การประกาศของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (FreeYouth) และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพิ่มช่องทางการติดตามนอกจากเพจใหม่แล้ว ไปยังช่องทางของแอปพลิเคชัน Telegram จนทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นมาอย่างฉับพลันว่า Telegram คืออะไร?
อันที่จริงแล้ว Telegram เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมานานแล้ว โดยเริ่มปล่อยดาวน์โหลดครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2013 จากวันนี้ก็เป็นเวลา 7 ปีกว่าที่แอปพลิเคชันนี้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
พาเวล ดูรอฟ
Telegram ก่อตั้งโดยทีมนักพัฒนา 3 คน ได้แก่ นิโคไล ดูรอฟ, พาเวล ดูรอฟ และอักเซล เนฟฟ์ โดยที่ พาเวล ดูรอฟ รับหน้าที่เป็นซีอีโอ
จุดมุ่งหมายของแอปพลิเคชัน Telegram โดยหลักแล้วมีเพียงข้อเดียว นั่นคือ พวกเขาต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันที่แม้แต่สายลับรัสเซียไม่สามารถ “แฮก” ได้ เนื่องจากในอดีตที่ครั้งหนึ่ง พาเวล ดูรอฟ เคยเป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียที่มีชื่อว่า VKontakte หรือ VK ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลรัสเซียใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการติดต่อสื่อสาร จนนำมาสู่การถูก Mail.ru บริษัทที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซียเข้ามาแทรกแซง และซื้อธุรกิจโซเชียลมีเดีย VK ไปในที่สุด
ก่อนที่พาเวลจะตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดที่รัสเซียและเขาได้นำเงินจากการขาย VK เพื่อมาก่อตั้ง Telegram โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
จุดเด่นของ Telegram อยู่ตรงที่การเป็นแอปพลิเคชันที่มีการเข้ารหัส และการเก็บข้อมูลไว้บนคลาวด์ พร้อมกันนี้ พาเวล ดูรอฟ ยืนยันด้วยว่า แอปพลิเคชัน Telegram ของเขา จะเป็นแอปพลิเคชันที่จะไม่มีการหากินด้วยการเปิดรับโฆษณาภายในแอปพลิเคชัน โดยผู้ก่อตั้งจะไปหานักลงทุนที่สนใจเพื่อให้การสนับสนุนด้วยตัวเอง
ทางด้านหน้าตาของแอปพลิเคชัน Telegram มีความคล้ายกับแอปพลิเคชัน Whatsapp เพียงแต่ “ธีม” ของแอปเป็นคนละสี โดย Telegram ใช้สีฟ้าเป็นหลัก ส่วน Whatsapp เป็นสีเขียว
ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน Telegram เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อต่อต้านรัฐบาล ทั้งในฮ่องกงและเบลารุส โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการส่งข้อความแบบเข้ารหัส พร้อมกับใช้ VPN ในการกระจายข่าวสารและการจัดตั้งกลุ่มผู้ชุมนุม
ในการประท้วงของฮ่องกงที่มีต่อรัฐบาลจีนนั้น Telegram เคยออกประกาศว่าจะไม่ส่งข้อมูลผู้ใช้ชาวฮ่องกงให้กับรัฐบาลฮ่องกง จนกว่าที่จะมั่นใจว่าจะไม่มีการแทรกแซงใดๆ จากรัฐบาลจีนในฮ่องกง
ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2019 ในช่วงที่การชุมนุมในฮ่องกงกำลังคุกรุ่น ยอดดาวน์โหลด Telegram เพิ่มขึ้นถึง 323% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดดาวน์โหลดในฮ่องกง 110,000 ครั้ง มียอดดาวน์โหลดรวมไปแล้ว 1.7 ล้านครั้ง จากทั่วโลก 365 ล้านครั้งในช่วงนั้น โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของ Telegram ที่มียอดผู้ใช้งานสูงขึ้นในแต่ละประเทศ เกิดขึ้นเมื่อมีแอปฯ คู่แข่งถูกแบน เช่นในบราซิล เมื่อปี 2015 ที่แบน WhatsApp 48 ชั่วโมง มีคนใช้ Telegram รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 5.7 ล้านรายภายในวันเดียว
แม้ว่าจะมีบางส่วนที่ถูกหยิบ Telegram ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อยู่บ้าง เช่นกลุ่ม ก่อการร้าย ISIS ที่มองว่าแอปพลิเคชัน Telegram มีความปลอดภัยสูง มีการเข้ารหัส ทำให้การดักจับข้อมูลกลางทางทำได้ยาก อย่างไรก็ดี Telegram ก็มีความพยายามที่จะบล็อกช่องทางการติดต่อสื่อสารของผู้ก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้แอปพลิเคชันนี้เป็นที่ซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย
ขณะที่ในประเทศรัสเซียได้เคยออกคำสั่งบล็อกไม่ให้ใช้ Telegram เนื่องจากไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเข้าถึงข้อมูลและการใช้งานของผู้ใช้
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย Telegram ได้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองตุลาคม 2020 ในไทย เพราะเป็นแอปพลิเคชันทางเลือกในการเป็นช่องทางสื่อสารเพื่อเคลื่อนไหว พูดคุย และแน่นอนคือการนัดหมายรวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางการเมือง หลังมีข่าวลือว่ารัฐจะปิดช่องทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ จึงมีการแนะนำให้ใช้ Telegram กัน โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2020 จากการตรวจสอบพบว่าในเวลาประมาณ 15.28 น. กลุ่ม FreeYOUTH ใน Telegram มีผู้เข้าร่วมแล้ว 110,607 ราย และมีคนออนไลน์พร้อมกันอยู่ 34,792 ราย
ปัจจุบัน Telegram เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานนิยมใช้มากที่สุดแอปหนึ่งของโลก โดยในเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา มีการประกาศว่า Telegram มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนราว 400 ล้านคน และตั้งเป้าว่า ปี 2022 จะมีผู้ใช้งาน 1,000 ล้านคน
ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan
————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / 18 ตุลาคม 2563
Link : https://www.thairath.co.th/news/tech/1955911