ศึก “ทวิตภพ” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ลุกลามบานปลายจากสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ระหว่างผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวไทย-จีน-ไต้หวัน-ฮ่องกง ไปยังเวยป๋อ/เวยโป๋ (Weibo) ในหมู่ชาวจีนด้วยกันเอง จนเกิด “พันธมิตรชานม” ขึ้นในพื้นที่การต่อสู้ของคนที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย”
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ศึกทวิตภพข้ามพรมแดน” และถือเป็นครั้งแรกที่พลเมืองเน็ตไทยไปต่อกรกับพลเมืองเน็ตชาติอื่นด้วยประเด็นทางการเมือง
“สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าทวิตเตอร์ในไทยมีศักยภาพสูงกว่าที่หลายคนเคยคาดคิด โดยสามารถขยับประเด็นการเมืองในประเทศ ไปสู้ข้ามประเทศได้ด้วย” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวกับบีบีซีไทย
วชิรวิชญ์ หรือ ไบรท์ ได้ออกมาขอโทษสำหรับ “การรีทวีตที่ไม่ได้คิดทบทวนอย่างระมัดระวัง” โดยบอกว่าเขาไม่ได้อ่านคำบรรยายภาพให้ชัดเจน และจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดแบบนี้ขึ้นอีก
ศึกทวิตภพข้ามพรมแดน สะท้อนความกังวลอิทธิพลจีนในภูมิภาค
ชนวนศึกครั้งนี้เริ่มจากความเห็นในโลกออนไลน์ของนักแสดงหนุ่มและแฟนสาวชาวไทยที่จุดกระแสความไม่พอใจให้แก่ชาวเน็ตจีน ก่อนลุกลามบานปลายกลายเป็น “ความกังวลใจต่ออิทธิพลจีนในภูมิภาคนี้” ตามทัศนะของ ผศ.ดร.ประจักษ์ โดยที่ชาวไต้หวันและฮ่องกงมีความกังวลอยู่แล้วจากนโยบายจีนเดียว ขณะที่ผู้เล่นทวิตเตอร์ชาวไทยก็ได้ร่วมแสดงออกในเชิงสนับสนุนจุดยืนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของไต้หวันและฮ่องกง พร้อม ๆ กับสะท้อนความไม่พอใจสะสมต่อระบอบการเมืองไทยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน ทักทายนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย ระหว่างการประชุม BRICS เมื่อ 4 ก.ย. 2557
เหตุผลที่พลเมืองเน็ตไทยมีปฏิกิริยาต่อจีนเยอะ เป็นเพราะ..
- หลังรัฐประหาร 2557 รัฐบาลจีนได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังถูกโดดเดี่ยวเพราะชาติตะวันตกถอยห่าง จึงมีคนจำนวนหนึ่งที่คิดว่าชะตากรรมของไทยก็ไม่ต่างจากไต้หวันและฮ่องกง โดยมีจีนคอยทำตัวเป็น “พี่ใหญ่”
- ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 รัฐบาลที่จีนกล่าวอ้าง “แน่นแฟ้น เป็นพี่น้องกัน” แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์โดยตรงหรือให้สิทธิพิเศษแก่ไทยเลย เช่น ไทยไม่ใช่ประเทศแรก ๆ ที่อพยพพลเมืองออกจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ได้ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
ชี้ “ผิดฝาผิดตัว” ตอบโต้ชาวเน็ตไทยด้วยการทูตแข็งกร้าว
“ศึกเอเชียทวิตภพ” ทำให้ทางการจีนไม่อาจนิ่งเฉย โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ออกแถลงผ่านเฟซบุ๊กของสถานทูตเมื่อ 14 เม.ย. เพื่อยืนยัน “หลักการจีนเดียว” และระบุว่า “คนบางกลุ่มบนโลกออนไลน์ใช้โอกาสนี้ทำให้เรื่องขยายใหญ่โตลุกลามออกไป พยายามวางแผนมุ่งร้าย ยุแยงเพื่อทำให้ผู้คนผิดใจกัน” ทว่านี่ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของนักรัฐศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์
