รัฐมนตรีเลบานอนประกาศลาออกทั้งคณะ ไม่ถึงสัปดาห์หลังเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุต ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 220 ศพ และการประท้วงรุนแรงติดต่อกันหลายวัน
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นายกรัฐมนตรี ฮันซัน ดิอับ แห่งเลบานอน ประกาศลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับคณะรัฐมนตรีของเขาทั้งคณะแล้วในคืนวันจันทร์ที่ 10 ส.ค. 2563 โดยระบุว่าสาเหตุมาจากการระเบิดในกรุงเบรุต ซึ่งเขาระบุว่าเป็นหายนะที่ไม่อาจประเมินความเสียหายได้
ในแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ นายดิอับประณามกลุ่มนักการเมืองช้ันปกครอง สนับสนุนระบบการทุจริตคอร์รัปชันที่ใหญ่โตยิ่งกว่าระดับประเทศ “เราต่อสู้อย่างกล้าหาญและมีเกียรติ” นายกรัฐมนตรี พูดถึงตัวเองกับคณะรัฐมนตรีของเขา “แต่ระหว่างเรากับความเปลี่ยนแปลงมีกำแพงใหญ่ที่แข็งแกร่งขวางอยู่”
นายดิอับยังเปรียบเทียบเหตุระเบิดเมื่อวันอังคารที่ 4 ส.ค. ว่าเป็นแผ่นดินไหนที่สั่นสะเทือนเลบานอน ทำให้รัฐบาลของเขาต้องลาออก “วันนี้ เราทำตามความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องให้รับผิดชอบต่อหายนะที่ซุกซ่อนมากว่า 7 ปี และความต้องการของพวกเขาที่อย่างให้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง”
ก่อนหน้าที่นายดิอับจะมีแถลงการณ์ กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากออกมาประท้วงอย่างรุนแรงหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในกรุงเบรุต โดยผู้ชุมนุมหลายสิบคนขว้างปาก้อนหิน, ดอกไม้ไฟ และระเบิดขวาดใส่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงซึ่งตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา ผู้ประท้วงบางคนยังพยายามรื้อกำแพงนอกจัตุรัสรัฐสภาด้วย
ทั้งนี้ เลบานอนกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษอยู่แล้ว กอปรกับการระบาดของไวรัสโควิด-19, การคอร์รัปชันและการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล
แต่เหตุระเบิดที่กรุงเบรุต ซึ่งมีสาเหตุจากการละเลยปล่อยให้สารแอมโมเนียมไนเตรทถึง 2,750 ตันเก็บอยู่ที่ท่าเรือใกล้เขตที่อยู่อาศัยมานานถึง 7 ปี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 220 ศพ บาดเจ็บร่วม 6,000 ราย และสูญหายอีก 110 คน กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาวเลบานอนออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลอีกครั้ง
เมื่อเดือนตุลาคมปี 2562 ชาวเลบานอนก่อการลุกฮือทั่วประเทศขับไล่รัฐบาลของนายรัฐมนตรี ซาอัด อัล-ฮารีรี ได้สำเร็จ จากนั้นในเดือนธันวาคมนายดิอับจึงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยนักวิชาการและได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ รวมทั้งกลุ่มฮีซบอลเลาะห์
หลังจากนี้ คณะรัฐสภาเลบานอนจะทำการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่เนื่องจากการเมืองของเลบานอนมีการแบ่งฝ่ายไปตามกลุ่มศาสนาขนาดใหญ่อย่างชัดเจน จนทำให้เกิดระบบการรักษาอำนาจเพื่อฝักฝ่ายตนเอง และระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นรากเหง้าอุปสรรคในการบริหารประเทศ จึงไม่แน่ชัดว่า การลาออกจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะแก้ปัญหาให้เลบานอนได้หรือไม่
————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / 11 สิงหาคม 2563
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/1907864