การประมูลงานศิลปะนั้นเปรียบเสมือนโลกที่เต็มไปด้วยความลับ ทำให้เป็นช่องโหว่ให้กับขบวนการฟอกเงิน
สำหรับมหาเศรษฐีหลายคน การเข้าร่วมงานประมูลงานศิลปะเป็นเรื่องของความสุขทางใจ ขณะที่อีกหลายคนเชื่อว่า การครอบครองงานศิลปะมูลค่ามหาศาลคือการลงทุน เก็งกำไรเพื่ออนาคต แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เห็นว่า การทุ่มเงินซื้องานศิลปะเป็นอีกวิธีการฟอกเงินที่ได้ผล
และนี่คือกรณีตัวอย่างจากสองพี่น้องตระกูลโรเทนเบิร์ก ที่ถูกทางการสหรัฐฯ ตรวจสอบด้วยข้อกล่าวหาว่า พวกเขาใช้ช่องโหว่จากการประมูลงานศิลปะเป็นช่องทางการฟอกเงิน
พี่น้องตระกูลโรเทนเบิร์กคือใคร ฟอกเงินผ่านงานศิลปะอย่างไร?
นายอาร์คาดีและนายบอริส โรเทนเบิร์ก เป็นเจ้าของ SMP Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจในรัสเซีย ปัจจุบันถูกจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 1,730 ของโลก โดยทั้งคู่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยนายบารัค โอบามา คว่ำบาตรเมื่อปี 2557 เนื่องจากพบมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และเพื่อเป็นการตอบโต้รัสเซียที่ยึดไครเมีย
จากการสอบสวนโดยวุฒิสภาสหรัฐฯ พบว่า พี่น้องคู่นี้อาศัยความลับของโลกศิลปะในการซื้องานศิลปะราคาแพงหลังถูกคว่ำบาตร โดยพวกเขาทุ่มเงินมากกว่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 560 ล้านบาทในการซื้อขายงานศิลปะ
ในรายงานยังพบอีกว่าตระกูลโรเทนเบิร์กยังเกี่ยวข้องกับการซื้อขายอื่นๆ เป็นจำนวนเกือบ 3,000 ล้านบาท แม้จะถูกรัฐบาลสหรัฐฯ คว่ำบาตรแล้ว
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้มีอิทธิพลชาวรัสเซียได้ติดต่อกับนายเกรกอรี บอลท์เซอร์ ชาวอเมริกัน ที่เป็นเจ้าของชมรมศิลปะบอลท์เซอร์ (BALTZER) ในกรุงมอสโก เมืองหลวงรัสเซีย เพื่อเป็นตัวแทนในการซื้องานศิลปะจากบริษัทประมูล อย่างไรก็ตาม นายบอลท์เซอร์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดพร้อมกล่าวว่าทางบริษัทได้ทำการซื้อขายภาพวาดโดยไม่ได้ละเมิดกฎหมายการคว่ำบาตรแต่อย่างใด พร้อมปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จากการค้นพบครั้งนี้ ทำให้ทางการสหรัฐฯ ตั้งคำถามว่า ถ้าพี่น้องตระกูลโรเทนเบิร์กสามารถใช้เงินนับล้านเพื่อเสพสุขได้ ทั้งๆ ที่ถูกคว่ำบาตรจากทางการสหรัฐฯ แล้ว พวกเขาอาจจะมีหนทางอื่นที่จะเข้าถึงเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาได้เหมือนกัน ด้านบริษัทในประเทศรัสเซียที่อยู่ภายใต้ของตระกูลโรเทนเบิร์กไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้
ใครๆ ก็ใช้งานศิลปะฟอกเงินจริงหรือ?
“นี่เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น” ผู้สืบสวนคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว CNN ถึงการปฏิบัติฟอกเงินที่เกิดขึ้นในโลกศิลปะ
ซึ่งนอกจากกรณีของสองพี่น้องตระกูลโรเทนเบิร์กแล้ว ในปี 2556 มีกรณีพัสดุปริศนาถูกขนส่งจากกรุงลอนดอนมายังท่าอากาศยานเจเอฟเค ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยในพัสดุระบุเป็นรูปภาพไร้ชื่อมูลค่าราว 3 พันบาท
อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดพัสดุ พวกเขาก็พบรูปภาพจริง แต่มันไม่ใช่รูปภาพที่มีมูลค่าเพียง 3 พันบาท เพราะมูลค่าจริงของมันสูงเกือบ 250 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านี่เป็นปฏิบัติการพยายามฟอกเงินจากประเทศบราซิล โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดภาพดังกล่าวและส่งกลับประเทศบราซิล
ทำไมงานศิลปะถึงใช้ฟอกเงินได้ง่าย?
การประมูลงานศิลปะมีช่องโหว่ทางกฎหมาย ต่างกับการขายหุ้นหรือการโอนเงินทั่วไป เพราะการซื้อขายงานศิลปะจะไม่เปิดเผยตัวตนของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ผู้ซื้อสามารถจ่ายเงินสดเพื่อซื้อผลงานศิลปะได้เลยโดยไม่ต้องลงทะเบียน และบริษัทประมูลงานศิลปะหลายแห่งก็ไม่ได้มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการซื้อขายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการผิดกฎหมายหรือไม่
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมศิลปะถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดในสหรัฐฯ โดยบริษัท “คริสตี้” และ “ซัทเทบีส์” ซึ่งเป็นบริษัทจัดประมูลงานศิลปะขนาดใหญ่ แม้จะมีกฎในการป้องกันการฟอกเงิน แต่มาตรการของบริษัทยังไม่เข้มงวดพอ และง่ายต่อการหลีกเลี่ยงข้อบังคับดังกล่าว
งานศิลปะจึงเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการจะฟอกเงินหรือเลี่ยงภาษี เพราะงานศิลปะไม่มีอายุขัยและสามารถจัดเก็บที่ไหนก็ได้โดยไม่มีกำหนด ดังนั้นผู้ที่ต้องการฟอกเงินสามารถซื้องานศิลปะมูลค่าสูงและเก็บไว้ในท่าเรือสักแห่งได้ เป็นเหมือนตู้เซฟที่ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด
การซื้อขายงานศิลปะเติบโตขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยจากรายงานของปีที่แล้วพบว่า มีการซื้อขายงานศิลปะเป็นเงินกว่า 64,000 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นประมาณเกือบ 2 ล้านล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริการ้อยละ 44
โดยในปีที่แล้วบริษัท “ซัทเทบีส์” เพียงบริษัทเดียวทำเงินจากการประมูลกว่า 5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 150 ล้านบาท และหากย้อนกลับไปในปี 2560 บริษัท “คริสตี้” ได้ขายงาน “ซัลวาตอร์ มุนดี” ของจิตรกรชื่อดัง “ลีโอนาร์โด ดาวินชี” เป็นมูลค่า 450 ล้านดอลลาร์หรือประมาณเกือบ 14,000 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขการซื้อขายที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
เจ้าหน้าที่สอบสวนการฟอกเงินเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ลงมือเพิ่มมาตรการต่างๆ เช่นให้กิจการที่เป็นคนกลางดูแลจัดการซื้อ, ให้สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (OFAC) และกระทรวงการคลัง อบรมบริษัทการจัดซื้องานศิลปะให้รู้ทันและหลีกเลี่ยงการซื้อขายที่มีจุดประสงค์เพื่อฟอกเงิน และสุดท้ายขอให้ทางกระทรวงการคลังเก็บข้อมูลของผู้ที่ลงทะเบียนเป็นเจ้าของชิ้นงานและนำข้อมูลไปมอบให้กับบริษัทที่ก่อตั้งหรือทำการในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้โลกของการซื้อขายชิ้นงานศิลปะเป็นโลกที่ขาวสะอาด
ผู้เขียน : จอน
ที่มา : CNN, NYTimes, Forbes
————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / 10 สิงหาคม 2563
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/1905545