จากเหตุการณ์เมื่อ 21 กรกฎาคม 2563 (เวลาท้องถิ่น) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งปิดสถานกงสุลจีนประจำเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ภายในวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 รวมเป็นเวลา 72 ชั่วโมงที่เจ้าหน้าที่จีนทั้งหมดพร้อมทรัพย์สินทุกประเภทจะถูกขนย้ายออกจากที่ตั้งของสถานกงสุลจีนดังกล่าว เช่นนี้เมื่อ 22 กรกฎาคม 2563 ปรากฎกลุ่มควันจากภายในพื้นที่ตั้งอาคารสถานกงสุลจีน ซึ่งประเมินว่า กลุ่มควันนี้น่าจะมาจากการเผาเอกสารของเจ้าหน้าที่จีน เพราะในแต่ละหน่วยงานรัฐที่ตั้งอยู่นอกดินแดน ต่างต้องมีแผนการปฏิบัติเพื่อปกป้อง ดูแลรักษา และคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครอง โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉินหรือการสุ่มเสี่ยงต่อภยันตรายและกระทบผลประโยชน์ของชาติ เหตุที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะเป็นไปตามแผนการปฏิบัติต่อทรัพย์สินในครอบครอง โดยเป็นการทำลายทรัพย์สินบางส่วนที่เป็นภาระในการเคลื่อนย้ายหรือง่ายต่อการสูญหายขณะเคลื่อนย้าย เช่น เอกสาร สื่อต่างๆ ที่ใช้จัดเก็บข้อมูลข่าวสาร และการทำลายจึงมักใช้วิธีเผาไฟ เนื่องจากเป็นวิธีทำลายที่ให้ผลดีที่สุดนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะนำไปกู้สภาพคืนได้ยาก ตัวอย่างเช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากกองทัพญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่เพิร์ลฮาเบอร์ รัฐฮาวาย สหรัฐฯ เมื่อ 7 ธันวาคม 2484 หน่วยงานรัฐประจำในสหรัฐฯ ของญี่ปุ่น ทำการเผาทำลายเอกสาร และสื่อจัดเก็บข้อมูลทุกประเภท เป็นต้น
หากนำมาพิจารณากับระเบียบราชการของไทยด้านมาตรการรักษาสิ่งที่เป็นความลับและการรักษาความปลอดภัยของทางราชการแล้ว กรณีที่แต่ละหน่วยงานรัฐของไทยต้องเผชิญภาวะเช่นเดียวหรือคล้ายคลึงกับกรณีสถานกงสุลจีนที่เมืองฮิวสตัน ต่างต้องถือปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติที่กำหนดไว้ เช่น แผนสำรองฉุกเฉินเพื่อป้องกันผลกระทบต่อการจัดการกระบวนการของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แผนรองรับภาวะฉุกเฉินและแผนบริหารความต่อเนื่องของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นต้น เพียงแต่การกำหนดแผนการปฏิบัติเช่นนี้คาดว่า มิได้มาจากมาตรฐานเดียวกัน แผนการปฏิบัติสำหรับเผชิญเหตุร้ายนี้ เคยมีการกำหนดไว้กว้างๆ ในระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 47 “ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีแผนการปฏิบัติในเวลาฉุกเฉิน โดยมีแผนการเคลื่อนย้าย แผนการพิทักษ์รักษา และแผนการทำลายข้อมูลข่าวสารลับ เพื่อนำมาปฏิบัติเป็นลำดับชั้น ตามความรุนแรงของสถานการณ์” มุ่งที่ข้อมูลข่าวสารประการเดียว แต่มิได้ระบุถึงรายละเอียดใดๆ ไว้ ทั้งที่เป็นข้อมูลจำเป็นที่ต้องระบุถึง เพราะระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 เป็นระเบียบราชการกลางสำหรับให้หน่วยงานของรัฐใช้ถือปฏิบัติหรือเป็นแนวทางนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม กระนั้นก็ตาม แผนการปฏิบัติในเวลาฉุกเฉินตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ หรือระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ มักไม่ได้รับความสนใจที่จะถือปฏิบัติจากหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่ อีกทั้งส่วนราชการที่ถูกกำหนดให้รับผิดชอบระเบียบเหล่านี้ก็มิได้สนใจเท่าที่ควรที่จะผลักดันให้หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ยึดถือปฏิบัติตามระเบียบ จนเมื่อ 24 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐดำเนินการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตไปพร้อมกับปฏิบัติงานภารกิจหลักได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ก.พ.ร.กำหนดไว้ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (PMQA) ฉบับที่ 2 นับเป็นการนำมาดำเนินการทับซ้อนกัน แต่การเสนอของ ก.พ.ร.ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดจัดทำแนวทางและมาตรการได้เป็นอย่างดี
เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติหรือระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ไม่เป็นที่รู้จักหรือยอมรับถือปฎิบัติตาม อาจมาจากขาดรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งอาจเป็นด้วยระเบียบนี้กำหนดขึ้นจากมาตรา 16 และมาตรา 26 วรรคห้า ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ประกอบกับเป็นระเบียบที่ปรับมาจากบทการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเอกสารของระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 พร้อมกับให้ยกเลิกบทดังกล่าว จึงทำให้เนื้อความของทั้ง 2 ระเบียบขาดความสอดคล้องและขาดรายละเอียดในทางปฏิบัติที่รองรับระหว่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการเผชิญภาวะภัยพิบัติหรือการปราศจากวิธีรักษาความปลอดภัยอื่นๆ จะเห็นได้จากรายละเอียดของระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ที่เลิกใช้แล้วนั้น กลับมีการระบุถึงการเผชิญภาวะฉุกเฉิน อย่างมีขั้นตอนการปฏิบัติเบื้องต้นมากกว่าระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ โดยเน้นที่การดำเนินการต่อเอกสาร ซึ่งแบ่งวิธีปฎิบัติออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การปฏิบัติในเวลาฉุกเฉินกับเอกสารลับที่สุดและลับมาก และการปฏิบัติในเวลาฉุกเฉินกับเอกสารลับและปกปิด โดยขอยกตัวอย่างที่เอกสารลับที่สุดและลับมาก ดังนี้
“35.10.4 การปฏิบัติในเวลาฉุกเฉิน
35.10.4.1 ให้ส่วนราชการจัดทำแผนการพิทักษ์รักษา แผนการเคลื่อนย้าย และแผนการทำลาย เอกสารลับที่สุดและลับมากในเวลาฉุกเฉินเป็นกรณีพิเศษ ให้เตรียมอุปกรณ์ในการทำลายไว้ให้ พร้อมเพื่อให้สามารถทำลายได้ทันท่วงทีและชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้าใจวิธีปฏิบัติโดย พิจารณาจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อการรักษาความปลอดภัย
35.10.4 .2 เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงจนไม่สามารถให้การพิทักษ์รักษาเอกสารลับให้ ปลอดภัยได้จึงให้ใช้แผนการเคลื่อนย้ายหรือแผนการทำลายซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย
35.10.4 .3 เพื่อมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของเอกสารลับที่สุดและลับมากตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามหรือบุคคลผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างเด็ดขาด ให้ทำลายเอกสารลับที่สุดและลับมากในเวลาฉุกเฉินด้วยความรวดเร็วที่สุด และให้ทำลายตามลำดับความสำคัญชั้นลับที่สุดก่อน”
กรณีปรากฎกลุ่มควันลอยจากที่ตั้งของสถานกงสุลจีนในวันถัดมาจากที่สหรัฐฯ ประกาศปิดสถานกงสุลนี้ คาดว่า เป็นการเผาเอกสารที่เจ้าหน้าที่จีนคัดแยกไว้ก่อนหน้าตามลำดับความสำคัญที่จะทำลาย เมื่อเกิดเหตุจึงสามารถดำเนินการตามที่เตรียมการได้ทันที ซึ่งต่างกับกรณีบุกทำลายสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อ 29 มกราคม 2546 ซึ่ง ไม่มีความชัดเจนว่า การดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุช่วยผ่อนความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่
——————————————————
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย