เหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธโจมตีแผนกทำคลอดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 ราย ทั้งแม่ ทารกแรกเกิด และพยาบาล
ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขอัฟกานิสถานแจ้งว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 16 ราย ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุซึ่งเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลดาชต์-อี-บาร์ชี ในกรุงคาบูล กลุ่มตาลีบันเองก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลามหรือไอเอส ออกมาบอกว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตี อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่งานศพนายตำรวจ ชั้นผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งทางตะวันตกของประเทศ
เหตุรุนแรงสองเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกันคือเมื่อวันที่ 12 พ.ค. สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพช่างเปราะบางแค่ไหน และความหวังว่าสงครามที่ดำเนินมาหลายทศวรรษจะสิ้นสุดก็ยิ่งริบหรี่เข้าไปใหญ่
ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ได้สั่งให้กองทัพหันไปเริ่มปฏิบัติการโจมตีกลุ่มตาลีบัน และกลุ่มติดอาวุธ อื่น ๆ อีกครั้ง เขากล่าวหาว่ากลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ไม่ได้สนใจคำขอร้องให้ลดละการก่อเหตุลงเลย
นสพ.นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า โดยรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในวันที่ 12 พ.ค. วันเดียว ราว 100 คน
เกิดอะไรขึ้นที่โรงพยาบาล
ราว 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่าได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 ระลอก ส่วนแพทย์คนหนึ่งที่หนีออกมาจากโรงพยาบาลดาชต์-อี-บาร์ชี ในกรุงคาบูล บอกบีบีซีว่า มือปืนลงมือก่อเหตุขณะที่มีคนอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 140 คน
จุดเกิดเหตุอยู่ที่แผนกทำคลอดอยู่ซึ่งองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins sans Frontières) เป็นผู้ดูแล เจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ณ จุดนั้น บางส่วนเป็นชาวต่างชาติ
กองกำลังพิเศษของอัฟกานิสถานบอกบีบีซีว่าสามารถช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กออกมาได้ราว 100 คน ภาพจากที่เกิดเหตุเผยให้เห็นทหารหลายนายกำลังอุ้มเด็กแรกเกิดหลายคนออกมา
ลิส ดูเซ็ต หัวหน้าผู้สื่อข่าวด้านกิจการนานาชาติของบีบีซี บอกว่าเหตุที่เกิดขึ้นได้สั่นคลอนความหวังว่าที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน
“แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดมาแล้ว แต่การโจมตีอย่างเหี้ยมโหดกับเด็กแรกเกิดและแม่นั้น เป็นเรื่องที่สร้างความตกตะลึง”
เธอบอกว่า แม้ว่ากลุ่มตาลีบันจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ แต่การที่ประธานาธิบดีกานี ออกมากล่าวประณาม สะท้อนให้เห็นถึงความโกรธแค้นและขุ่นข้องใจของหลายฝ่าย
“บางฝ่ายกังวลว่ากลุ่มติดอาวุธอย่างกลุ่มไอเอสจะพยายามทำให้กลุ่มตาลีบันและรัฐบาลไม่ลงรอยกันมากขึ้นและดับความหวังที่จะได้เห็นกระบวนการสร้างสันติภาพซึ่งเชื่องช้าและไม่ชัดเจนอยู่แล้วก่อนหน้านี้” ดูเซ็ต อธิบาย
นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า “การโจมตีใดก็ตามต่อผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่อาจให้อภัยได้ แต่การโจมเด็กทารกและคนที่กำลังจะเป็นแม่ ถือเป็นความชั่วร้ายที่สุด”
การเจรจาสันติภาพในอัฟกานิสถาน
นับตั้งแต่สหรัฐฯ และกลุ่มตาลีบันลงนามข้อตกลงถอนกองกำลังทหารเมื่อเดือน ก.พ. กลุ่มตาลีบันและรัฐบาลอัฟกานิสถานยังไม่สามารถตกลงกันเรื่องการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษได้ และความรุนแรงก็ยังดำเนินต่อไป
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะยุติสงครามที่เกิดขึ้นยาวนานถึง 18 ปี นับตั้งแต่กองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯ บุกโจมตีกลุ่มตาลีบัน หลังเกิดเหตุวินาศกรรมอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์กเมื่อ 11 ก.ย. ปี 2001 โดยนายโอซามา บิน ลาเดน แกนนำกลุ่มตาลีบัน คือผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตี
ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนหลายหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ถูกสังหารเพราะความขัดแย้งนี้ และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บและต้องพลัดที่นาคาที่อยู่
การเจรจาระหว่าง สหรัฐฯ-ตาลีบัน ผ่านอะไรมาบ้าง
นับตั้งแต่ปี 2011 กาตาร์ ได้ต้อนรับผู้นำตาลีบันหลายคนที่ย้ายไปอยู่ที่นั่นเพื่อหารือเกี่ยวกับสันติภาพในอัฟกานิสถาน มีการเปิดสำนักงานของตาลีบันในปี 2013 และปิดลงในปีเดียวกันจากปัญหาเรื่องธง ทำให้ความพยายามต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาหยุดชะงัก
ในเดือน ธ.ค. 2018 กลุ่มติดอาวุธตาลีบัน ประกาศว่า จะพบกับเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ เพื่อพยายามหา “แผนการสู่สันติภาพ” แต่กลุ่มอิสลามสุดโต่งกลุ่มนี้ยังคงปฏิเสธไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ซึ่งพวกเขาเห็นว่า เป็น “หุ่นเชิด” ของสหรัฐฯ
หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-ตาลีบัน ในกาตาร์ ผ่านไป 9 รอบ ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะเข้าใกล้การบรรลุข้อตกลง
หัวหน้าผู้เจรจาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะถอนกำลังทหาร 5,400 นาย ออกจากอัฟกานิสถานภายในเวลา 20 สัปดาห์ ตามข้อตกลง ที่มีการยอมรับ “ในหลักการ” กับกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน
แต่ไม่กี่วันต่อมา นายทรัมป์ ก็ระบุว่า การเจรจานี้ “จบสิ้นแล้ว” หลังจากที่ทางกลุ่มตาลีบันสังหารทหารสหรัฐฯ นายหนึ่ง แต่ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทั้งสองฝ่ายก็กลับมาหารือกันต่อโดยไม่เปิดเผย
เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน ทางตาลีบัน ยอมที่จะ “ลดความรุนแรง” แม้ว่า เจ้าหน้าที่ทางการอัฟกานิสถานระบุว่า มีทหารอย่างน้อย 22 นาย และพลเรือน 14 คน เสียชีวิตจากการโจมตีของตาลีบันในช่วงเวลานั้น
สงครามในอัฟกานิสถานมีความเป็นมาอย่างไร
สงครามนี้เริ่มขึ้นเมื่อสหรัฐฯ เปิดฉากโจมตีทางอากาศในช่วง 1 เดือน หลังจากเกิดเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 หลังจากที่ตาลีบันไม่ยอมส่งมอบตัวนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีให้สหรัฐฯ
