กลยุทธ์การรบแบบสับขาหลอกของรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้นฉ ที่โด่งดังมากในช่วงสงครามเย็นคือสิ่งที่เรียกว่า “มาสกิรอฟสกา” (Maskirovka) ซึ่งแปลว่าการอำพราง แต่มันมีความหมายมากกว่านั้น
สารานุกรมการทหารของสหภาพโซเวียตในปี 1944 นิยาม “มาสกิรอฟสกา” ว่าเป็นวิธีการรักษาที่มั่นในการปฏิบัติการรบโดยอาศัย “ความซับซ้อนของมาตรการเป็นการชี้นำให้ศัตรูเข้าใจผิด” โดยสรุปก็คือ “มาสกิรอฟสกา” คือการใช้กลยุทธ์อำพราง ซ่อนเร้น หรือแม้แต่การทำแบบเปิดเผยเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจผิด หรือใช้ภาษาชาวบ้านทุกวันนี้ก็คือ “ปฏิบัติการไอโอ” (Information Operations)
ในระยะหลัง “มาสกิรอฟสกา” ไม่ใช่แค่การอำพรางในสนามรบ แต่ยังรวมถึงกลยุทธ์การเมืองและการทูตรวมถึงการบิดเบือน “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับสถานการณ์และการรับรู้ที่จะส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนและความคิดเห็นทั่วโลก เพื่อบรรลุหรืออำนวยความสะดวกในด้านยุทธวิธียุทธศาสตร์ระดับชาติและเป้าหมายระหว่างประเทศ
ปฏิบัติการที่ทำให้สื่อและความเห็นสาธารณะเข้าใจผิดคือการปล่อย “ความเท็จ” เพื่อสร้าง “ความจริงใหม่” ทำให้อีกฝ่ายถูกหลอกด้วยข่าวปลอมที่คิดว่าเป็นความจริงจนกระทั่งกลายเป็นหมูในอวยของฝ่ายศัตรู
หลังสิ้นสุดสงครามเย็นแล้ว “มาสกิรอฟสกา” หายเข้ากลีบเมฆไปเพราะรัสเซียอ่อนแอลงและโลกไม่ได้เป็นสนามชิงอำนาจของประเทศใหญ่ๆ อีก จนกระทั่งถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 2010 “มาสกิรอฟสกา” ก็เริ่มคืบคลานกลับเข้ามาอีก และมันหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
รัสเซียกลับมาแข็งแกร่งมากขึ้ภายใต้การบริหารของวลาดิมีร์ ปูติน ขณะเดียวกันชาติตะวันตกก็พยายามบีบรัสเซียด้วยการรุกคืบเข้าในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซียคือยุโรปตะวันออกและอดีตประเทศในเครือสหภาพโซเวียต เหตุการณ์ที่นำไปสู่การแตกหักคือความวุ่นวายในยูเครน กรณีนี้ทำให้ “กลยุทธ์ไอโอสับขาหลอก” กลับมาผงาดอีกครั้ง
มาเรีย สเนโกวายา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทำการวิเคราะห์การทำสงครามข้อมูลข่าวสารของปูตินในกรณียูเครนเอาไว้โดยบอกว่ารัสเซียใช้รูปแบบสงครามลูกผสมขั้นสูง (Hybrid warfare) ในยูเครนตั้งแต่ต้นปี 2014 โดยใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “การควบคุมแบบสะท้อนกลับ”
“การควบคุมแบบสะท้อนกลับ” (Reflexive Control) คือวิธีการถ่ายทอดข้อมูลไปยังคู่ต่อสู้ โดยใช้ชุดข้อมูลเตรียมไว้เป็นพิเศษเพื่อโน้มน้าวให้เขาตัดสินใจล่วงหน้าโดยสมัครใจตามที่ผู้ริเริ่มปฏิบัติการกระทำต้องการให้เป็นอย่างนั้น สรุปสั้นๆ ก็คือมันคือการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่อาจจะจริงหรือเท็จก็ได้เพื่อทำให้อีกฝ่ายตัดสินใจตามที่เราได้วางหมากเอาไว้
สเนโกวายาบอกว่ารัฐบาลรัสเซียได้ใช้เทคนิคนี้อย่างชำนาญในการโน้มน้าวให้สหรัฐและพันธมิตรในยุโรปยังคงเฉยเมยต่อการเผชิญกับความพยายามของรัสเซียในการทำลายและทำให้ยูเครนแตกแยก ทั้งด้วยวิธีการทางทหารและไม่ใช่ทางทหาร สเนโกวายาได้สรุปปฏิบัติการไอโอหลักๆ ของรัสเซียในยูเครนดังต่อไปนี้
• ปฏิบัติการปฏิเสธและหลอกลวง (Denial and deception) เพื่อปกปิดหรืออำพรางการปรากฏตัวของกองกำลังรัสเซียในยูเครนรวมถึงการส่ง “ชายชุดเขียว” ในเครื่องแบบโดยไม่ติดสัญลักษณ์ทางทหารเพื่อบอกอัตลักษณ์ โดยชายชุดเขียวเหล่านี้ติดอาวุธเต็มพิกัดเข้ามาแทรกซึมในคาบสมุทรไครเมียก่อนที่รัสเซียจะผนวกพื้นที่ดังกล่าวได้สำเร็จ
• ปกปิดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลรัสเซียในความขัดแย้ง ปฏิบัติการนี้ทำให้บางคนกลัวรัสซียและยอมให้คนอื่นโน้มน้าวว่าจุดมุ่งหมายของรัสเซียในการแทรกแซงยูเครนมีจำกัดและยอมรับการคเลื่อนไหวของรัสเซียได้ในที่สุด
