พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฉบับประชาชน: บันทึกภาพ/แชร์ภาพคนอื่น ผิดกฎหมาย?
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) หากไม่มีอะไรผิดพลาด จะประกาศบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคมนี้ โดยพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือชื่อย่อ PDPA (Personal Data Protection Act) ฉบับ 2560 นี้เป็นพ.ร.บ.ที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ปกป้องข้อมูลส่วนตัวทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในบทความ ‘PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บรรทัดฐานใหม่ของชีวิตดิจิทัล’ ในเว็บไซต์ Brandinside กล่าวสรุปอย่างง่ายไว้ว่า “หนึ่งความเข้าใจผิดต่อเรื่องหลักการเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคือ คิดว่าจะเป็นมาตรการที่ห้ามใช้ ห้ามบันทึก ข้อมูลของคน ซึ่งผิดไปจากข้อเท็จจริง เพราะที่จริงแล้ว เนื้อหาหลักคือ ให้นำไปใช้เท่าที่จำเป็น ปลอดภัย และโปร่งใส” ดังนั้นทีมงานวิจัยโครงการของศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้แก่ ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง, ชวิน อุ่นภัทร, ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล และ พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล จึงจัดเสวนาให้ความรู้เรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับประชาชน ในมุมมองประชาชนว่าเราควรรู้อะไรบ้าง เช่น การบันทึกภาพ หรือแชร์ภาพถ่ายคนอื่น จะโดนปรับสามแสนบาทไหม? ทางแฟนเพจ Law Chula โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ อยากถ่ายรูปเพื่อน แต่กลัวโดนจับ หนึ่งในความเข้าใจผิดยอดฮิตของ PDPA คือหากถ่ายรูปเพื่อน ครอบครัว แล้วอัปโหลดลงโซเชียล อาจถูกจับหรือปรับได้ ฐิติรัตน์…