ในภาวะที่โคโรนาไวรัสระบาดเช่นนี้ หน้ากากอนามัยได้กลายมาเป็นแรร์ไอเท็มที่ผู้คนต่างช่วงชิงมาไว้ในครอบครอง (แต่ไม่ได้ขาดแคลนเนอะ รัฐบาลเขาบอกไว้แบบนั้น) อีกทั้งยังกลายร่างไปเป็นสินค้าที่คนหัวใสแต่ใจมารทั้งหลายกักตุนไว้เก็งกำไรอีกด้วย
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปสำรวจคำในภาษาอังกฤษสามคำที่เราอาจจะนึกถึงไม่ถึงว่ามีที่มาที่ไปเกี่ยวข้องกับหน้ากาก
Mascara
แม้ว่ามาสคาร่าหรือเครื่องสำอางปัดขนตาให้ดูงอนยาวขึ้นจะใช้แค่เฉพาะบริเวณดวงตาและไม่ได้ใช้ปิดหรือคาดบนใบหน้าแบบหน้ากาก แต่แท้จริงแล้วกลับมีที่มาร่วมกันกับคำว่า mask ด้วย
ทั้งสองคำนี้ว่ากันว่ามาจากคำว่า maschera ในภาษาอิตาเลียน หมายถึง หน้ากาก แต่กลับเข้ามาในภาษาอังกฤษเป็นคนละรูปและคนละความหมายกันเพราะเข้ามากันคนละสาย สายแรกที่กลายมาเป็นคำว่า mask ว่ากันว่าไปผ่านมาทางฝรั่งเศส ซึ่งยืมคำว่า maschera ไปและแปลงเป็น masque ก่อนจะเข้ามาในภาษาอังกฤษเป็นคำว่า mask ที่แปลว่า หน้ากาก
ส่วนสายที่สองซึ่งเป็นที่มาของคำว่า mascara ว่ากันว่ามาจากที่สเปนยืมคำว่า maschera ไปใช้จนกลายเป็นคำว่า máscara ซึ่งใช้หมายถึงได้ทั้งหน้ากากและรอยเปื้อน ก่อนที่จะถูกนำไปใช้เรียกเครื่องสำอางที่นักแสดงใช้เพื่อปัดคิ้วหรือหนวดให้เข้มขึ้นและกลายมาเป็นเครื่องสำอางปัดขนตาแบบในปัจจุบัน
ทั้งนี้ นักวิชาการบางคนเชื่อว่า คำว่า maschera ในภาษาอิตาเลียนนี้อาจจะมาจาก maskharah (مسخرہ) ในภาษาอารบิก หมายถึง จำอวด ตัวตลก อีกที เนื่องจากคนที่ทำอาชีพนี้ก็มักต้องสวมหน้ากากในการแสดง
คำว่า mask ในภาษาอังกฤษโดยปกติแล้วมักใช้เป็นคำนาม หมายถึง หน้ากาก แต่อันที่จริงแล้วใช้เป็นกริยาได้ด้วย แปลว่า ปิดบังหรือซ่อนเร้น อาจใช้กับอารมณ์ก็ได้ (เช่น She tried to mask her displeasure with a smile. คือ พยายามยิ้มปิดบังว่าจริงๆ แล้วตนเองไม่พอใจ) หรือใช้กับกลิ่นก็ได้ (เช่น People with bad hygiene may try to use perfume to mask their body odor. คือ คนที่ดูแลความสะอาดตัวเองไม่ดีอาจพยายามฉีดน้ำหอมกลบกลิ่นตัว) แต่หากนำ un- มาเติมด้านหน้าเป็น unmask จะได้ความหมายว่า เปิดโปง กระชากหน้ากาก (เช่น It’s time to unmask a traitor. คือ ถึงเวลากระชากหน้ากากคนทรยศแล้ว)
นอกจาก mask และ mascara แล้ว อีกคำที่อยู่ในตระกูลเดียวกันก็คือ masquerade ซึ่งปกติแล้วใช้เป็นคำนามหมายถึง งานเต้นรำใส่หน้ากาก แต่คำนี้สามารถใช้เป็นกริยาได้ด้วย หมายถึง ปลอมตัวตบตาคนอื่น เช่น a sinner masquerading as a saint ก็คือ คนบาปที่เที่ยวตบตาชาวบ้านว่าเป็นพ่อพระแม่พระ
Person
คำแสนธรรมดาอย่าง person ที่แปลว่า บุคคล นี้แท้จริงแล้วก็มีที่มาจากหน้ากากเช่นเดียวกัน เพราะว่ามาจากคำว่า persona ในภาษาละติน ซึ่งหมายถึงหน้ากากที่ใช้แสดงละคร เพื่อให้ผู้ชมทราบว่านักแสดงเป็นตัวละครอะไร (บางครั้งคณะละครก็นำรูปหน้ากากแบบนี้มาเป็นสัญลักษณ์ ปกติจะเป็นหน้ายิ้มและหน้าเศร้าคู่กัน แทนละครประเภทสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรม)
แต่ในเวลาต่อมา คำว่า persona นี้พัฒนาความหมายจาก ตัวละครในละคร มาหมายถึง บทบาท และกลายมาหมายถึง บุคคล และถูกยืมผ่านภาษาฝรั่งเศสเข้ามาสู่ภาษาอังกฤษในรูป person นั่นเอง
ทั้งนี้ คำว่า persona เอง ทุกวันนี้ภาษาอังกฤษก็ยังใช้หมายถึง ลักษณะนิสัยที่แสดงหรือวาดให้คนอื่นเห็น เช่น He tried his best to project a confident persona. ก็คือ เขาพยายามแสดงออกว่าเป็นคนที่มีความมั่นใจ
คำว่า persona นี้ยังเป็นต้นตอของคำอีกมากมายในภาษาอังกฤษ เช่น personification ที่หมายถึง บุคลาธิษฐาน (เช่น Varuna is the personification of rain. พระพิรุณเป็นบุคลาธิษฐานของสายฝน) impersonate ที่หมายถึง เลียนแบบบุคคล (เช่น The poor soldier was detained for three days for impersonating the PM. นายทหารสุดซวยโดนขังสามวันเพราะล้อเลียนสวมบทเป็นนายกฯ) หรือแม้แต่ parson ที่แปลว่า นักสอนศาสนา หรือ สาธุคุณ ในคริสต์ศาสนา (ส่วนความหมายของ parson’s nose อ่านได้ที่นี่)
Oscillate
อีกคำหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับหน้ากากที่หลายคนอาจไม่ทราบคือคำว่า oscillate ซึ่งเป็นกริยาแปลว่า แกว่ง ส่ายไปมา เช่น เวลาเห็นพัดลมส่ายไปมา เราก็อาจบรรยายว่า an oscillating fan หรือ หากอุณหภูมิในพื้นที่หนึ่งในแต่ละวันไม่คงที่ กลางวันร้อนถึง 40 องศาเซลเซียสแต่ตอนเย็นเหลือ 22 องศา ก็อาจจะบอกว่า The temperatures in this area oscillate between 22 and 44 degrees Celsius.
คำว่า oscillate นี้ว่ากันว่ามาจากคำว่า oscillum ในภาษาละติน แปลว่า ใบหน้าขนาดเล็ก (จริงๆ แปลว่า ปากขนาดเล็ก รากเดียวกับ oral แต่ใช้ปากแทนทั้งใบหน้าแบบนามนัย) ใช้เรียกหน้ากากขนาดเล็กที่ถวายแก่ทวยเทพเพื่อขอพรหรือไถ่โทษ ปกติเป็นรูปเทพแบคคัส (Bacchus) ซึ่งเป็นเทพแห่งเหล้าองุ่น ความเมามาย และการละครของชาวโรมัน (เทียบได้กับเทพไดโอไนซัส หรือ Dionysus ของชาวกรีก) เนื่องจากหน้ากากเหล่านี้มักถูกนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้และแกว่งไกวตามแรงลม คำว่า oscillum เลยถูกนำมาทำเป็นกริยา oscillare ในภาษาละตินและกลายมาเป็นคำว่า oscillate ในภาษาอังกฤษในที่สุด
—————————————————————
ที่มา : The MOMENTUM / 13 มีนาคม 2563
Link : https://themomentum.co/mask-word-odyssey/