ภาพเปลวเพลิงที่กำลังโหมลุกไหม้โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทอารามโกที่เมืองอับกอยก์ (Abqaiq) จังหวัดตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย หลังถูกโดรนโจมตีเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 ก.ย.
รอยเตอร์ – เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติยืนยันต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ว่า ขีปนาวุธร่อนที่ใช้โจมตีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่และท่าอากาศยานนานาชาติของซาอุดีอาระเบียเมื่อปีที่แล้ว “มีต้นทางมาจากอิหร่าน” ขณะที่ทางการเตหะรานรีบออกมาปฏิเสธทันควัน
อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ระบุว่า อาวุธและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องหลายชิ้นที่สหรัฐฯ ยึดได้ในเดือน พ.ย. ปี 2019 และ ก.พ. ปี 2020 “มาจากอิหร่าน” โดยบางชิ้นมีลักษณะตรงกับสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทสัญชาติอิหร่าน และมีอักษรภาษาฟาร์ซีกำกับ ขณะที่บางชิ้นถูกนำเข้าอิหร่านระหว่างเดือน ก.พ. ปี 2016 จนถึง เม.ย. ปี 2018
กูเตียร์เรส ชี้ว่า การจัดส่งอุปกรณ์เหล่านี้อาจละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นปี 2015 ที่รับรองข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1
คณะทูตอิหร่านประจำยูเอ็นชี้ว่า รายงานฉบับนี้ “ผิดพลาดร้ายแรง และคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง”
“รัฐบาลอิหร่านขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อรายงานที่ว่า อิหร่านมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออกอาวุธและอุปกรณ์ที่ใช้ในการโจมตีซาอุดีอาระเบีย รวมถึงข้อมูลที่ว่าหลักฐานต่างๆ ที่สหรัฐฯ ยึดได้มีที่มาจากอิหร่าน”
สหรัฐฯ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น 15 ประเทศต่ออายุคำสั่งปิดล้อมด้านอาวุธ (arms embargo) ต่ออิหร่านที่กำลังจะหมดอายุในเดือน ต.ค. ตามเงื่อนไขข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ ขณะรัสเซียและจีนซึ่งถืออำนาจ “วีโต” ส่งสัญญาณขัดขวางเต็มที่
ทั้งนี้ กูเตียร์เรส จะต้องส่งรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นปีละ 2 ครั้ง เพื่อชี้แจงเรื่องคำสั่งปิดล้อมด้านอาวุธและข้อจำกัดอื่นๆ ที่บังคับใช้กับอิหร่านภายใต้ข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์
องค์การสหประชาชาติได้ทำการตรวจสอบเศษชิ้นส่วนขีปนาวุธที่ใช้โจมตีโรงกลั่นน้ำมันซาอุฯ ในเมืองอาฟิฟเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว รวมถึงท่าอากาศยานนานาชาติอาบา ในเดือน มิ.ย. และ ส.ค. และโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท ซาอุดี อารามโก ที่เมืองคูไรส์ (Kurais) และอับกอยก์ (Abqaiq) ในเดือน ก.ย.
“ขีปนาวุธร่อนหรือชิ้นส่วนบางชิ้นที่ใช้โจมตีสถานที่ทั้ง 4 แห่งมีที่มาจากอิหร่าน” กูเตียร์เรส ระบุในรายงาน พร้อมเผยว่าอากาศยานไร้คนขับที่ใช้ในการโจมตีเมื่อเดือน พ.ค. และ ก.ย. ปีที่แล้ว ก็มาจากอิหร่านด้วยเช่นกัน
ยูเอ็นยังพบด้วยว่า หลักฐานบางชิ้นที่สหรัฐฯ ยึดได้ “มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึง” กับเศษขีปนาวุธร่อนและโดรนที่ใช้โจมตีซาอุฯ เมื่อปี 2019
เคลลี คราฟต์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ระบุว่า เธอจะแจกจ่ายร่างญัตติขยายคำสั่งปิดล้อมด้านอาวุธให้แก่รัฐสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเร็วๆ นี้ และหากข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกปฏิเสธ สหรัฐฯ ก็จะผลักดันให้ยูเอ็นฟื้นมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านทั้งหมด ซึ่งนักการทูตหลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ
———————————————————-
ที่มา : MGR Online / 13 มิถุนายน 2563
Link : https://mgronline.com/around/detail/9630000061250