“จีนใช้นโยบายทางการทูตแบบแข็งกร้าวมาโดยตลอด แต่ก่อนจีนตอบโต้ด้วยความรุนแรงอย่างมากต่อองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นักต่อสู้ประชาธิปไตย หรือรัฐบาลต่างประเทศ สู้กันด้วยภาษาการเมืองที่จริงจัง แต่ครั้งนี้เรียกว่าไปไม่เป็น หรือตั้งรับไม่ถูกเลย เพราะกำลังต่อสู้กับพลเมืองเน็ต สู้กับประชาชนที่อยู่ในวัฒนธรรมอีกแบบซึ่งเขาไม่สนใจคุณหรอก” ผศ.ดร.ประจักษ์ให้ความเห็น
แถลงการณ์ของฝ่ายจีน จึงเป็นเรื่องที่ “ยิ่งผิดฝาผิดตัว” และ “ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น” ในยุคดิจิทัลตามทัศนะของ ผศ.ดร.ประจักษ์ เพราะยิ่งเพิ่มความรู้สึกไม่พอใจที่พลเมืองเน็ตไทยมีต่อรัฐบาลตัวเอง อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าจีนแยกไม่ออกระหว่างเรื่องของ “รัฐกับรัฐ” กับเรื่องของ “ประชาชนกับประชาชน”
“เขา (จีน) มาจากวัฒนธรรมที่รัฐบาลกับประชาชนเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนถูกหล่อหลอมให้ต้องคิดเหมือนรัฐ เมื่อมาเจอปรากฏการณ์ในทวิตเตอร์ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน จึงไม่พอใจและรู้สึกกังวล ยิ่งชาวเน็ตไทยไปสร้างแนวร่วมกับฮ่องกงและไต้หวัน จีนก็ยิ่งกังวล” อาจารย์ประจักษ์กล่าว
เขาเสริมด้วยว่า การวิจารณ์คือสิ่งผิดในตัวเอง คืออาชญากรรม เพราะความจริงมีได้เพียงชุดเดียวในวัฒนธรรมพรรคการเมืองเดียวปกครอง “อำนาจนิยมที่ไหนก็กลัวการล้อเลียน การใช้มุกตลกขำขัน เพราะทำให้อำนาจของเขา และคำพูดผู้นำของเขาดูไม่ศักดิ์สิทธิ์”
ถึงขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศของไทยยังไม่มีท่าทีใด ๆ ต่อแถลงการณ์ของฝ่ายจีน
ขณะที่ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ได้ทวีตข้อความอวยพรวันปีใหม่ไทยเป็นภาษาไทย และ โจชัว หว่อง แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกง ทวีตภาพดูซีรีส์ที่เป็นต้นเรื่อง ซึ่ง ผศ.ดร.ประจักษ์เห็นว่าเป็นการ “เล่นเกมฉลาดกว่า ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน”
ชานมไข่มุก สัญลักษณ์ใหม่ฝ่ายประชาธิปไตย
วรรคทอง “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ที่ปรากฏในแถลงการณ์ของสถานทูตจีนฯ ทำให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวไทย ไต้หวัน ฮ่องกง นำไปล้อเลียนแบบย้อนศรผ่านการติดแฮชแท็ก “ชานมข้นกว่าเลือด” และเกิด “พันธมิตรชานม” จึงน่าสงสัยว่าชานมกลายเป็นสัญลักษณ์ฝ่ายประชาธิปไตยไปได้อย่างไร
นักรัฐศาสตร์ ผู้เป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.2 แสนคน อธิบายว่ามีคนทำมีมหลายอัน หนึ่งในนั้นคือชานมไข่มุก เพราะเป็นสิ่งที่ชาวไทย-ไต้หวัน-ฮ่องกงชอบกินเหมือน ๆ กัน ซึ่งถือเป็นการพลิกรูปแบบในการต่อสู้กับกองทัพไซเบอร์จีนด้วยการใช้อารมณ์ขัน เพราะถ้าดูข้อการถกเถียงระหว่างชาวจีนกับชาวไต้หวัน-ฮ่องกงก่อนหน้านั้น จะเห็นว่าเขาสู้แบบใช้ภาษาจริงจัง
