ขีปนาวุธแบบ DF-31A ของจีนซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ เข้าร่วมการสวนสนาม ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง
จีนเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในคลังอาวุธยุทธภัณฑ์ของตนอย่างเงียบๆ เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความหวาดระแวงขึ้นมาว่าจะมีการแข่งขันด้านอาวุธระลอกใหม่ ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯกับรัสเซียยังเจรจากันเพื่อลดขนาดคลังแสงอาวุธซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างสูงของพวกเขา
หรือว่าปักกิ่งเปลี่ยนใจเสียแล้ว และกลับไปฟื้นคืนความชื่นชอบในพวกอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction) เวลาเดียวกับที่พวกมหาอำนาจของโลกรายอื่นๆ กำลังอยู่ในการเจรจาหารือเพื่อลดทอนอาวุธเหล่านี้? มันดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น
จีนได้เคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ ในการเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์อย่างน้อยที่สุด 30 หัวรบเข้าไปในคลังอาวุธยุทธภัณฑ์ของตนในช่วงปี 2019 โดยที่หัวรบเหล่านี้บางอย่างในสภาพพรักพร้อมสำหรับการนำออกประจำการใช้งานได้ สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) ระบุ โดยอ้างแหล่งข่าวหลายแห่งภายในจีนและข้อมูลจากกองกำลังจรวด (Rocket Force) แห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
“จีนกำลังอยู่ในช่วงกลางๆ ของการปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัยขึ้นอย่างสำคัญ ตลอดจนการขยายคลังแสงนี้” หน่วยงานคลังสมองชื่อดังซึ่งมีฐานอยู่ในสวีเดนแห่งนี้ระบุ
ณ การประชุมเต็มคณะประจำปีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภา) ของจีน ได้อนุมัติงบประมาณ 1.27 ล้านล้านหยวน (179,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้แก่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน สูงขึ้น 6.6% จากงบประมาณของปีที่แล้ว ความเคลื่อนไหวครั้งนี้บังเกิดขึ้นขณะที่วอชิงตันกำลังตั้งจุดมุ่งหมายที่จะดึงเอาปักกิ่งเข้ามาร่วมการเจรจาของตนพร้อมกับมอสโก เพื่อตัดลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธยุทธศาสตร์อื่นๆ ซึ่งมีอยู่ในคลังแสงของแต่ละฝ่าย ตลอดจนการทำลายสต็อกเก่าที่หมดอายุใช้งานแล้ว
รายละเอียดเกี่ยวกับยุทธวิธีด้านนิวเคลียร์ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต, การสร้างสมรรถนะ, และการนำออกมาติดตั้งประจำการนั้น ถูกปกปิดไม่ให้พวกผู้สังเกตการณ์ต่างแดนรับรู้เสมอมา แต่เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่ากองทัพจีนเก็บสะสมหัวรบนิวเคลียร์ของตนเอาไว้ตามฐานทัพต่างๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในบรรดามณฑลตอนในห่างไกลชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ซินเจียง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกสุดไกลโพ้น อีกทั้งเป็นพื้นที่ซึ่งจีนใช้ทดสอบระเบิดปรมาณูลูกแรกของตนเมื่อปี 1964 และทดสอบระเบิดไฮโดรเจนลูกแรกของตนในอีก 3 ปีต่อมา
ในเดือนกรกฎาคม 1996 หลังเสร็จสิ้นการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 45 และครั้งสุดท้ายของจีนที่ ล็อป นูร์ (Lop Nur) อดีตทะเลสาบน้ำเค็มซึ่งเนื้อที่ส่วนใหญ่แห้งผากไปแล้วเหลือแต่เกลือตกตะกอน ตั้งอยู่ตรงบริเวณแอ่งแห้งแล้งจัดแห่งหนึ่งชายขอบของทะเลทรายขนาดใหญ่มหึมาทางตอนใต้ของซินเจียง เจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีของจีนในขณะนั้นได้ประกาศยุติการทดสอบนิวเคลียร์ของแดนมังกรอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าจีนยังน่าจะมีการทดสอบในระดับใต้วิกฤต (subcritical tests) ต่อไปอีกในช่วงหลายๆ ปีภายหลังจากนั้น
นับแต่นั้นมา ฐานทดสอบนิวเคลียร์ใกล้ๆ ล็อป นูร์ ก็ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ขณะที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนโยกย้ายงานการวิจัยและการพัฒนานิวเคลียร์ของตนไปยังที่อื่นๆ ของซินเจียง ตลอดจนไปยังมณฑลเสฉวน ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของจีน
ผู้สังเกตการณ์ทางทหารบางคน รวมทั้ง จุน ทากาดะ (Jun Takada) นักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการคัดค้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า พื้นที่ขนาดใหญ่หลายแห่งในพวกมณฑลตอนในไกลหูไกลตา อย่างเช่น ซินเจียง, เสฉวน, ชิงไห่, และมองโกเลียใน เป็นเขตที่ห้ามทั้งคนท้องถิ่นและผู้มาเยือนจากภายนอกย่างกรายเข้าไป มีบางคนบางฝ่ายมองว่าพื้นที่ปิดเหล่านี้คือหลักฐานแสดงให้เห็นว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนยังคงมีการเก็บสะสมอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้อย่างคึกคัก
แน่นอนทีเดียวว่า ขนาดคลังแสงนิวเคลียร์ของจีนนั้นยังคงล้าหลังห่างไกลจากของสหรัฐฯและรัสเซีย สหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ประมาณการว่า ณ ปี 2019 จีนมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 320 หัวรบ ทั้งหมดเก็บเอาไว้ในคลังแสง เปรียบเทียบกับอเมริกาที่มี 5,800 หัวรบ และรัสเซีย 6,370 หัวรบ
หัวรบนิวเคลียร์ของสองประเทศหลังนี้ จำนวนมากกว่า 1,500 หัวรบยังถูกติดตั้งประจำการแล้ว โดยอาจจะถูกประกอบติดเอาไว้กับขีปนาวุธแล้ว หรืออยู่ตามฐานทัพซึ่งมีกองกำลังเพื่อการปฏิบัติการ
ก่อนหน้านี้ในปีนี้ หู ซีจิ้น (Hu Xijin) บรรณาธิการใหญ่ของ “โกลบอลไทมส์” (Global Times) หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในเครือของ “เหรินหมินรึเป้า” (พีเพิลส์ เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก่อให้เกิดความอลหม่านวุ่นวายขึ้นมา ด้วยการโพสต์ข้อความทาง เว่ยปั๋ว (Weibo) ระบุว่า ในการรณรงค์กล่าวร้ายป้ายสีกันอีกระลอกของพวกสื่อระหว่างประเทศเวลานี้เกี่ยวกับการปรับปรุงด้านการทหารให้ทันสมัยของจีนนั้น มันไม่ได้มีความจริงเอาเลยแม้สักอะตอมเดียว
เขาเสนอแนะว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีนควรเพิ่มสต็อกอาวุธนิวเคลียร์ของตนขึ้นไปกว่านี้มากกว่า 3 เท่าตัว โดยให้มีหัวรบอย่างน้อยที่สุด 1,000 หัวรบ นั่นแหละจึงจะพอสมน้ำสมเนื้อกับสหรัฐฯและสะท้อนถึงความเข้มแข็งโดยองค์รวมของจีน เป็นที่เชื่อกันว่า หู กำลังถ่ายทอดเสียงเรียกร้องจากฝ่ายทหารของจีนและจากสายความคิดแข็งกร้าวภายในพรรค ซึ่งมีความต้องการให้เพิ่มงบประมาณและทรัพยากรมากขึ้นแก่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน
เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า ปักกิ่งได้ปรับเปลี่ยนแนววิธีของตนในเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์แล้วหรือ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หัว ชุนอิง (Hua Chunying) ตอบโดยย้ำว่า ประเทศต่างๆ ที่มีคลังแสงนิวเคลียร์ใหญ่โตกว่าคนอื่นมากมาย ควรต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น และบอกว่าปักกิ่งจะยังคงยึดมั่นในจุดยืนที่ให้คำมั่นสัญญาว่า ตนจะ “ไม่เป็นผู้ใช้ (อาวุธนิวเคลียร์) เป็นคนแรก” (“no first use”)
การที่ปักกิ่งเพิ่มสต็อกอาวุธนิวเคลียร์ของตน เท่ากับเป็นการละเมิดคำมั่นสัญญาของพวกเขาในเรื่องการไม่แพร่กระจายอาวุธประเภทนี้ใช่หรือไม่ เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงโต้แย้งกัน แต่ข้อเท็จจริงยังมีอยู่ว่า จีนไม่ได้เป็นมหาอำนาจรายเดียวหรอกที่กำลังลงทุนในคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเอง
อินเดีย, สหราชอาณาจักร, ปากีสถาน, อิสราเอล, และเกาหลีเหนือ ทั้งหมดต่างกำลังเพิ่มสมรรถนะของพวกตนกันทั้งนั้น กระนั้นแต่ละประเทศก็เพิ่มหัวรบจำนวนน้อยกว่า 20 หัวรบในปีที่ผ่านมา
ทว่าจากการแสดงตัวเป็นผู้นำในการแข่งขันติดอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ดังที่กำลังปรากฏให้เห็นอยู่นี้ ปักกิ่งก็อาจจะกำลังมอบเหตุผลความชอบธรรมเพิ่มมากขึ้นให้แก่เพนตากอน ในการเริ่มต้นการทดสอบนิวเคลียร์ของตนเองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักไปเป็นทศวรรษนับตั้งแต่ปี 1992
——————————————————–
ที่มา : MGR Online / 19 มิถุนายน 2563
Link : https://mgronline.com/around/detail/9630000063483