สหรัฐฯ พร้อมกับกองกำลังผสมนานาชาติ ได้กำจัดกลุ่มตาลีบันออกจากการปกครองอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาได้ผันตัวไปเป็นกองกำลังติดอาวุธ และยังคงก่อเหตุโจมตีรุนแรงอย่างต่อเนื่อง สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาลต่าง ๆ ของอัฟกานิสถานในเวลาต่อมา
กองกำลังผสมนานาชาติ ได้ยุติปฏิบัติการสู้รบในปี 2014 และคงกำลังไว้เพื่อฝึกหัดกองกำลังของอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่สหรัฐฯ ยังคงปฏิบัติการสู้รบขนาดเล็ก รวมถึงการโจมตีทางอากาศต่อไป
กลุ่มตาลีบันยังคงรักษากองกำลังและอิทธิพลไว้ได้ โดยบีบีซีพบว่า ในปี 2017 พวกเขายังคงปฏิบัติการในพื้นที่ 70% ของอัฟกานิสถาน
มีสมาชิกของกองกำลังผสมนานาชาติเกือบ 3,500 นาย เสียชีวิตในอัฟกานิสถาน ตั้งแต่การบุกในปี 2001
ส่วนตัวเลขของพลเรือนอัฟกัน สมาชิกกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน และกองกำลังของรัฐบาลไม่สามารถระบุจำนวนที่ชัดเจนได้ ในรายงานเดือน ก.พ. 2019 สหประชาชาติ ระบุว่า มีพลเรือนมากกว่า 32,000 คน เสียชีวิต สถาบันวัตสัน (Watson Institute) ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ระบุว่า มีบุคลากรด้านความมั่นคง 58,000 นาย และนักรบฝ่ายต่อต้าน 42,000 คน เสียชีวิต
ทำไมสงครามนี้จึงยืดเยื้อ
มีหลายเหตุผลสำหรับคำถามนี้ รวมถึงการต่อต้านอย่างดุเดือดของฝ่ายตาลีบัน ประกอบกับข้อจำกัดหลายประการของกองกำลังอัฟกานิสถานและการบริหารจัดการ การที่หลายชาติไม่สามารถที่จะคงกำลังทหารไว้ในอัฟกานิสถานเป็นเวลานานได้
ในช่วงเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ตาลีบันถอยไปตั้งรับ ในช่วงปลายปี 2009 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐฯ ประกาศจะ “เพิ่ม” กำลังทหาร ทำให้จำนวนทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานเพิ่มเป็นสูงสุดถึง 100,000 นาย
การเพิ่มกำลังทหารนี้ ช่วยผลักดันให้ตาลีบันออกไปอยู่ตามพื้นที่แถบตอนใต้ของอัฟกานิสถาน แต่กำลังทหารที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ประจำการอยู่นานหลายปี
ดาวุด อาซามี แห่งบีบีซีเวิลด์ เซอร์วิส ระบุว่า มี 5 เหตุผลหลัก ที่ทำให้สงครามยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ :
- การขาดความชัดเจนทางการเมือง นับตั้งแต่มีการบุกอัฟกานิสถาน และมีคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของกลยุทธ์ของสหรัฐฯ ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา
- การที่แต่ละฝ่ายพยายามคุมเชิงกันอยู่ และตาลีบันได้พยายามที่จะขยายอิทธิพลของตัวเองในช่วงของการเจรจาสันติภาพ
- ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นจากฝีมือของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลามในอัฟกานิสถาน โดยพวกเขาอยู่เบื้องหลังการโจมตีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลายครั้งในช่วงไม่นานนี้
นอกจากนี้ ปากีสถานเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน ก็มีบทบาทสำคัญ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตาลีบัน ได้แผ่อิทธิพลเข้าไปในปากีสถาน พวกเขาสามารถที่รวมกลุ่มกันที่นั่นในช่วงที่สหรัฐฯ บุก แต่ปากีสถานปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ไม่ได้ช่วยเหลือหรือคุ้มครองตาลีบัน แม้ว่า สหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ปากีสถานดำเนินการต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอัฟกานิสถาน
