พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.บ. นี้มีอะไรบ้างและเราต้องเตรียมตัวอย่างไร Cisco ได้ออกมาสรุปประเด็นคำถามที่พบบ่อยรวม 8 ข้อ ดังนี้
1. ความสำคัญของ PDPA
PDPA เป็นกฎหมายที่ทั้งบุคคลและนิติบุคคลในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 5 ล้านบาท จำคุกสูงสุด 1 ปี และต้องจ่ายค่าเสียหายตามจริง ในขณะที่กรรมการของนิติบุคคลอาจต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
2. ใครต้องปฏิบัติตาม
บุคคลและนิติบุคคลที่จัดตั้งในราชอาณาจักรไทย รวมไปถึงนิติบุคคลที่จัดตั้งในต่างประเทศที่มีการเก็บ ใช้ เปิดเผย หรือถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว
3. ข้อมูลที่ได้รับความคุ้มครอง
PDPA มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหมายถึง ข้อมูลใดๆ ที่ทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม รวมไปถึงข้อมูลลูกค้า พนักงาน หุ้นส่วนทางธุรกิจ เป็นต้น
4. สาระสำคัญของ PDPA
ประเด็นสำคัญของ PDPA คือ การเก็บ ใช้ เปิดเผย และถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอม ยกเว้นจะมีเหตุอื่นที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งความยินยอมนั้นต้องให้โดยอิสระ เฉพาะเจาะจง และชัดแจ้ง และเจ้าของข้อมูลสามารถถอนความยินยอมได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องแจ้งเหตุให้เจ้าของข้อมูลทราบภายใน 72 ชั่วโมง
5. สิทธิ์ของเจ้าของข้อมูล
เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์เข้าถึง แก้ไข ลบ จำกัดการประมวลผล ถ่ายโอน ไปจนถึงทำลายข้อมูล และสามารถขอให้เปิดเผยถึงการได้มา รายการข้อมูลที่จัดเก็บ รวมไปถึงการปฏิเสธไม่ให้ใช้ข้อมูล
6. มาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
จำเป็นต้องจัดให้มีมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม รวมไปถึงจัดทำและเก็บรักษาบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ
7. มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
กรณีที่เป็นหน่วยงานที่มีการประมวลผลข้อมูลเป็นจำนวนมาก หรือประมวลผลข้อมูลที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม เชื้อชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง จำเป็นต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer: DPO) สำหรับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลโดยเฉพาะ
8. เริ่มต้นอย่างไร
ตรวจสอบนโยบายการบริหารจัดการข้อมูลตามหลักเกณฑ์ของ PDPA รวมไปถึงตรวจสอบรูปแบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัย การเก็บบันทึกข้อมูล และระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุละเมิดให้เหมาะสม
——————————————
ที่มา : Techtalk Thai / 19 มีนาคม 2563
Link : https://www.techtalkthai.com/8-things-you-should-know-about-pdpa/