ไลน์ธนาคารปลอมอาละวาด หลอกขอข้อมูลส่วนตัวก่อนดูดเงินเกลี้ยง พบสาวตกเป็นเหยื่อถูกหลอกขายตู้เย็นไม่พอ มีนางนกต่อเข้ามาทักส่งลิงก์ไลน์ธนาคารปลอมไปให้ เข้าเว็บกรอกข้อมูลส่วนตัว หลอกถามรหัส OTP ถูกดูดเงินซ้ำซ้อน
วันนี้ (10 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีไลน์ปลอมแอบอ้างชื่อ SCB Connect ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาทักผู้ใช้บัญชีไลน์ พยายามหลอกขอข้อมูลส่วนตัวอ้างว่าให้ยืนยันบัญชีโดยแจ้งเลขที่บัตรประชาชน วัน เดือน ปีเกิดของลูกค้า ก่อนที่จะพยายามหลอกขอรหัส SMS 6 หลักจากธนาคาร หากผู้ใดหลงเชื่อมิจฉาชีพก็จะทำรายการโอนเงินไปจนเกลี้ยงบัญชี
ทั้งนี้ มิจฉาชีพจะใช้วิธีมองหากลุ่มเป้าหมายในเพจของธนาคารนั้นๆ โดยจะทำทีเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ถือโอกาสเข้าไปตอบคอมเมนต์ที่ลูกค้าสอบถามเข้ามา แล้วเข้าไปคุยกับลูกค้าต่อใน Inbox ส่วนใหญ่จะหลอกกลุ่มเป้าหมายว่า เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ลูกค้าจะต้องแอด LINE จาก Link ที่ส่งให้ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลโดยตรง ซึ่ง Link ดังกล่าวจะพาไปสู่ LINE ปลอมที่ทำเลียนแบบไว้แล้ว หรือบางทีก็อาจจะใช้ LINE ปลอม แอดกลุ่มเป้าหมายเอง แล้วทักเข้าไปก่อนก็ได้
ถ้ากลุ่มเป้าหมายหลงเชื่อเริ่มมีการสนทนาโต้ตอบ ก็จะยื่นข้อเสนอ เกี่ยวกับรางวัล ดอกเบี้ยพิเศษ การพักชำระหนี้ หรือ สิทธิพิเศษที่น่าสนใจ โดยจะพยายามบอกให้ยืนยันตัวตน โดยให้แจ้งเลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด รหัส ATM รหัสสำหรับ Mobile Banking รวมถึงรหัส OTP ที่ธนาคารส่งให้ด้วย หากหลงเชื่อให้ข้อมูลไป มิจฉาชีพอาจมีการแจ้งให้ลูกค้าปิดแอปของธนาคารสักครู่ เพื่อจะได้เข้าแอปแทนลูกค้าแล้วโอนเงินทั้งหมดออกไป
วิธีสังเกตไลน์ธนาคารปลอม ก็คือ จะทักเข้าไปหาลูกค้าก่อน โดยผู้ใช้จะเห็นคำว่า “เพิ่มเพื่อน” อยู่ด้านบน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้กับแอกเคานต์นี้ยังไม่ได้เป็นเพื่อนกัน ส่วนไลน์ธนาคารของจริง ผู้ใช้จะต้องเป็นคนเพิ่มเพื่อนเอง ซึ่งจะไม่สามารถทักเข้าไปหาลูกค้าก่อนได้เลย อีกทั้งไลน์ธนาคารของปลอมจะไม่มีเครื่องหมาย “โล่สีเขียว” หน้าชื่อแอกเคานต์ ในขณะที่ไลน์ธนาคารของจริง จะมี โล่สีเขียว หรือสีน้ำเงิน วางอยู่หน้าชื่อแอกเคานต์โดดเด่นชัดเจน เพื่อแสดงว่าเป็นบัญชีทางการ หรือบัญชีที่ได้รับการรับรองจากไลน์ประเทศไทยแล้ว
นอกจากนี้ ไลน์ธนาคารของปลอมจะพูดคุยโต้ตอบแบบคนจริงๆ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะไม่มีการให้เจ้าหน้าที่ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง ภาษาที่ใช้ก็จะพบว่า มีการสะกดคำแบบผิดๆ ใช้คำห้วนๆ ไม่เหมือนภาษาที่เจ้าหน้าที่ธนาคารใช้กับลูกค้าจริงๆ และไลน์ธนาคารของปลอม จะมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า รวมถึงข้อมูลของธนาคารอื่นๆ ที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ เช่น มีบัญชีของธนาคารอะไรบ้าง มีเงินในแต่ละบัญชีจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น จากนั้นจะหลอกให้ลูกค้าโอนเงินทั้งหมดมารวมกัน เพื่อที่จะได้โอนเข้าบัญชีของมิจฉาชีพทั้งหมดในครั้งเดียว
สำหรับวิธีการรับมือกับไลน์ธนาคารของปลอม ก็คือ แนะนำให้กดปุ่มรายงานปัญหาในทันที และอาจจะบล็อกแอกเคานต์นั้นเพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกันได้อีก เพื่อความมั่นใจว่าแอกเคานต์ที่ใช้เป็นของแท้แน่นอน ควรจะเลือกเพิ่มเพื่อนกับบรรดาบริษัท หรือแบรนด์ที่เป็นลูกค้า ผ่านแหล่งที่น่าเชื่อถือได้โดยตรง เช่น จากร้านค้า หรือ เว็บไซต์ทางการของแบรนด์นั้นๆ
อีกด้านหนึ่ง ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Phijittra Prapan ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ได้สั่งซื้อตู้เย็นขนาด 8.2 คิว ราคา 3,700 บาท จากร้านค้าในลาซาด้า แต่ผู้ค้าไม่ตอบแชต กลับให้ติดต่อทางไลน์แทน โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารทหารไทย เลขที่บัญชี 033-2-56245-3 ชื่อบัญชี นายขจรพล เพ็ชรนก แต่ปรากฏว่า ของไม่มาส่ง และสลิปจากบริษัทขนส่งเป็นของปลอม แต่ปรากฏว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “เริ่มต้นใหม่ เผื่ออะรัยดีขึ้น” เข้ามาทัก อ้างว่าเป็นผู้เสียหายเหมือนกัน ก่อนจะแนะให้ส่งไลน์ธนาคารปลอม อ้างว่า แจ้งขอตรวจสอบรายการโอนโดนฉ้อโกงซื้อขายออนไลน์
เมื่อผู้เสียหายแอดไลน์ธนาคารปลอมไป พบว่า มิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารพยายามให้กดส่งข้อมูลไปยังเว็บไซต์ธนาคารปลอม เพื่อหลอกให้กรอกรหัสส่วนตัว จากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกถาม SMS ที่ได้รับ อ้างว่า เพื่อดำเนินการส่งเรื่องตรวจสอบและรับยอดเงินคืนเข้าบัญชี ปรากฏว่า ถูกหักเงินออกจากบัญชี 2,600 บาท ทั้งนี้ เจ้าตัวได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.วังสะพุง จ.เลย ปรากฏว่า คนที่เข้ามาทักไปก๊อปรูปมาสร้างโปรไฟล์ปลอมเพื่อหลอกลวงโดยเฉพาะ
———————————————————-
ที่มา : MGR Online / 10 มิถุนายน 2563
Link : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000060149