สถานการณ์ประเทศมาลีตึงเครียด หลังประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีของประเทศ ถูกทหารจับกุมตัวเอาไว้ ท่ามกลางการประท้วงขับไล่ผู้นำ
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า โฆษกรัฐบาลมาลียอมรับกับพวกเขาในวันอังคารที่ 18 ส.ค. 2563 ว่า ประธานาธิบดี อิบราฮิม บูบาการ์ เคอิตา กับนายกรัฐมนตรี บูบู ซิสเซ ถูกทหารกบฏจับกุมตัวเอาไว้ ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุยิงกันที่ ‘คาติ แคมป์’ ค่ายทหารสำคัญซึ่งห่างจากกรุงบามาโก เพียง 15 กม. เมื่อช่วงเช้า
นายกรัฐมนตรี บูบู ซิสเซ กับ ประธานาธิบดี อิบราฮิม บูบาการ์ เคอิตา
เหตุยิงกันดังกล่าว ทหารชั้นผู้น้อยนำโดย พันเอก มาลิค ดิว รองผู้บัญชาการ คาติ แคมป์ กับนายพล ซาดิโอ คามารา ผู้บัญชาการอีกคน ร่วมกันจับกุมตัวผู้บังคับบัญชาแล้วยึดค่ายทหารเอาไว้ จากนั้นจึงนำกำลังทหารแตกแถวเดินทางไปยังเมืองหลวง ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้คนที่มาชุมนุม เรียกร้องให้ประธานาธิบดี เคอิตา ลาออก
ในช่วงบ่าย กลุ่มทหารแตกแถวก็บุกเข้าไปในบ้านพักประธานาธิบดีและจับกุมนายเคอิตาและนายกฯ ซิสเซ ไป โดยยังไม่แน่ชัดว่า มีทหารร่วมก่อการในครั้งนี้กี่นาย เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของพวกเขา ที่มีรายงานขัดแย้งกัน โดยสื่อบางกระแสระบุว่า พวกเขาก็เหตุเพราะความไม่พอใจเรื่องค่าแรง
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของทหารครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ชาวมาลีกำลังเรียกร้องให้ประธานาธิบดี เคอิตา ลาออก โดยสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ประชาชนออกมาชุมนุมจำนวนมากตามท้องถนนรอบอนุสาวรีย์อิสรภาพ ในกรุงบามาโก จุดไฟเผาอาคารของกระทรวงยุติธรรมด้วย และอีกหลายพันคนไปรวมตัวที่หน้าบ้านของนายเคอิตา ซึ่งจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปชิงข้าวของในบ้านของนายคาริม ลูกชายของนายเคอิตา
ความไม่พอใจในตัวประธานาธิบดีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อครหาเรื่องการคอร์รัปชัน, การบริหารประเทศที่ผิดพลาด เมื่อเดือนมีนาคม ความขัดแย้งเรื่องผลการเลือกตั้งดังกล่าวก็ทำให้เกิดความรุนแรงในหลายเขตทั่วเมืองหลวง และเมืองอื่นๆ ต่อมาในเดือนพฤษภาคมศาลรัฐธรรมนูญกลับผลการเลือกตั้งรัฐสภา ปูทางให้พรรคของนายเคอิตาครองเสียงข้างมาก ยังทำให้ประชาชนโกรธแค้นขึ้นไปอีก
ข่าวการทหารจับกุมตัวประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีมาลีเรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากนานาประเทศ เช่นนาย มุสซา ฟากี มาฮามัต ประธานสหภาพแอฟริกา โพสต์ทวิตเตอร์เรียกร้องให้ทหารแตกแถวปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุมทันที และเรียกร้องให้หยุดการใช้ความรุนแรงทั้งหมด
ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้นำมาลีโดยไม่มีเงื่อนไข และฟื้นฟูรัฐธรรมนูญในทันที ส่วนลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (อีโควอส) ออกมาเสนอตัวเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างทุกฝ่าย
——————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / 19 สิงหาคม 2563
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/1913252