- ไซรา อาเชอร์
- บีบีซี นิวส์ สิงคโปร์
อุปกรณ์ขนาดพกพาที่ชื่อ เทรซ ทูเกตเตอร์ โทเคน (Trace Together Tokens) คือเทคโนโลยีล่าสุดของสิงคโปร์ในการรับมือกับโควิด-19
อุปกรณ์ที่พกติดตัวได้นี้ช่วยให้แอปพลิเคชันตรวจจับการสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรน่าที่มีการใช้งานอยู่แล้วทำงานได้ดีขึ้น ในการระบุตัวผู้ที่อาจจะติดเชื้อไวรัสจากผู้ที่มีเชื้ออยู่แล้ว
ผู้ใช้งานต้องพกพาอุปกรณ์นี้ ซึ่งทำงานด้วยแบตเตอรีที่มีพลังงานสะสมถึง 9 เดือน เรื่องนี้สร้างความ “ตกตะลึง” แก่ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง
หน่วยงานของรัฐบาลที่พัฒนาอุปกรณ์นี้ ทราบดีว่า อุปกรณ์ประเภทนี้ และเทคโนโลยีโดยทั่วไป ไม่ใช่ “ยาวิเศษ” ที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่มันจะมาช่วยเสริมความพยายามในการตรวจจับการสัมผัสเชื้อของคน
คนกลุ่มแรกที่จะได้รับอุปกรณ์นี้ไปใช้งานคือ ผู้สูงอายุหลายพันคน ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง โดยพวกเขาจะต้องแจ้งหมายเลขประจำตัวประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์ เช่นเดียวกับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน เทรซทูเกตเตอร์ (Trace Together)
ถ้าผู้ใช้อุปกรณ์นี้ถูกตรวจพบว่าติดโรคโควิด-19 พวกเขาต้องส่งมอบอุปกรณ์คืนให้กระทรวงสาธารณสุข เพราะอุปกรณ์นี้ไม่สามารถส่งข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้หมือนแอปฯ ดังกล่าว
จากนั้น อุปกรณ์นี้ จะใช้ข้อมูลที่ถูกเก็บบันทึกไว้ ในการระบุตัวผู้ที่อาจจะติดเชื้อ
เครื่องมือขนาดพกพาในกระเป๋ากางเกงได้นี้ทำงานโดยการสื่อสารทางบลูทูธกับเครื่องมือชนิดเดียวกัน หรือโทรศัพท์มือถือที่มีแอปฯเดียวกัน โดยเก็บข้อมูลการสื่อสารไว้ 25 วัน แล้วลบทิ้ง ถ้าผู้ใช้อุปกรณ์นี้ ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 ต้องนำเครื่องนี้มาให้ทางการเพือตรวจสอบข้อมูลใเนครื่องว่าติดต่อกับใครบ้าง
ฌอน ครอสส์ นักพัฒนาฮาร์ดแวร์ เป็น 1 ในผู้เชี่ยวชาญ 4 คน ที่ได้รับเชิญให้ตรวจสอบอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง ก่อนที่จะมีการเปิดตัว โดยมีการแสดงส่วนประกอบทุกชิ้นของอุปกรณ์นี้ให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญดู แต่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดอุปกรณ์นี้
“มันช่วยหาความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่กับคุณ คนที่คุณแพร่เชื้อให้ และที่สำคัญคือ คนที่อาจจะนำเชื้อมาแพร่ให้คุณ” นายครอสส์ กล่าว
ทางเลือกแทนการใช้งานแอปฯ
สิงคโปร์เป็นชาติแรกที่ใช้งานแอปพลิเคชันตรวจจับการสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา
เจ้าหน้าที่ทางการระบุว่า มีผู้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์นี้ไปใช้งานแล้ว 2.1 ล้านคน คิดเป็น 35% ของจำนวนประชากร
ทุกคนสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ตามความสมัครใจ ส่วนแรงงานอพยพที่พักในหอพัก และเป็นผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 44,000 คน ของสิงคโปร์ ต้องดาวน์โหลดแอปฯ นี้ไปใช้งานทุกคน
รัฐบาลระบุว่า แอปฯ นี้ช่วยให้กักตัวคนจำนวนหนึ่งได้เร็วขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า เทคโนโลยีนี้ ทำงานไม่ได้ผลดีอย่างที่คาดหวัง
คนบางส่วนยกเลิกการติดตั้งแอปฯ นี้ เพราะว่า ทำให้แบตเตอรีหมดเร็ว
สำหรับผู้ใช้งไอโฟน การใช้งานแอปฯ นี้ ต้องเปิดแอปฯ “แฮนด์เช็กส์” (handshakes) ที่ใช้สัญญาณบลูทูธควบคู่ไปด้วย ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถใช้โทรศัพท์ทำอย่างอื่นได้ นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองแบตเตอรีอย่างมากด้วย ส่วนผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไม่พบปัญหานี้
ในทางทฤษฎี การตรวจจับการสัมผัสเชื้ออัตโนมัติสามารถใช้งานได้ผลดีอย่างมาก แต่ต้องมีประชากรใช้งานในสัดส่วนที่สูง
ดังนั้น ผู้ที่ใช้งานไอโฟนน่าจะอยู่ในกลุ่มคนที่ถูกขอให้ใช้งานอุปกรณ์นี้ในอนาคตอันใกล้
ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว
เมื่อมีการเปิดตัวอุปกรณ์นี้ครั้งแรกในช่วงต้นเดือนมิ.ย. ประชาชนมีปฏิกิริยาที่ไม่ดีต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่มักไม่ค่อยเกิดขึ้นในสิงคโปร์
วิลสัน โลว์ เริ่มยื่นคำร้องเรียนออนไลน์ เรียกร้องให้ล้มเลิกการใช้งานอุปกรณ์นี้ และมีผู้ร่วมลงนามแล้วเกือบ 54,000 คน
ในคำร้องระบุว่า “สิ่งที่จะทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องกลายเป็นรัฐสอดแนมคือ การบังคับใช้งานอุปกรณ์ที่พกพาได้แบบนี้”
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ กฎหมายที่กำหนดว่า ห้ามปิดอุปกรณ์เหล่านี้ [และต้อง] พกพาติดตัวไว้ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นรัฐตำรวจอย่างแน่นอน”
รัฐมนตรีหลายคนชี้ว่า อุปกรณ์นี้ไม่ได้ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการระบุตำแหน่งหรือเชื่อมต่อกับเครือข่ายของโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นจึงไม่สามารถถูกใช้สอดแนมการเคลื่อนไหวของบุคคลได้
นายครอสส์ เห็นด้วยว่า จากการได้เห็นส่วนประกอบของอุปกรณ์นี้ เขาคิดว่า มันไม่สามารถถูกนำไปใช้ในการแกะรอยตำแหน่งที่ตั้งได้
แต่เขากล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวน้อยกว่า แบบจำลองที่แอปเปิลและกูเกิลส่งเสริมให้ใช้งาน ซึ่งมีการนำไปใช้งานกันอย่างกว้างขวางในที่อื่น ๆ
เขาอธิบายว่า “ในที่สุด กระทรวงสาธารณสุขจะได้ข้อมูลหมายเลขที่เป็นความลับที่มีแต่พวกเขาเท่านั้นที่รู้ ไปจนถึรู้ถึงหมายเลขโทรศัพท์ และตัวบุคคล”
ในทางตรงข้าม แอปฯ ต่าง ๆ ที่ใช้งานในแบบจำลองของแอปเปิลและกูเกิล จะแจ้งเตือนผู้ใช้งาน ถ้าพวกเขามีความเสี่ยง แต่จะไม่เปิดเผยตัวตนของพวกเขาต่อทางการ ยกตัวอย่างเช่น การลงทะเบียนตรวจหาเชื้อเมื่อใด ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นเองว่าจะทำเมื่อใด
ดร.ไมเคิล เวล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิทางดิจิทัล ที่ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London) เตือนถึง วัตถุประสงค์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป
เขาได้ยกตัวอย่างว่า รัฐบาลที่กำลังต่อสู้กับโควิด-19 และต้องการตรวจสอบการกักตัว ว่า รัฐบาลสามารถทำได้ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณบลูทููธตามที่สาธารณะ เพื่อหาว่าผู้ใช้งานอุปกรณ์นี้ มีใครบ้างที่ออกมาข้างนอกแทนที่จะกักตัวอยู่ที่บ้าน
“สิ่งที่ต้องทำก็คือ การติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน แล้วข้อมูลที่จัดเก็บก็จะสามารถถูกนำไปเทียบเคียงกับหมายเลขประจำตัวประชาชนของสิงคโปร์ได้” เขาอธิบาย
แต่เจ้าหน้าที่ทางการที่ดูแลหน่วยงานที่ผลิตอุปกรณ์นี้ พยายามคลายความกังวลในส่วนนี้ลง
กก ปิง ซูน ประธานเจ้าหน้าที่่บริหารของ กอฟเทค (GovTech) กล่าวว่า “รัฐบาลและประชาชนมีความไว้วางใจกันในระดับสูง และมีการคุ้มครองข้อมูล”
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า เขาหวังว่า ประชาชนจะเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำเป็นต้องได้ข้อมูลนี้ เพื่อคุ้มครองพวกเขาและคนที่พวกเขารัก
อีกเหตุผลหนึ่งที่สิงคโปร์ต้องการใช้อุปกรณ์ของตัวเองมากกว่าใช้เทคโนโลยีของแอปเปิลและกูเกิลก็คือ ทางการสิงคโปร์สามารถให้ข้อมูลที่ละเอียดเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อแก่นักระบาดวิทยาได้
นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ยอมใช้เทคโนโลยีของบริษัทยักษ์ใหญ่ในตอนแรก จนกระทั่งความพยายามแก้ปัญหาข้อจำกัดสัญญาณบลูทูธของแอปเปิลของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ล้มเหลวเมื่อมีคนมารวมตัวกันมาก ๆ
ถ้าอุปกรณ์พกพาของสิงคโปร์ใช้งานได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้ หลายประเทศอาจจะหันมาทำตาม
โรแลนด์ เทิร์นเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งของกลุ่มที่ได้รับเชิญให้ตรวจสอบอุปกรณ์นี้ของสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า “[ด้วยข้อมูลที่มากขึ้น]คุณสามารถตัดสินใจในทางนโยบายที่เชื่อมโยงข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ กับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ไม่เช่นนั้น ก็จะต้องใช้มาตรการหลายอย่าง”
“บางทีอาจจะทำให้เกิดผลที่ขัดแย้งกันตามมาก็ได้ คือ การมีเสรีภาพมากขึ้นก็ได้”
————————————————-
ที่มา : BBC Thai / 8 กรกฎาคม 2563
Link : https://www.bbc.com/thai/international-53327532