ที่มาภาพ: captured at: https://www.youtube.com/watch?v=GBKXTx45yGE
Written by Kim
บทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง “หมอดู” กับ “นักวิเคราะห์ข่าวกรอง” ในตอนนี้เราจะอภิปรายถึงการดำเนินหนทางปฏิบัติสำคัญ 4 แนวทาง เพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของประชาคมข่าวกรองและผู้ที่พึ่งพาอาศัยการประมาณการให้ดียิ่งขึ้น
ประการแรก ควรมีการจัดตั้งองค์การข่าวกรองที่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จ (Comprehensive intelligence organizations) เพื่อบูรณาการการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการวิเคราะห์ ระบบแยกส่วนโดยมีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะเรื่อง เช่น หน่วยงานหนึ่งจัดเตรียมประเด็นทางการเมืองเท่านั้น อีกหน่วยเตรียมการทางทหารและยังมีหน่วยวิเคราะห์ทางสังคม – เศรษฐกิจ จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการสังเคราะห์รายงานอย่างเป็นอิสระ ผลผลิตของระบบที่แยกจากกันเป็นการรวบรวมรายงานเป็นตอน ๆ อาจไม่มีการวางแผนหรือมุ่งเน้นแง่มุมด้านใดด้านหนึ่งมากเกินจริง[1]
สถานการณ์อันตรายไม่แพ้กันที่ดำรงอยู่ เมื่อไม่มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่สังเคราะห์รายงานวิเคราะห์อิสระของสำนักงานต่าง ๆ ให้ดีเพียงฉบับเดียว แต่ละหน่วยงานต่างรายงานการคาดทำนายของตนไปยังผู้ตัดสินใจโดยตรง ปัญหาคือ อุปมาเหมือนคนป่วยไข้ไม่สบายแยกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เช่น ประสาทวิทยา หัวใจ กระดูก แพทย์แต่ละคนก็ตรวจรักษาและวินิจฉัยซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความงงงวย ในการตัดสินใจเลือกการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างสาขา
ประการที่สอง คัดเลือกนักวิเคราะห์ข่าวกรองทุกระดับด้วยความรอบคอบ (very carefully selected at all echelon) เนื่องจากองค์ประกอบของความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการใช้นักวิเคราะห์ที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลงและเห็นคุณค่าความเป็นไปได้ที่มีนัยสำคัญของพัฒนาการใหม่ นักวิเคราะห์ข่าวกรองจะต้องสามารถเปลี่ยนการวิเคราะห์ครั้งก่อนอย่างรวดเร็วเมื่อข้อมูลบ่งชี้ถึงความจำเป็น หากปราศจากคุณภาพที่จำเป็นของความยืดหยุ่นในการวิเคราะห์ ชะตากรรมของนักวิเคราะห์จะถูกชี้ด้วยความประหลาดใจ ซึ่งเป็นคำถามของเวลาและโอกาส
ความหยิ่งยโสทางปัญญาเป็นหนึ่งในคุณภาพที่อันตรายที่สุดของนักวิเคราะห์ ผู้ที่มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเองจะไม่มีที่อยู่ในข่าวกรอง นักวิเคราะห์ที่มีความรับผิดชอบ รอบคอบถี่ถ้วนและยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจะให้ผลลัพธ์ที่ดี การเห็นคุณค่าความผิดพลาดของคนอื่นจะพัฒนานักวิเคราะห์ข่าวกรองให้มีความระแวดระวังอยู่เสมอและตรวจสอบข้อสรุปของตนครั้งแล้วครั้งเล่า
สำหรับหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลใช้วิธีค้นหานักวิเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่นพอสมควร ซึ่งนำไปสู่การใช้เทคนิคต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับลายมือ (graphology) การวิเคราะห์ลายมือทางวิทยาศาสตร์ การประเมินทางจิตวิทยา การทดสอบบุคลิกภาพของกลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นขั้นตอนมาตรฐานในการคัดสรรนักวิเคราะห์ข่าวกรอง
ไม่มีเรื่องไหนตรงประเด็นไปกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับนิทานแห่งการ “หลอกลวง” และ “ความกลัว” เรื่อง ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา (The Emperor’s New Clothes) เป็นที่ประจักษ์ว่าเด็กผู้ชายในโคเปนเฮเกนได้ตะโกนว่า “the Emperor is naked.” (พระราชาเปลือยกาย)[2] ไม่ได้ฉลาดไปกว่าคนอื่นที่เหลือในเมือง
หากเขาเข้าใจนัยสำคัญของการร้องตะโกน เขาอาจจะร่วมกับฝูงชนที่เหลือซึ่งละอายที่จะยอมรับว่าพวกเขาเห็นพระราชาเปลือยกาย แทนที่จะยอมรับความจริง พวกเขากลับเฝ้ามองขบวนเสด็จพระราชดำเนินและชื่นชมฉลองพระองค์ชุดใหม่เพราะกลัวจะถูกหาว่าโง่ อย่างไรก็ตาม เด็กน้อยวีรบุรุษของเราไม่เป็นหุ้นส่วนในความลับดังกล่าวจึงพูดไปโดยไม่คิดอะไร
นักวิเคราะห์ข่าวกรองจะต้องมองเด็กน้อยจากโคเปนเฮเกนเป็นต้นแบบ (prototype) พวกเขาควรจะรู้สึกว่าไม่มีข้อจำกัดในการพูดและแสดงออกถึงสิ่งที่คิดโดยไม่ถูกยับยั้ง
สถานการณ์ประท้วงรัฐบาลเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังอำนาจรัฐเผด็จการ (ซ่อนรูป) ไทยหันมาปรับกลยุทธ์ในการรับมือใหม่ด้วยเพทุบายเก่าที่เคยได้ผล คือ ยื้อเวลาและใช้รูปแบบ “โหดร้ายเยี่ยงสิงโตและเจ้าเล่ห์เยี่ยงสุนัขจิ้งจอก” ขณะที่ด้านหนึ่งทำทียอมถอยด้วยการตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้อง แต่อีกด้านก็เร่งใช้อำนาจตามกฎหมายเผด็จการจับกุมแกนนำหรือคนที่เชื่อว่าเป็นแกนนำอย่างจริงจัง เพื่อ “แยกหัวจากตัว” พร้อมปฏิบัติการจิตวิทยาเดิม ๆให้ “หมอดู” หรือ “ซินแส” ทางการเมืองชื่อดัง (ปกติมักเป็นแนวร่วมและเครื่องมือมอมเมาให้คนเชิดชูเผด็จการทหารเสมอมา) ออกโรงทายทักเพื่อใส่ร้ายการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและเยาวชนว่าถูกเสี้ยมและสนับสนุนโดยคนบางคนที่ “ชังชาติ”[3]
แต่ถึงอย่างไร ทั้งที่เราอาจใช้ความระมัดระวัง (ยังมีอีกมากที่สามารถทำได้ในเรื่องนี้) และแม้จะมีคำตอบการแก้ไขปัญหาองค์กร แต่ก็ไม่มีวิธีที่ง่ายเลยในการป้องกันไม่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองถูกกักขังในกรอบแนวคิด (falling captive to a concept) – (ยังมีต่อ)
————————————————-
[1] สหรัฐฯเคยมีประสบการณ์ยุ่งยากในการผลิตรายงานประมาณการข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Estimate – N.I.E) เกี่ยวกับอิหร่านในปี 1978 หลังการหารืออย่างจำกัดเกี่ยวกับข้อกำหนดขอบเขตของงาน หลายส่วนของ N.I.E ถูกร่างโดยหน่วยข่าวองค์ประกอบของประชาคมข่าวกรอง นับตั้งแต่เริ่มการมีส่วนร่วมจนถึงขั้นตอนการเชื่อมโยงรายงานในร่างฉบับแรก ไม่มีการให้เหตุผลและตั้งคำถามในข้อมสมมติฐานแต่อย่างใด…กระบวนการจัดทำ N.I.E ควรจะมีรูปแบบให้นักวิเคราะห์ท้าทายกันเอง
[2] นิทานพื้นบ้านเรื่อง ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา (The Emperor’s New Clothes) ผลงาน Hans Christian Andersen นักเขียนชาว Denmark เล่าถึงพระราชาผู้มีทรัพย์สินมากมาย แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตน สนใจแต่เรื่องเครื่องแต่งกายจนวันหนึ่งก็เบื่อเสื้อผ้าของพระองค์ จึงได้ให้คนรับใช้ประกาศหาผู้ที่สามรถออกแบบฉลองพระองค์ใหม่ให้พระองค์ แต่ไม่มีใครสามารถทำให้พระราชาพอใจ วันหนึ่งมีนักประดิษฐ์เสื้อผ้าที่นิสัยหลอกลวงต้มตุ๋นสองคนได้มาพบพระราชา โดยหวังจะได้รางวัลและบอกว่าเสื้อผ้าที่พวกเขาทำเป็นผ้าวิเศษ คนโง่ไม่สามาถมองเห็นได้ พระราชาทรงเชื่อและสวมใส่ฉลองพระองค์ชุดใหม่ เมื่อเดินออกไปข้างนอกมีเด็กชายคนหนึ่งตะโกนว่า “พระราชาเปลือยกาย” จึงรู้ว่าถูกหลอก https://th49.ilovetranslation.com/ebvhWsePOKW=d/
[3] ปัจจัยลบรุมเร้าตลาด คอลัมน์ พลวัตปี 2020 โดย วิษณุ โชติกุล ข่าวหุ้น 21 – 23 สิงหาคม 2020 หน้า 2
—————————————————–
ที่มา : https://www.ianalysed.com/2020/08/2.html