ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 ให้ความหมายคำว่า “การบ่อนทำลาย” (subversion) คือ การกระทำใด ๆ ที่มุ่งก่อให้เกิดความแตกแยก ความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่อง อันจะนำไปสู่ความไม่สงบ หรือความอ่อนแอภายในชาติ หรือต่อสภาพทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา หรือทางใดทางหนึ่ง โดยวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือล้มล้างสถาบันการปกครองของประเทศ หรือเพื่อทำลายความจงรักภักดีของประชาชนในชาติต่อสถาบันของชาติ หรือเพื่อประโยชน์แก่รัฐต่างประเทศ การบ่อนทำลายนับเป็นกลวิธีที่สามารถนำมาใช้กับเป้าหมายพื้นฐานทุกกลุ่มของประเทศได้ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อทำลายความเป็นรัฐ หรือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือทำลายสถาบันแห่งชาติ
เดิมการบ่อนทำลายเป็นยุทธวิธีที่ต้องดำเนินการอย่างปิดบังในพื้นที่ควบคุมของฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมาย การบ่อนทำลายจึงเป็นการดำเนินการที่จะมีเพียงผู้ให้การสนับสนุนกับผู้ปฏิบัติที่ได้ทราบถึงภารกิจ เพราะเป็นภารกิจที่เสี่ยงภัยอันตรายจนอาจถึงชีวิตของผู้ปฏิบัติ ซึ่งต้องจำกัดการรับทราบได้เท่าที่จำเป็น เนื่องจากการแฝงเข้าไปค้นหาจุดอ่อนของฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมาย ทั้งที่ฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมายอาจมีความเข้มแข็งเท่าเทียมกันหรือสูงกว่า ต่อเมื่อการเข้าไปสร้างความอ่อนแอ แตกแยกจนประสบผลแล้ว จึงจะดำเนินการทำลายอำนาจของฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมายให้สูญสลาย วิธีการบ่อนทำลายนี้อาจไม่ทำลายหรือส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน สิ่งก่อสร้าง หรือทำให้สูญเสียชีวิต เช่น วิธีการต่อสู้อื่นเหมือนอย่างการก่อวินาศกรรม หรือการก่อการร้าย หรือการทำสงครามสู้รบ
การบ่อนทำลายเป็นวิธีที่ยากต่อการป้องกันหรือแม้แต่การวางมาตรการป้องปราม เพราะเป็นการสร้างหรือนำอคติของมนุษย์ที่มีต่อกันมาเป็นแนวทางในการทำลายหรือทำร้ายระหว่างกัน ซึ่งเป็นกลวิธีที่ใช้มานับแต่สมัยพุทธกาล จะเห็นได้จากคำสอนเรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์ ซึ่งเล่าถึงกลวิธีเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม เริ่มจากความต้องการขยายดินแดนและนำไปสู่การสู้รบระหว่างแคว้นโบราณ 2 แคว้นในอินเดีย คือ แคว้นมคธกับแคว้นวัชชี ที่ต่างไม่ประสบผลแพ้-ชนะต่อกัน ฝ่ายแคว้นมคธจึงใช้วิธีบ่อนทำลายแคว้นวัชชี ด้วยการทำอุบายส่งวัสสการพราหมณ์ ปุโรหิตแห่งแคว้นมคธ เข้าไปยุยงให้กลุ่มกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี แตกความสามัคคีจนแคว้นวัชชีอ่อนแอลง แคว้นมคธจึงส่งกองทัพเข้ายึดครองได้สำเร็จ
การทำการบ่อนทำลายจำเป็นต้องอาสัยสภาพพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินการ เริ่มจากสภาพทางการเมืองภายในประเทศ นับเป็นเป้าหมายหลักของการบ่อนทำลาย หากสามารถทำให้สภาพการเมืองภายในประเทศอ่อนแอ การเข้าควบคุมจะกระทำได้โดยง่าย โดยมักเริ่มด้วยการสร้างความรู้สึกขาดความเป็นธรรม ซึ่งต่อไปจะส่งผลสืบเนื่องให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกภายในกลุ่มประชาชน และระหว่างประชาชนกับฝ่ายปกครอง ซึ่งได้แก่ คณะรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทั้งจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ รวมทั้งสถาบันต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ
สภาพพื้นฐานต่อมาคือ สภาพทางการทหาร ด้วยการสร้างความรู้สึกแตกแยกภายในกลุ่มทหารหรือระหว่างเหล่าทัพหรือกับกลุ่มอื่นๆ เช่น ตำรวจหรือประชาชน โดยก่อให้เกิดความรู้สึกขาดความเคารพนับถือ และทำให้เสื่อมการถือปฏิบัติตามะเบียบวินัย สาเหตุที่จะก่อให้อคติเหล่านี้มาจากความเหลื่อมล้ำในการแต่งตั้งเลื่อนยศหรือตำแหน่งหน้าที่ หรือสร้างความรู้สึกขัดแย้ง เลื่อมล้ำระหว่างทหารกับข้าราชการ หรือระหว่างทหารกับตำรวจ โดยเฉพาะการสร้างและเผยแพร่ข่าวสารโจมตีกลุ่มทหาร จนประชาชนหมดความเชื่อถือ เช่น กรณีการจัดสรรงบประมาณของประเทศ ให้แก่ฝ่ายทหารสำหรับใช้จ่ายเพื่อการป้องกันประเทศมากเกินความจำเป็น เป็นต้น
สภาพพื้นฐานทางการทหารนี้ยังถือว่ามีความสำคัญต่อการบ่อนทำลายในสังคมประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น สภาพทางเศรษฐกิจ มีความสำคัญกว่า ด้วยการสร้างความรู้สึกขาดความเป็นธรรมและถูกเอาเปรียบทางแรงงาน จนกลายเป็นความไม่พอใจหรืออคติระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือสร้างข่าวสารให้เกิดความรู้สึกขาดความมั่นใจในการลงทุน การบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มุ่งการสร้างข่าวสารด้านความขาดแคลนที่ส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชน ซึ่งเมื่อเกิดความรู้สึกคล้อยตามหรือเริ่มขาดความเชื่อต่อฝ่ายปกครองแล้ว ย่อมจะเกิดการเคลื่อนไหวที่สืบเนื่องต่อไปตามจุดประสงค์ของการบ่อนทำลายที่ตั้งไว้ได้ เช่น การเสนอข่าวสารเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยข่าวสารความแห้งแล้งนี้อ้างอิงพร้อมกับข้อมูลความเป็นจริงที่เกิด ณ ขณะนั้น เนื่องจากช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงปลายหน้าแล้ง ฉะนั้น ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ตั้งแต่เดือนกันยายนย่อมลดน้อยลงมาก เพราะมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมาตลอด เมื่อปรากฎข่าวสารการขาดแคลนน้ำขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและความรู้สึกขัดแย้งไม่พอใจต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะเกษตรกร
ส่วนสภาพสังคมจิตวิทยาจะไม่ส่งผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้เวลาสะสมผลลัพท์ เนื่องจากเป็นการก่อให้เกิดความสับสนทางความความคิดและความรู้สึกขัดแย้งในสถาบันครอบครัว ศาสนา หรือขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือแม้แต่การสร้างค่านิยมที่เป็นผลในด้านทำลายวิถีการดำรงชีวิตแบบเดิม ตัวอย่างที่เห็นอยู่ในสังคมประเทศไทย เช่น ผลความขัดแย้งจากกรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ประมุขทางพุทธศาสนา ถึงแม้จะไม่เกิดการใช้กำลังความรุนแรงขึ้นก็ตาม แต่ข่าวสารที่เผยแพร่สร้างความรู้สึกไม่พอใจระหว่างกลุ่มประชาชนต่างๆ เหมือนความรู้สึกแบ่งแยกที่เคยเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ระหว่างฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งนี้เนื่องจากตำแหน่งของสมเด็จพระสังฆราชมักมาจากฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เป็นต้น
ในปัจจุบันการดำเนินการบ่อนทำลายไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำระหว่างรัฐต่อรัฐโดยตรง แต่จะกระทำต่อเป้าหมายใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชน หรือต่อประชาชน โดยจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงรัฐได้ในภายหลัง วิธีดำเนินการจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายที่ต้องการ แล้วจึงศึกษาข้อมูลที่เป็นจุดอ่อนหรือความบกพร่องของฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมาย จากนั้นจึงวางแผนการให้ชัดเจนก่อน ทั้งต้องเตรียมรับว่า เป็นวิธีการที่อาจต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการยาวนานกว่าจะบรรลุผล แต่หากประสบผลสำเร็จแล้ว จะสามารถทำการเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ โดยแทบไม่มีโอกาสฟื้นฟูกลับคืนสู่อำนาจหรือมีสภาพการเท่าเดิมได้ อย่างไรก็ดี สภาพในปัจจุบัน รูปแบบของการบ่อนทำลายเปลี่ยนแปลงจากการบั่นทอนความน่าเชื่อถือกลายเป็นความรู้สึกรังเกียจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่อาจกลายไปสู่ความขัดแย้งหรือต่อต้านกันจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมปกติทั่วไป ประกอบกับพัฒนาการของวิทยาการสมัยใหม่ โดยเฉพาะระบบสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร ที่สามารถกระจายข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุม จึงนับเป็นเครื่องมืออย่างดียิ่งที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินการบ่อนทำลาย ด้วยสาเหตุจากวิทยาการเหล่านี้ จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการบ่อนทำลายรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างปิดบังจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งต้องมีกลุ่มให้การสนับสนุน แต่จากวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งทำให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งควบคุมหรือพิสูจน์ทราบการเผยแพร่ได้โดยยาก โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ทำให้สามารถนำข้อมูลข่าวสาร ซึ่งรวบรวมจากแหล่งข่าวเปิดที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องต่างๆ มาสร้างแรงจูงใจหรือความเชื่อให้แพร่กระจาย จนส่งผลกระทบกับฝ่ายตกที่เป็นเป้าหมาย และล้มสลายไปด้วย
——————————————————
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร / 21 ตุลาคม 2563
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน