ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาและคิดค้นวัคซีน COVID-19 กันอย่างเร่งด่วน เพื่อฝ่าวิกฤตโรคอุบัติใหม่นี้ไปให้ได้ รวมถึงงานวิจัย “วัคซีนชนิด mRNA” ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ได้มอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ หลังทดสอบในหนูทดลองแล้วประสบความสำเร็จดี และกำลังเตรียมจะทดสอบในลิงในประเทศไทยสัปดาห์หน้าต่อไป
ขณะเดียวกัน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ได้มองไปข้างหน้าถึงโลกยุคหลัง COVID-19 ผ่านการนำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติหลัง COVID-19 จากหนังสือ “โลกเปลี่ยน ไทยปรับ : หลุดจากกับดัก พ้นจากโลกที่ล้มเหลว” ผลงานเขียนของ ดร.สุวิทย์ เองที่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชนไปแล้วก่อนหน้านี้
โดย ดร.สุวิทย์ ชี้ว่าหากมองวิกฤตเป็นโอกาส การแพร่ระบาดของ COVID–19 อาจเป็นตัวแปรในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เปลี่ยน “โลกที่ไม่พึงประสงค์” เป็น “โลกที่พึงประสงค์” ทำให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนสมมติฐานในความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ กลายเป็นการผนึกกำลังร่วม การคำนึงถึงประโยชน์จากธรรมชาติ ก่อให้เกิดคุณค่าอย่างไม่สิ้นสุด สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในยุค “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” (One World, One Destiny)“จากนี้ไป เวลาสุขเราก็จะสุขด้วยกัน เวลาทุกข์เราก็จะทุกข์ด้วยกัน จากโลกที่ไร้ความสมดุล ก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพและความไม่มั่นคงตามมา เกิดเป็นวงจรอุบาทว์โลก (Global Vicious Circle)”
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
การสร้างรัฐ–ชาติ (Nation Building) ผ่านเสรีภาพ (Liberty) ความเสมอภาค (Equality) และภราดรภาพ (Fraternity) ในศตวรรษที่ผ่านมา จะถูกแทนที่ด้วย การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ผ่านการกระชับแน่นภายในกลุ่ม (Bonding) การเชื่อมโยงข้ามกลุ่ม (Bridging) และยึดโยงระหว่างสถาบัน (Linking) ในโลกหลัง COVID-19
โดยแนวทางในการการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ มี 2 แนวทางหลัก คือ การออกแบบสวัสดิการสังคมใหม่ ด้วยการใช้ Negative Income Tax (NIT) และโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) เช่น การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอกับการใช้ชีวิต การช่วยเหลือผู้บกพร่องทางร่างกายและผู้สูงอายุ การขจัดความยากจนอย่างตรงจุด และแผนประกันชีวิต/สุขภาพ รูปแบบใหม่
เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้มักจะกลายเป็นปัญหาที่แต่ละประเทศต้องเผชิญ ที่ผ่านมามีนักวิชาการหลายคนได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหานี้ หนึ่งในนั้นก็คือ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 1976 ซึ่งนำความคิดของนักการเมืองอังกฤษชื่อ Juliet Rhys-Williams มาพัฒนา โดยเรียกมาตรการนี้ว่า Negative Income Tax หรือ NIT ที่ตรงข้ามกับ Positive Income Tax หรือระบบภาษีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นแทนที่รัฐบาลจะเก็บภาษีจากประชาชน NIT ก็คือการให้เงินกับประชาชนนั่นเอง ถือเป็นการช่วยเหลือคนจนในรูปแบบของการโอนเงินหรือจ่ายเช็คให้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยใช้ Means Test หรือการวัดระดับรายได้เป็นเครื่องมือในการระบุว่าผู้ใดบ้างที่ควรจะได้รับสิทธิ์นี้
แนวคิดนี้เปรียบเสมือนเครื่องมือสร้างเสถียรภาพภายในระบบเศรษฐกิจ (Built-in stabilizer) เพราะหากใช้ภาษีบุคคลธรรมดาเป็นแหล่งงบประมาณรัฐบาลจะเป็นตัวกลางในการถ่ายโอนเงินจากลุ่มผู้เสียภาษีไปยังกลุ่มคนจนโดยตรง
ทั้งนี้ บทความเรื่อง Negative Income Tax เงินคืนภาษีคนจน โดย SCB EIC ระบุว่า มีหลายประเทศในโลกที่นำ NIT มาใช้ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร อิสราเอล เกาหลีใต้ สวีเดน และแคนาดา ถึงแม้ว่าด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้รูปแบบ NIT ที่นำมาประยุกต์ใช้นั้นไม่เหมือนกัน กระนั้นก็ยังคงหลักการของการให้เงินกับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ไว้เหมือนเดิม
