมือนจริง แล้วส่งต่อกันไป ดังนั้น ยิ่งเทคโนโลยีเอไอก้าวหน้ามากขึ้นเพียงใด ผู้ที่เล่นสื่อออนไลน์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีวิจารณญาณการแยกแยะข้อมูลยิ่งขึ้น อย่าเพิ่งเชื่อเพราะแชร์กันมา มิฉะนั้น จะทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย…