ที่มาภาพ: https://yourstory.com/2019/01/top-6-trends-surveillance-industry-2019
Written by Kim
หลายประเทศทั่วโลกใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ที่สามารถเฝ้าดูและสอดส่อง (surveillance) ความเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) แม้ประชาชนจำนวนหนึ่งเต็มใจแลกความเป็นส่วนตัวกับความมั่นคงปลอดภัย แต่เทคโนโลยีที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นการชั่วคราวอาจมีบทบาทอย่างถาวรต่อการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้มีความกังวลเกี่ยวกับวิธีการที่รัฐบาลรวบรวม จัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลที่สะสมไว้ คาดกันว่าโลกในยุคหลัง COVID-19 บริษัทเทคโนโลยีเอกชนและประเทศต่าง ๆ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนน้อยลงและหันไปมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการรวบรวมข้อมูล เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งและฝ่ายตรงข้ามตามลำดับ[1]
ปัจจุบัน เกาหลีใต้ อิสราเอลและสิงคโปร์ใช้ข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ คลิปวิดีโอกล้องวงจรปิดและข้อมูลบัตรเครติตในการเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการติดตามร่องรอยของไวรัสโคโรนา แม้ประชาชนส่วนหนึ่งเต็มใจแลกความเป็นส่วนตัวกับความมั่นคงปลอดภัย แต่เทคโนโลยีที่รัฐเสนอใช้ชั่วคราวจะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันต่อไปและทำให้เกิดปมอุตสาหกรรมสอดส่อง (surveillance industrial complex) ที่เกี่ยวดองกับปมอุตสาหกรรมทหาร (military–industrial complex)[2] โดยบริษัทเทคโนโลยีเอกชนออกแบบและจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สอดแนมที่ทันสมัยที่สุดแก่รัฐบาล องค์การและบุคคล (เอกชน) ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันจนแยกไม่ออก
จุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์แบบนี้อาจเป็นการสืบทอดตัวเองไปเรื่อย ๆ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หลายคนอาจโต้แย้งว่าฉากทัศน์แบบนี้เกี่ยวข้องกับอนาคตค่อนข้างน้อยและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันในหลายภาคส่วนของโลก เพียงแค่พกพาโทรศัพท์อัจฉริยะ (smartphone) ผู้คนก็แพร่กระจายข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ (personally identifiable information) โดยสมัครใจ เช่นเดียวกับข้อมูลที่รวบรวมจากสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่น ๆ ก็เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย โดยการบุกรุกด้วยเครื่องมือเจาะระบบและมัลแวร์ อนึ่ง แนวคิดเรื่องอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things – IoT) และพัฒนาการของ “เมืองอัจฉริยะ (smart city)” ทำให้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกยิ่งขึ้น
ความเปราะบางตามธรรมชาติทำให้ข้อมูลที่มีความ “อ่อนไหว” ตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งนี้ มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับวิธีการที่รัฐบาลรวบรวม (gathering) จัดเก็บ (storing) และใช้ประโยชน์จากข้อมูลชีวิตประจำวันของประชาชนที่สะสมไว้ (collect) รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวระหว่างบริษัทเทคโนโลยีเอกชนกับรัฐบาล ประเทศต่าง ๆ ไม่ได้รวบรวมข้อมูลประชาชนของตนเท่านั้น แต่ยังเก็บข้อมูลของทุกคนที่เข้ามาในเขตแดนของประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลกลายเป็นเงินตราสกุลใหม่ทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitics)
ประเทศอำนาจนิยมดำเนินการติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (biometrics) และอุปกรณ์ไฮเทค หน่วยงานความมั่นคงภายในของจีนสอดส่องประชาชนหลายกลุ่มภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Uighur และ Kazakhs รวมทั้งชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่น ๆ ใน Xinjiang ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ชาวมุสลิม Uighurs กว่า 1 ล้านคนถูกกักกันในค่าย จีนติดตั้งกล้องเฝ้าตรวจตรากว่า 200 ล้านตัวและมีแผนใช้ AI ช่วยติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชน อาทิ พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ต การเดินทางและการติดต่อสื่อสาร
แนวโน้มที่เกิดขึ้นในประเทศอำนาจนิยม เช่น จีน อาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศประชาธิปไตยและไม่ใช่ประชาธิปไตย บริษัท Huawei ของจีนขายสินค้าเทคโนโลยีครอบคลุมทั่วเอเชียกลาง ในกรุง Tashkent เมืองหลวงของ Uzbekistan มีการติดตั้งกล้องเฝ้าตรวจตรากว่า 1,000 ตัว เพื่อบริหารจ “การเมืองแบบดิจิทัล” ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยความช่วยเหลือของ Huawei ผลที่ตามมาของการปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ (dystopian) ทำให้ประชาชนถูกสอดส่องตรวจตราโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ จีนกำลังพัฒนาศูนย์ข้อมูลพร้อมกับยุทธศาสตร์การริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative)
บริษัท Zhejiang Dahua Technology ของจีน หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตกล้องวงจรปิดรายใหญ่ที่สุดในโลกถูกคว่ำบาตรโดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวจัดหาเทคโนโลยีให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) แล้วใช้อุปกรณ์นั้นในการเฝ้าดู กักขัง คุกคาม จำคุกชาว Uighur และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ คำสั่งห้ามซื้อสินค้าจากบริษัทดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯไม่ครอบคลุมถึงบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ แม้มีการเตือนบริษัทต่าง ๆ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง
ทั้งที่มีคำเตือนจากรัฐบาล บริษัท Amazon เพิ่งใช้เงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดซื้อกล้องที่มีความสามารถค้นหาและติดตามความเคลื่อนไหวของพนักงานจากบริษัท Dahua ส่วนบริษัท IBM และ Chrysler ได้จัดซื้อกล้องตรวจจับความร้อนจาก Dahua เช่นกัน โลกในยุคหลัง COVID-19 บริษัทเทคโนโลยีเอกชนและประเทศต่าง ๆ นอกจากไม่ให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศที่ทำธุรกิจด้วยแล้ว ยังจะมุ่งเน้นการรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยีที่เห็นว่าจำเป็นในการรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อที่จะรักษาความได้เปรียบเหนือคู่แข่งและฝ่ายตรงข้ามตามลำดับ
————————————-
[1] WILL COVID-19 USHER IN THE ERA OF THE SURVEILLANCE INDUSTRIAL COMPLEX? Friday, May 8, 2020 INTELBRIEF Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/will-covid-19-usher-in-the-era-of-the-surveillance-industrial-complex?e=c4a0dc064a
[2] พันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการระหว่างกองทัพและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งถูกมองว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันและมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ ปัจจัยขับเคลื่อนเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและบรรษัทที่ฝักใฝ่การป้องกันประเทศ คือ ฝ่ายหนึ่งได้อาวุธสงครามและอีกฝ่ายหนึ่งได้รับค่าจ้างจากการจัดหาอาวุธนั้น คำนี้มักใช้พาดพิงระบบเบื้องหลังกองทัพสหรัฐฯที่แพร่หลายที่สุด มีการใช้คำนี้ในสุนทรพจน์อำลาตำแหน่งของประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เมื่อ 17 มกราคม 1961 วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี สืบค้นได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/กลุ่มอุตสาหกรรมทหาร
————————————-
Link : https://www.ianalysed.com/2020/05/surveillance-industrial-complex.html