เช้าวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 สื่อหลายสำนักรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 10 พฤษภาคม ปรากฏข้อความปริศนา #ตามหาความจริง ถูกฉายด้วยลำแสงโปรเจ็กเตอร์บนผนังหรืออาคารสถานที่สำคัญหลากหลายจุด ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภา 2553 ทั้ง วัดปทุมวนาราม สยามพารากอน กระทรวงกลาโหม ซอยรางน้ำ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำครั้งนี้เป็นของกลุ่มใด แม้จะทราบโดยข้อความและสถานที่ว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ครบ 10 ปีของการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
การฉายภาพหรือข้อความด้วยลำแสงของโปรเจ็กเตอร์เป็นทั้งการใช้งานในการสื่อสารทั่วไป หรืองานศิลปะ และในขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้ก็ถูกหยิบจับมาใช้สื่อสารในเชิงศิลปะการประท้วงแบบกองโจรโดยใช้การฉายโปรเจ็กเตอร์ หรือที่เรียกว่า ‘Guerilla Projection’ โดยที่ไม่อาจล่วงรู้ได้มาก่อนว่าจะเกิดขึ้นที่ใด เมื่อไร และบางครั้งก็ไม่อาจรู้ได้ว่าใครเป็นผู้ทำ
ศิลปะการประท้วงแบบกองโจรโดยใช้การฉายโปรเจ็กเตอร์ หรือ ‘Guerilla Projection’ นี้ ในหนังสือเรื่อง Augmented Reality Art: From an Emerging Technology to a Novel Creative Medium เรียบเรียงโดย Vladimir Geroimenko ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า แม้จะไม่ทราบว่าผู้ใดหรือศิลปินคนใดเป็นผู้หยิบยืมนำมาใช้ในเชิงการประท้วงเป็นครั้งแรก แต่ผู้ที่ถือเป็นผู้นำและได้รับการจดจำในการใช้โปรเจ็กเตอร์มาเป็นสื่อศิลปะในการประท้วงทางการเมืองก็คือ คริสซตอฟ โวดิซโก (Krzysztof Wodiczko) ศิลปินชาวโปแลนด์
ผลงานอันโด่งดังของคริสซตอฟ โวดิซโกที่ถูกหยิบมาเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกก็คือ การฉายภาพมือของโรนัลด์ เรแกน ที่เห็นเฉพาะมือในเสื้อเชิ้ตสีขาวมีคัฟฟ์ลิงค์ติดอยู่บนอาคาร AT&T Long Lines ในนครนิวยอร์ก ในช่วงสี่วันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในปี 1984 และแน่นอนว่าโรนัลด์ เรแกน คว้าชัยชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้นไป
หรือผลงานในปี 1985 เมื่อเขาฉายโปรเจ็กเตอร์รูปสวัสดิกะบนอาคารของสถานทูตแอฟริกาใต้ ในกรุงลอนดอน เพื่อประท้วงการต่อต้านแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ซึ่งแม้จะปรากฏให้เห็นไม่เกิน 2 ชั่วโมงก่อนที่ตำรวจจะมาถึง แต่ภาพข่าวนั้นก็แพร่กระจายไปทั่วโลก ในวันที่ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย
ผลงาน Guerilla Projection ที่น่าสนใจที่ผ่านมา
นอกจาก #ตามหาความจริง ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ในอดีตมีการนำเอาศิลปะการประท้วงแบบกองโจรโดยใช้การฉายโปรเจ็กเตอร์มาใช้และเป็นที่จดจำ น่าสนใจหลายชิ้นด้วยกัน เช่นตัวอย่างต่อไปนี้
-
การประท้วงพลังงานนิวเคลียร์ของกรีนพีซ
ในปี 1989 กลุ่มกรีนพีซประท้วงเรื่องอันตรายของพลังงานนิวเคลียร์โดยฉายข้อความ “We Have Nuclear Weapons on Board” (เรามีอาวุธนิวเคลียร์อยู่บนเรือ) ลงบนเรือ ARK ROYAL ในขณะที่เทียบท่าที่เมืองฮัมบวร์ก
-
99% การประท้วงยึดวอลล์สตรีท
การประท้วงยึดวอลล์สตรีทในปี 2011 โดยชูประเด็น 99% ซึ่งหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่คือคน 99% ที่ถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากคน 1% ของสังคม โดยในการประท้วงครั้งนี้มีการฉายสัญลักษณ์สไตล์แบทแมน (Batman Signal) เป็นภาพตัวเลข 99% ขึ้นไปบนตึกสูง 32 ชั้น Verizon Building ที่อยู่ตรงข้ามสะพานบรูคลิน เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์การประท้วง
-
Citizen Safety Law ประท้วงกฎหมายลงโทษการชุมนุมในสเปน
ในปี 2015 สเปนออกกฎหมายที่ชื่อ Citizen Safety Law หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ The Gag Law ซึ่งนอกจากจะจำกัดสิทธิในการประท้วงตามกฎหมายแล้ว ยังมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ออกมาประท้วงอีกด้วย โดยการประท้วงหน้ารัฐสภาอาจมีโทษปรับสูงถึง 30,000 ยูโร จึงเกิดความเคลื่อนไหวที่ชื่อ ‘NoSomosDelito’ (เราไม่ใช่อาชญากร) นำเอาเทคโนโลยีโฮโลแกรมฉายภาพผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนเดินผ่านหน้ารัฐสภาในกรุงมาดริด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ถูกจับเพราะผู้ประท้วงเหล่านั้นเป็นภาพโฮโลแกรม
-
Resist Trumpism Everywhere ประท้วงการมาเยือนอังกฤษของทรัมป์
การมาเยือนอังกฤษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 ได้รับการต้อนรับอย่างเจ็บแสบจากกลุ่มที่เรียกว่า Bluman ด้วยการฉายโปรเจ็กเตอร์ด้วยคำว่า ‘Resist Trumpism Everywhere’ ไปทั่วเมือง ตั้งแต่ซุ้มประตู Houses of Parliament and Marble Arch สถานที่สำคัญอื่นๆ อย่าง Cable Street Mural
-
Racing Extinction ประท้วงการฆ่าสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์
การตายของสิงโตเซซิล ขวัญใจชาวโลก ในอุทยานแห่งชาติฮวางเก ในประเทศซิมบับเว ซึ่งถูกยิงตายด้วยฝีมือของทันตแพทย์อเมริกันที่ชื่อวอลเทอร์ พัลเมอร์ ในปี 2015 ซึ่งทำให้เกิดโปรเจ็กต์การฉายภาพสัตว์ที่เสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์บนตึกสูงในนิวยอร์กกว่า 160 ชนิด หนึ่งในนั้นมีภาพของเจ้าเซซิลด้วย แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นผลงานของ Obscura Digital เพื่อโปรโมทสารคดีทางช่อง Discovery Channel เรื่องใหม่ ‘Racing Extinction’ อันว่าด้วยสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
-
Columbia Protects Rapists ประท้วงมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
จากการที่นักศึกษาคณะศิลปะการแสดง เอ็มมา ซัลโควิกซ์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เดินแบกฟูกที่นอนเดินรอบมหาวิทยาลัยนานกว่า 1 ปี เพื่อประท้วงจากการที่เธอถูกนักศึกษาชายข่มขืนในหอพักนักศึกษา แต่ทางมหาวิทยาลัยโคลัมเบียไม่จัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลุ่มนักิจกรรมต่อต้านการข่มขืนที่ชื่อ No Red Tape ร่วมกับกลุ่มศิลปิน The Illuminator ฉายข้อความ “Rape Happens Here” “Columbia Has a Rape Problem,” หรือ “Colunbia Protects Rapists” ในมหาวิทยาลัยเพื่อประท้วงการที่สิทธิของนักศึกษาหญิงไม่ได้รับการปกป้องจากมหาวิทยาลัย
อ้างอิง
http://www.takepart.com/article/2015/08/04/projection-protests
http://www.blunderbussmag.com/a-call-to-arms-from-nycs-guerilla-superhero/
ภาพ : ตามหาความจริง ส่วนหนึ่งมาจากเฟซบุ๊ก Vinai Dithajohn
Tags: นปช. เสื้อแดง, 19 พฤษภาคม 2553, คนเสื้อแดง, โปรเจ็กเตอร์, ตามหาความจริง
——————————————————————
ที่มา : The MOMENTUM / 12 พฤษภาคม 2563
Link : https://themomentum.co/the-art-of-protesting-guerilla-projection/