“ชาวเน็ตไทยอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมมา 5 ปี เราเลยสะสมทักษะการแซะ และการวิจารณ์ผู้มีอำนาจอย่างแนบเนียน และไม่ได้สนด้วยที่ชาวเน็ตจีนจะมาด่ารัฐบาลไทย เพราะเราก็วิจารณ์กันเองอยู่แล้ว” เขากล่าวพลางหัวเราะ
ในฐานะผู้ศึกษาการเมืองวัฒนธรรมและการสื่อสารการเมืองของคนรุ่นใหม่ ผศ.ดร.ประจักษ์ยืนยันว่า “ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ของการขบถ” หากเทียบกับสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ และเป็นพื้นที่ที่คนไทยเอาไว้ใช้วิจารณ์ประเด็นการเมือง/รัฐบาลอย่างร้อนแรงอยู่แล้ว
“ดังนั้นถ้ามาเปิดศึกในทวิตเตอร์วอร์ ก็ไม่มีทางสู้เราได้” อาจารย์ประจักษ์บอกและว่า พลเมืองเน็ตไทยใช้กระบวนท่าหลากหลาย ไม่ได้จัดตั้ง แต่คิดมุกอะไรได้ก็ตอบโต้แบบฉับพลันทันที ขณะที่พลเมืองเน็ตจีนคัดลอกข้อความซ้ำ ๆ กันมา
ชาวเน็ตไทยเปิดวิวาทะกับกับ IO จีน?
แล้วใครคือคู่ต่อสู้ของพลเมืองเน็ตไทย น่าจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้สังเกตการณ์ที่พลัดหลงเข้าไปในสมรภูมิทวิตภพ
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้อ่าน-เขียนภาษาจีนได้อย่างดีเยี่ยม อธิบายว่า “จีนเกรียน” มีอยู่ 2 พวก
- พวกแรก “หวู่เหมา” (Wumao 2.0) หรือที่รู้จักในชื่อ “พวกค่าแรง 0.5 หยวน” (2.50 บาท) เป็นทีมงานปฏิบัติการจิตวิทยา (Information Operation – IO) ของรัฐบาลจีน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าคอยโพสต์เยินยอรัฐบาลจีนเพื่อแลกกับค่าจ้าง 0.5 หยวนต่อโพสต์
- พวกที่สอง “เฝิ่นหง” (Fenhong) เป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งคำว่า fen hong se แปลว่าสีชมพู เมื่อเป็นเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์จึงถูกมองว่าเป็น “พวกมีสีแดงอ่อน ๆ หรือชมพู” จึงมีชื่อเรียกว่า “พิงก์กี้ (Pinky)
“พวกนี้กร่างบนโซเชียลในจีนมาตลอด คอยจับผิด ข่มขู่ ล่าแม่มด รีพอร์ต (รายงานบัญชีผู้ใช้งาน) และฟ้องตำรวจหากเห็นใครพูดเชิงการเมือง ซึ่งมีพฤติกรรมไม่ต่างจาก ‘สลิ่มไทย’…” รศ.ดร.พิชิตระบุ
โดยพลเมืองเน็ตกันเองเป็นฝ่ายชี้ชวนเห็นให้ลักษณะของ IO จีนที่ใช้ข้อความตอบโต้ที่คัดลอกมาแบบซ้ำ ๆ กัน ขาดความคิดสร้างสรรค์ หรือใช้ “แอคหลุม” คือบัญชีผู้ใช้งานปลอมที่แทบไม่มีผู้ติดตาม
ทั้งคำว่า Wumao Fenhong และ Pinky ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแฮชแท็กที่เกิดขึ้นในโลกทวิตเตอร์ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแฮชแท็กที่น่าสนใจ
ขณะที่ในเวยป๋อ/เวยโป๋ #Thailand ได้กลายเป็นแฮชแท็กที่ผู้ใช้งานค้นหาและเข้าดูมากที่สุดเมื่อคืนนี้ จำนวนกว่า 1.6 ล้านครั้ง เช่นเดียวกับ #Nnevvy ที่ถูกพูดถึงกว่า 1.4 ล้านครั้ง หลังมีแถลงการณ์จากสถานทูตจีน
ส่วนคลิปเพลง “ประเทศกูมี” ของกลุ่มแร็พต่อต้านเผด็จการ (Rap Against Dictatorship) ในเวอร์ชั่นคำบรรยายภาษาจีน-อังกฤษ ก็กลายเป็นไวรัลบนเวยป๋อ/เวยโป๋ มียอดทะลุล้านวิวเพียงชั่วข้ามคืน ก่อนถึงวันครบรอบ 31 ปีเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมิน วันนี้ (15 เม.ย.)