ยกตัวอย่างเช่น Workfare Income Supplement (WIS) ของสิงคโปร์ กำหนดให้คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับสิทธิ์นี้คือผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 292,444 บาท) โดยจุดเด่นของ WIS อยู่ที่การโอนเงินส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการออมของคนในประเทศ
นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ยังแสดงทรรศนะที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ภูมิทัศน์ของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดพลวัตการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้คน ที่ต้องแลกความเป็นส่วนตัว กับ ความเป็นส่วนรวม (อย่างในกรณีของ Social Distancing) เอกภาพขององค์รวม กับ อิสรภาพของส่วนย่อย (อย่างในกรณีของการ Lock Down) และตรรกะของความเหมือนในภาพใหญ่ กับ ตรรกะของความต่างในรายละเอียด (อย่างในกรณีของการพิจารณาเพื่อผ่อนผันมาตรการล็อคดาวน์ หรือ Exit Strategy)
เพื่อตอบโจทย์พลวัตโลกหลัง COVID-19 ประเทศไทยต้องปรับสมดุลใน 4 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1. การปรับสมดุลระหว่างรัฐกับชาติ (Regimental Rebalance) ให้การพัฒนารัฐ ผ่านความเป็นราชการ และการพัฒนาชาติ ผ่านความเป็นประชาธิปไตย เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. การปรับสมดุลในการพัฒนา (Developmental Rebalance) จากการเน้นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างความสมดุลแบบรอบด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญามนุษย์
3. การปรับสมดุลในการปกครอง (Governmental Rebalance) ให้มีสังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share ด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพื่อเปลี่ยนจาก “สังคมของพวกกู” (Me-Society) เป็น “สังคมของพวกเรา” (We-Society) ที่ยึดโลกเป็นศูนย์กลางตามด้วยสังคม เศรษฐกิจ และตัวเองเป็นลำดับสุดท้าย, มองว่าโลกคือแหล่งกำเนิดทรัพยากร จะต้องใช้อย่างรู้คุณค่า, พลังอำนาจในวันนี้เกิดจากการแบ่งปันความรู้ในมุมมองที่แตกต่างกัน, สร้างคนด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์อันะนำไปสู่เป้าหมายและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด, สร้างเสริมพลังและให้ประชาชนมีส่วนร่วม, ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรได้, เปลี่ยนจากอภิสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงได้อย่างเท่าเทียมกัน, ใช้ระบบกระจายอำนาจ, จุดยืนและเป้าประสงค์ของธุรกิจที่มีต่อสังคมและโลก
4. การปรับสมดุลเชิงวัฒนธรรม (Cultural Rebalance) เพื่อรองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมสากล และวัฒนธรรมในโลกเสมือน (Virtual Culture หรือวัฒนธรรมที่สร้างกันขึ้นมาในโลกอินเตอร์เน็ต ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย, อีคอมเมิร์ซ, การศึกษาออนไลน์ และเทคโนโลยีประชุมทางไกลเสมือนจริง เป็นต้น)
ดร.สุวิทย์ ยังชี้ว่า แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศหลัง COVID-19 จะต้องเน้นยุทธศาสตร์เชิงปฎิบัติ (Strategic Pragmatism) เน้นการขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบ (Systemic Reform) และเน้นการสร้างขีดความสามารถในการจัดการกับวิกฤต (Crisis Responding Capability) เป็นสำคัญ ส่วนกระบวนทัศน์การพัฒนา จะต้องมีความชัดเจนขึ้น จาก “การมุ่งเน้นความทันสมัย” สู่ “การมุ่งเน้นความยั่งยืน”
ที่มา :
- เรียบเรียงจากแนวคิดและข้อเสนอแนะของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการประชุมหารือและนำเสนอแนวคิดในการปรับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ในการประชุมออนไลน์กับที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 และ การเสาวนาบรรยาย ในหัวข้อ “โลกและสังคมหลังโควิด – 19 (Way Forward 2020)” เมื่อวันที่ นที่ 19 พฤษภาคม 2563
- Negative Income Tax เงินคืนภาษีคนจน
———————————————————–
ที่มา : salika / 20 พฤษภาคม 2563
Link : https://www.salika.co/2020/05/20/suvit-maesincee-post-covid19-national-security/