แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ประกาศเปิดตัวบริการ ‘เมสเซนเจอร์ รูม’ เพื่อสู้กับบริการประชุมแบบกลุ่มหลาย ๆ ตัวที่มีอยู่ในตอนนี้ ส่วน ‘ซูม’ แม้จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ก็ต้องประกาศอัปเดตความปลอดภัยครั้งใหญ่ หลังพบปัญหาในหลายจุด
วันนี้ (25 เม.ย.2563) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ประกาศเปิดตัวบริการ ‘เมสเซนเจอร์ รูม’ เพื่อให้สำหรับการประชุมทางออนไลน์อย่างเป็นทางการ
ภาพจาก Facebook Newsroom
เฟซบุ๊กระบุว่าบริการดังกล่าวจะรองรับผู้เข้าประชุมได้มากสุด 50 คน ซึ่งจะสามารถแสดงผลผู้เข้าประชุมบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้ครั้งละ 16 คน ส่วนบนมือถือจะแสดงได้ครั้งละ 8 คน นอกจากนี้บริการดังกล่าวยังสามารถแชร์ลิงก์เพื่อให้คนอื่น ๆ สามารถเข้ามาประชุมได้อีกด้วย
ภาพจาก Facebook Newsroom
ทางเฟซบุ๊กยังระบุระหว่างการแถลงข่าวอีกด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ใช้บริการ ‘วอทซแอป’ และเมสเซนเจอร์ ราว 700 ล้านบัญชีที่ใช้บริการเพื่อโทรพูดคุยกันอีกด้วย
ซึ่งนักวิจารณ์และสื่อต่างประเทศมองว่าการเปิดตัวครั้งนี้ เป็นการเปิดเพื่อสู้กับบริการประชุมแบบกลุ่มบนออนไลน์ที่ถูกพูดถึงและใช้กันมากในเวลานี้ อย่าง ‘ซูม’ ที่มี อย่างชัดเจน
แม้ซูมจะกลายเป็นสตาร์ทอัปที่ดังชั่วข้ามคืน แต่ก็ใช้เวลานานเกือบ 10 ปีเพื่อมาถึงจุดนี้ โดยล่าสุดเมื่อ 23 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา ได้มีรายงานออกมาว่าตัวเลขผู้ใช้งานรายวันอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านคนแล้ว ทั้ง ๆ ที่เมื่อปลายปี 62 มีผู้ใช้งานฯ ราว 10 ล้านคนเท่านั้น
แต่แน่นอนว่า สื่อต่างประเทศก็ตั้งข้อสังเกตและพบถึงปัญหาด้านความปลอดภัยและความส่วนตัวในหลายจุด ทำให้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซูมก็ประกาศเปิดตัวแอปพลิเคชันเวอร์ชั่น 5.0 โดยมีการระบุอย่างชัดเจนว่าได้ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยและความส่วนตัวให้ดีขึ้นในหลายจุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา
ภาพจาก Zoom Blog
ส่วนประเด็นอีกประเด็นที่ท้าทายซูมมากที่สุดหลังจากนี้ ก็คือ การแปลงยอดผู้ใช้ฟรี ให้กลายเป็นยอดผู้สมัครใช้บริการแบบเสียเงิน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายต่อสตาร์ทอัปหลายๆ รายอยู่เหมือนกัน ซึ่งซูมก็อาจจะหนีประเด็นนี้ไปไม่พ้นเช่นกัน
ขณะที่ในตลาดผู้ให้บริการประชุมแบบกลุ่มบนออนไลน์ ยังมีทั้งกูเกิล แฮงก์เอาท์ ที่ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กูเกิล มีท’ หรือแม้แต่ซิสโกที่ก็มีบริการ ‘เว็บเอ็กซ์’ ส่วนไมโครซอฟต์ก็มี ‘ไมโครซอฟต์ ทีม’ และเพิ่งเปิดตัว ‘สไกป์ มีท นาว’ อีกด้วย
สุดท้ายผลประโยชน์ก็กลับมาอยู่ที่ผู้บริโภค ที่มีตัวเลือกให้ใช้บริการในระหว่างต้องทำงานจากที่บ้านหรือ Work from home เพื่อสู้กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งอาจจะเลือกใช้บริการฟรีหรือเสียเงินก็สามารถเลือกได้
———————————————————————-
ที่มา : Thai PBS / 25 เมษายน 2563
Link : https://news.thaipbs.or.th/content/291675