“สลิ่มจีน” คือใคร ต่างจาก “สลิ่มไทย” อย่างไร
นอกจากหน่วย IO จีน ยังมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวจีนที่ลงทุนเข้าสู่ระบบผ่าน VPN ที่คอยตอบโต้-ชี้แจงแทนรัฐบาลจีน ซึ่งถูกชาวเน็ตด้วยกันเรียกว่า “สลิ่มจีน”
ผศ.ดร.ประจักษ์ ให้นิยาม “สลิ่มจีน” ไว้ว่าคนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลเป็นหลัก และเชื่อว่าสิ่งนั้นคือข้อเท็จจริงชุดเดียวที่มีอยู่ สนับสนุนรัฐบาลอย่างไม่ลืมหูลืมตา มีบุคลิกเป็น “ชาตินิยมแบบสุดขั้ว” จึงไม่พอใจที่พลเมืองเน็ตไทยไปล้อเลียน ทำให้ชาติของเขาดูตลกขบขัน
ทว่าใน “ศึกเอเชียทวิตภพ” ครั้งนี้ยังไม่ปรากฏว่าทั้ง “IO ไทย” และ “สลิ่มไทย” เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ด้วย
“ทั้ง IO ไทย และสลิ่มไทยก็คงยังงง ๆ ไม่รู้ว่าจะแทรกตัวเข้ามาร่วมตรงไหนได้ เพราะมันมีหลายประเด็นซ้อนกันอยู่ ชาวเน็ตจีนก็ยังด่ารัฐบาลไทยที่พวกเขาชอบ และยังมีเรื่องชาตินิยมด้วย จะเข้าข้างจีนอย่างเดียว แล้วมาด่าคนไทยด้วยกันก็จะดูไม่ดี เพราะสลิ่มไทยก็ต้องรักความเป็นไทย” ผศ.ดร.ประจักษ์ระบุ
จุดชี้ขาดชัยชนะ
สงครามทวิตเตอร์ของพลเมืองออนไลน์ 2 สัญชาติที่ดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน ถือว่าเกิน “เกณฑ์ขั้นสูง” ของทวิตเตอร์ซึ่งปกติกระแสมักหายไปในชั่วข้ามคืน แล้วเกิดเป็นกระแสใหม่ ๆ ซึ่ง ผศ.ดร.ประจักษ์ เห็นว่ามี 2 กระแสมาบวกกันคือ กระแสการเมือง กับกระแสดาราบันเทิง ซึ่งเป็นเทรนดิ้งหลักของทวิตเตอร์ไทยอยู่แล้ว
ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย ประชาธิปไตย และการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ
“ครั้งนี้ถือว่าจีนเพลี่ยงพล้ำ แทนที่จะทะเลาะกับไทยเฉย ๆ มาเกิดแนวร่วม 3 ฝ่าย ไทย-ไต้หวัน-ฮ่องกง ซึ่งชัดเจนว่ามีฝ่ายนักการเมืองและนักกิจกรรมการเมืองของไต้หวันและฮ่องกงมาร่วมวงด้วย จนเกิดเป็นพันมิตรไซเบอร์ข้ามพรมแดนแบบหลวม ๆ” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว
นักรัฐศาสตร์สำนักธรรมศาสตร์ระบุว่า ท้ายที่สุด “อาจไม่มีใครชนะขาด” เป็นการต่อสู้ยกหนึ่งที่ยังไม่จบ เพราะเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง อาจมีอะไรโผล่มาอีกในอนาคตตราบที่จีนยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีหรือวิธีดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ก็จะทำให้การตั้งคำถามเกี่ยวกับอิทธิพลจีนหรือการครอบงำของจีนต่อไทยยังมีอยู่ร่ำไป
———————————————————————–
ที่มา : BBC Thai / 15 เมษายน 2563
Link : https://www.bbc.com/thai/thailand-52295774