ข้อตกลงที่เกิดขึ้น เป็นการเปิดประตูสู่การเจรจาระหว่างกลุ่มติดอาวุธตาลีบันและผู้นำทางการเมืองของอัฟกานิสถาน รวมถึงบุคคลจากฝ่ายรัฐบาล
การเจรจานั้นจะมีความท้าทายมากขึ้นไปอีก โดยจะต้องมีการสมานฉันท์กันในเรื่องวิสัยทัศน์การเป็น “เอมิเรตอิสลาม” (Islamic Emirate) ของฝ่ายตาลีบัน และการเป็นอัฟกานิสถานที่เป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2001
สิทธิสตรีจะเป็นอยู่ตรงไหน ท่าทีของตาลีบันต่อประชาธิปไตยคืออะไร คำถามเหล่านี้จะตอบได้ก็ต่อเมื่อ “การเจรจากันภายในอัฟกานิสถาน” เริ่มขึ้นเท่านั้น
จนถึงตอนนี้ ตาลีบัน ก็ยังไม่มีความชัดเจน บางทีพวกเขาอาจจะจงใจให้เป็นเช่นนั้น มีอุปสรรคหลายประการที่อาจเกิดขึ้น ก่อนที่การเจรจาเหล่านี้จะเริ่มขึ้น ตาลีบัน ต้องการให้ปล่อยตัวนักโทษตาลีบัน 5,000 คน ก่อนที่จะเริ่มเจรจา ขณะที่รัฐบาลอัฟกานิสถานต้องการใช้นักโทษเหล่านี้เป็นหมากในการเจรจาต่อรอง เพื่อโน้มน้าวให้ตาลีบันยอมหยุดยิง
นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน เป็นผลมาจากนายอับดุลลาห์ อับดุลลาห์ คู่แข่งของนายอัชราฟ กานี กล่าวหาว่า มีการทุจริตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในอัฟกานิสถานอาจทำให้ ผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติเข้ามาร่วมโต๊ะเจรจากับตาลีบันได้ยากขึ้น
เจ้าหน้าที่ทางการอัฟกานิสถานคนหนึ่ง เปิดเผยกับ เซอคันดาร์ เคอร์มานี ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงคาบูล ว่า แม้การเจรจา “ภายในอัฟกานิสถาน” จะเริ่มขึ้น ก็จะต้องใช้เวลานานหลายปี แต่สหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณแล้วว่า จะถอนกำลังทหารทั้งหมดภายใน 14 เดือน ถ้าตาลีบันทำตามข้อตกลง
ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ถ้ายังไม่มีการบรรลุข้อตกลงกันในการเจรจากันภายในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ จะคงกำลังทหารไว้หลังจากนั้นหรือไม่
เจ้าหน้าที่ทางการของอัฟกานิสถาน เน้นย้ำว่า การถอนทหาร “มีเงื่อนไข” แต่เจ้าหน้าที่การทูตคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงคาบูลว่า การถอนทหารจะเกิดขึ้นเมื่อ “การเจรจากันภายในอัฟกานิสถาน” เริ่มต้นขึ้น ไม่ใช่สิ้นสุดลง เขาเน้นย้ำถึงความกังวลว่า ถ้าสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกไป และตาลีบันตัดสินใจกลับไปสู้รบอีกครั้ง กองกำลังอัฟกานิสถานก็มีความเสี่ยงที่จะเสียหายอย่างรุนแรง
นักวิเคราะห์หลายคน เตือนว่า ตาลีบัน ไม่ได้ระบุกับฝ่ายผู้สนับสนุนพวกเขาว่า การยินยอมต่าง ๆ ตามข้อตกลงที่ลงนามกันนั้น คือ “ชัยชนะ” ตาลีบันต้องการความชอบธรรมและการยอมรับจากนานาชาติ พิธีลงนามที่กลายเป็นข่าวใหญ่โตในกรุงโดฮาทำให้พวกเขาได้รับสิ่งนั้น และอาจจะรู้สึกว่า การเจรจาเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการทำให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประชาชนชาวอัฟกันทั่วไป อย่างน้อยในระยะสั้นนี้ก็คือ ความรุนแรงที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยปกติแล้วช่วงเวลาของ “ฤดูกาลสู้รบ” จะเริ่มขึ้นในช่วงเริ่มฤดูใบไม้ผลิเมื่ออากาศอบอุ่นขึ้น ดังนั้นในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ก็อาจจะได้คำตอบว่า ความรุนแรงจะลดลงหรือไม่
———————————————————-
ที่มา : BBC Thai / 14 พฤษภาคม 2563
Link : https://www.bbc.com/thai/international-52652569