กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เตือนว่า จีนอาจพิจารณาจัดตั้งที่ตั้งทางทหารในประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และหลายประเทศในเอเชีย เอเชียกลาง และแอฟริกา พร้อมกับเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์อีกเท่าตัวในทศวรรษหน้า
สหรัฐฯ ประเมินจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในความครอบครองของจีนในปัจจุบันไว้ที่ตัวเลขราว 200 ต้นๆ เวลานี้ จีนปล่อยอาวุธนิวเคลียร์โดยใช้ขีปนาวุธทิ้งตัวได้ทั้งจากภาคพื้นและทะเล และกำลังพัฒนาขีดความสามารถในการปล่อยทางอากาศ
เมื่อวันอังคารที่แล้ว (2 กันยายน) เพนตากอนเผยแพร่รายงานประจำปี คาดการณ์ถึงการสร้างเสริมแสนยานุภาพของจีนว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือพีแอลเอ มีขีดความสามารถทางทหารทัดเทียมกับกองทัพอเมริกันแล้ว และบางด้านยังเหนือกว่าด้วยซ้ำ
รายงาน ชื่อ ‘Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China 2020’ บอกว่า จีนกำลังมุ่งที่จะจัดตั้งโครงข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร ครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย และพัฒนาขีปนาวุธที่ยิงได้ทั้งจากภาคพื้น ในทะเล และบนอากาศ
รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ชาด ซบราเกีย บอกว่า พัฒนาการเหล่านี้เป็นเรื่องน่าวิตกอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯ เพราะจีนแทบไม่มีความโปร่งใส ทั้งในด้านเจตนาทางยุทธศาสตร์ และอาวุธนิวเคลียร์
คุมเส้นทางทั่วเอเชีย
รายงานซึ่งส่งถึงสภาคองเกรสฉบับนี้ บอกว่า จีนมีแนวโน้มที่จะพิจารณาเข้าไปจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านลอจิสติกในไทย เมียนมา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ศรีลังกา และประเทศอื่นๆในแอฟริกาและเอเชียกลาง
รายงานที่มีความหนา 200 หน้า ระบุว่า ที่ผ่านมา จีนได้ทาบทามไปยังนามิเบีย วานูอาตู และหมู่เกาะโซโลมอนแล้ว ความต้องการที่จะแสดงแสนยานุภาพของปักกิ่งดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดจากการจัดตั้งฐานทัพถาวรที่ประเทศจิบูติบนแหลมแอฟริกาเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารนอกประเทศแห่งแรกของจีน
ฐานทัพที่จิบูตินับเป็นฐานทัพโพ้นทะเลเพียงแห่งเดียวของจีนนับจนถึงขณะนี้ ปักกิ่งบอกว่า ที่ตั้งทางทหารดังกล่าวมีไว้ใช้ในภารกิจด้านมนุษยธรรมและให้ความคุ้มครองแก่การลงทุนและสาธารณูปโภคของจีนในภูมิภาคนั้น เนื่องจากจีนมีพลเมืองเข้าไปพำนักในแอฟริกาประมาณ 1 ล้านคน และในตะวันออกกลางราว 500,000 คน
ในเอเชีย สหรัฐฯ เชื่อว่า ปักกิ่งได้ลงนามข้อตกลงลับกับรัฐบาลพนมเปญแล้ว เพื่อเปิดทางให้กองทัพจีนเข้าไปใช้ฐานทัพเรือที่เมืองท่าสีหนุวิลล์ แต่ประเทศทั้งสองยังคงปฏิเสธ
เวลานี้ จีนเข้าไปลงทุนพัฒนาท่าเรือพลเรือนทั่วมหาสมุทรอินเดียแล้วหลายแห่ง ด้วยความมุ่งหวังว่า สักวันหนึ่ง กองทัพเรือของจีนอาจได้ใช้ประโยชน์ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เรียกกันว่า ‘ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก’
นักวิเคราะห์มองว่า ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่จะโอบล้อมคู่แข่งอย่างอินเดีย อย่างไรก็ดี จีนยืนยันว่า ไม่เคยมีเจตนาที่จะขยายดินแดน หรือครองความเป็นใหญ่
‘นิวเคลียร์เพื่อสันติ’ จริงหรือ
รายงานของเพนตากอนยังบอกด้วยว่า ปักกิ่งจะเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์ในคลังแสงขึ้นอีกอย่างน้อยเท่าตัวภายในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ ในขณะที่จีนได้พัฒนากำลังทางเรือจนแซงหน้าอเมริกาไปแล้ว
ปัจจุบัน พีแอลเอมีขีดความสามารถพอฟัดพอเหวี่ยง หรือเหนือกว่ากองทัพสหรัฐฯในหลายด้าน เช่น การต่อเรือ ขีปนาวุธทิ้งตัวและขีปนาวุธร่อนชนิดยิงจากภาคพื้น และระบบป้องกันภัยทางอากาศ เขี้ยวเล็บเหล่านี้สร้างเสริมขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสกัดกั้นหรือเอาชนะสหรัฐฯ หากเข้าแทรกแซงในกรณีไต้หวัน
สหรัฐฯ ประเมินจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในความครอบครองของจีนในปัจจุบันไว้ที่ตัวเลขราว 200 ต้นๆ เวลานี้ จีนปล่อยอาวุธนิวเคลียร์โดยใช้ขีปนาวุธทิ้งตัวได้ทั้งจากภาคพื้นและทะเล และกำลังพัฒนาขีดความสามารถในการปล่อยทางอากาศ
รองผู้ช่วยรัฐมนตรีของเพนตากอน บอกว่า ถึงแม้จีนยังมีหัวรบนิวเคลียร์น้อยกว่าสหรัฐฯ มาก แต่การพัฒนาในอัตราเร่งสะท้อนว่า จีนได้เปลี่ยนหลักนิยมจากการป้องปรามขั้นต่ำเป็นการแข่งขันแบบเต็มตัวแล้ว เพราะจีนตั้งเป้าที่จะครองสถานะมหาอำนาจระดับโลกให้ได้ภายในปี 2049
รายงานบอกว่า ปัจจุบัน จีนมีกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำรวมกัน 350 ลำ ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ มี 293 ลำ ซึ่งวอชิงตันมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 355 ลำในอนาคต
เพนตากอนบอกด้วยว่า จีนได้เปรียบตรงที่ไม่ถูกมัดมือด้วยข้อตกลงควบคุมขีปนาวุธภาคพื้นเหมือนอย่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย และถึงแม้สหรัฐฯ ยังคงเหนือกว่าชาติใดๆในเรื่องของขีปนาวุธทิ้งตัวชนิดยิงจากเรือดำน้ำ กับขีปนาวุธชนิดปล่อยจากอากาศยาน แต่จีนกำลังไล่กวดในส่วนหลังนี้
รายงานบอกอีกว่า จีนต้องการสำแดงกำลังไปทางตะวันออกสู่แปซิฟิกพ้นไต้หวันออกไป และต้องการกดดันให้สหรัฐฯ ล่าถอยออกไปจากภูมิภาค
สภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ในย่านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเปลี่ยนรูปแปรโฉมด้วยการขับเคี่ยวระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มหาอำนาจเกิดใหม่จะขุดรากถอนโคนมหาอำนาจเดิมหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร คือ ปมปริศนาบนกระดานยุทธศาสตร์โลกนับจากนี้ไป
——————————————————-
ที่มา : The Momentum / 6 กันยายน 2563
Link : https://themomentum.co/us-china-military-base/