• พยายามทำให้มีความชอบธรรมทางกฎหมายแม้ว่าจะมีอยู่เพียงผิวเผินก็ตาม โดยปล่อยข่าวในทำนองปฏิเสธว่ารัสเซียไม่ได้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ชี้นำให้ประชาคมระหว่างประเทศยอมรับว่ารัสเซียเป็นผู้เกี่ยวข้องทางผลประโยชน์และมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นภาคีของความขัดแย้ง และปล่อยข่าวเพื่อชี้ให้เห็นถึงการกระทำของชาติตะวันตกก็เคยทำการแทรกแซงเหมือนกันโดยยกกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับยูเครน เช่น การประกาศเอกราชฝ่ายเดียวโดยโคโซโวในปี 1990 และการบุกอิรักในปี 2003
• คุกคามชาติตะวันตกด้วยแสนยานุภาพทางการทหารด้วยการส่งเครื่องบินไปบินเหนือน่านฟ้าของนาโตและประเทศนอกนาโต การข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ และการกล่าวอ้างถึงความกล้าหาญและความสำเร็จทางทหารของรัสเซียที่เกินจริง
• การใช้ความพยายามระดับโลกที่กว้างขวางและซับซ้อนเพื่อกำหนดรูปแบบอธิบายความขัดแย้งในยูเครนตามที่รัสเซียต้องการให้โลกภายนอกได้รับรู้ โดยทำผ่านสื่อทางการและโซเชียลมีเดีย หรือการบงการความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการแทรกแซงของรัสเซียเพื่อให้โลกเข้าข้างรัสเซีย
มาเรีย สเนโกวายาชี้ว่าด้วยปฏิบัติการไอโอเหล่านี้ รัสเซียสามารถป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงอย่างมีนัยสำคัญในยูเครน ทำให้รัสเซียมีเวลาสร้างและขยายการมีส่วนร่วมทางทหารในความขัดแย้ง และยังทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่มพันธมิตรนาโต้ และสร้างความตึงเครียดระหว่างภายในกลุ่มฝ่ายตรงข้ามของรัสเซียว่าจะตอบตอบโต้อย่างไร
สเนโกวายาสรุปว่ารัสเซียไม่สามารถใช้ปฏิบัติการไอโอยึดกุมยูเครนได้สำเร็จในทางยุทธศาสตร์ และผู้เขียนยังเสนอแนะให้ชาติตะวันตกตื่นตัวมารับมือกับกลยุทธนี้และปรับตัวรับมือมัน
แต่แล้วอีก 2 ปีให้หลัง “มาสกิรอฟสกา” ของรัสเซียก็แผลงฤทธิ์อีกครั้ง คราวนี้เป้าหมายคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เรียกว่าบุกถึงกล่องดวงใจของพันธมิตรนาโต้/ชาติตะวันตกกันเลยทีเดียว
รัฐบาลรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐโดยมีเป้าหมายในการโจมตีหาเสียงของฮิลลารี คลินตัน ขณะเดียวกันก็ช่วยหนุนฝ่ายของโดนัลด์ ทรัมป์ และใส่ไฟชาวอเมริกันที่แตกเป็น 2 ฝ่ายเพื่อทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันทางการเมืองและสังคมในสหรัฐ ตามรายงานของหน่วยข่าวกรองของสหรัฐการปฏิบัติการไอโอดังกล่าวได้รับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ปูตินของรัสเซีย
แม่ทัพหลักของปฏิบัติการไอโอครั้งนี้คือ สำนักงานวิจัยอินเทอร์เน็ต (IRA) ซึ่งตั้งอยู่ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กประเทศรัสเซีย เจ้าของคือเยฟกินี ปรีโกชิน เศรษฐีนักธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับปูตินจนได้รับฉายาว่า “เชฟของปูติน”
IRA มีการกิจสร้าง “ฟาร์มโทรลล์” หรือกลุ่มบัญชีที่เข้าไปก่อกวนและโน้มน้าวความคิดทางการเมืองผู้ใช้อินเทอร์เน็ต IRA ได้สร้างบัญชีโซเชียลมีเดียหลายพันบัญชีที่ปลอมตัวเป็นชาวอเมริกันที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงและวางแผนหรือส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสนับสนุนทรัมป์และต่อต้านคลินตัน และเผยแพร่บทความเท็จและการบิดเบือนข้อมูลจากสื่อที่รัฐบาลรัสเซียแล้วแพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย ยังไม่นับการส่งแฮ็คเกอร์เข้าโจมตีเว็บไซต์สำคัญๆ ทางการเมืองในสหรัฐโดยตรง ปรากฎว่าปฏิบัติการของ IRA สามารถเข้าถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายล้านคนระหว่างปี 2013 ถึง 2017
ผลลัพธ์ก็คือนอกจากทรัมป์จะชนะเลือกตั้งแล้ว รัสเซียยังทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกอย่างหนัก เกิดเป็นกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยม (ฝ่ายนิยมเดโมแครต) และกลุ่มอนุรักษ์นิยมไปจนถึงกลุ่มหัวรุนแรงและเหยียดผิว (ฝ่ายสนับสนุนทรัมป์) ความแตกแยกนี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อมาคือปี 2020 สังคมอเมริกันก็ยังไม่อาจเยียวยาความแตกแยกได้
ทรัมป์ยังถูกมองว่าอาจมีเอี่ยวกับการการแทรกแซงของรัสเซียแลถูกมองว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของปูติน แม้เขาจะทำท่าทางขึงขังกับรัสเซีย (ในบางเวลา) ก็ตาม ไม่ว่าจะเกี่ยวจริงหรือไม่ สิ่งที่เราเห็นคือพลังของปฏิบัติการไอโอที่สามารถชี้นำชะตากรรมของประเทศเป้าหมายได้
แต่รายงานของคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรสพบว่ารัฐบาลรัสเซียมีส่วนร่วมในการ “รณรงค์อย่างกว้างขวาง” เพื่อก่อวินาศกรรมการเลือกตั้งเพื่อสนับสนุนทรัมป์ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือจากสมาชิกบางคนที่เป็นที่ปรึกษาของทรัมป์เองด้วย
ที่ปรึกษาของทรัมป์บางคนเป็นกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงกลายเป็นเรื่องที่ยอกย้อนตรงที่กลุ่มชาตินิยมกลับไปร่วมมือกับต่างชาติให้เข้ามาแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยของบ้านตัวเอง เพียงเพื่อจะสนองความต้องการอำนาจของตัวเอง
ปฏิบัติการไอโอของรัสเซียในสหรัฐจึงทำสำเร็จลงได้ไม่ใช่เพราะข่าวกรองของสหรัฐเลินเล่อเท่านั้น แต่ยังเพราะมีหนอนบ่อนใส้ที่ภายนอกประกาศว่ารักชาติ แต่ก็นำเอาต่างชาติเข้ามาพัวพันกับกิจการภายในของตนเอง
ตอนนี้แผนการระยะต่อไปของปฏิบัติการไอโอรัสเซียคือการทำลายแนวร่วมนาโต้ในยุโรป ซึ่งมีทั้งการปล่อยข่าวปลอมในประเทศสหภาพยุโรปเพื่อสั่นคลอนประเทศเหล่านี้ และยังมุ่งเป้ามาที่ประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นเขตอิทธิพลของโซเวียตมาแต่เดิมแต่หันไปซบอกชาติตะวันตก-สหรัฐ
เป้าหมายที่น่าสนใจแห่งหนึ่งคือโปแลนด์ ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ หน่วยงาานความมั่นคงของโปแลนด์ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลรัสเซียอาจอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตต่อสถาบันการทหารชั้นนำของโปแลนด์เพื่อพยายามที่จะบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับโปแลนด์
ในเรื่องนี้ สตานิสลาฟ ซาริน โฆษกของผู้ประสานงานด้านบริการพิเศษซึ่งดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคงของโปแลนด์ประกาศว่าแฮกเกอร์ได้บุกเว็บไซต์ของ War Studies University ของโปแลนด์และบิดเบือนข้อมูลโดยได้โพสต์จดหมายที่หัวหน้ามหาวิทยาลัยอธิบายว่ากองกำลังของสหรัฐในโปแลนด์เป็น “การยึดครองของชาวอเมริกัน” เจ้าหน้าที่ของโปแลนด์กล่าวว่าจดหมายปลอมฉบับดังกล่าวถูกแพร่ต่อโดยเว็บไซต์ของโปแลนด์อย่างน้อยสามแห่งโดยหนึ่งแห่งมีประวัติการสนับสนุนการบิดเบือนข้อมูล
ซารินกล่าวว่าความพยายามดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลุกเชื้อไฟแห่งความไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐและโปแลนด์ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญในยุโรปกลางของสหรัฐ
เรื่องนี้มีเหตุผลมั่นคงพอควร เพราะในเดือนมิถุนายน 2019 โปแลนด์และสหรัฐตกลงที่จะส่งทหารสหรัฐ 1,000 นายไปยังโปแลนด์และในเดือนกันยายน 2019 ได้กำหนดสถานที่หกแห่งให้เป็นที่ตั้งของกองทัพสหรัฐประมาณ 4,500 นายในโปแลนด์
รัสเซียย่อมอยู่ไม่นิ่งเฉยแน่นอนกับการที่สหรัฐส่งกำลังทหารเข้าในโปแลนด์ที่ถือเป็นเสมือนปากประตูเข้าสู่เขตอิทธิพลชั้นในของรัสเซีย (ประเทศที่ติดกับโปแลนด์คือเบลารุสซึ่งใกล้ชิดกับรัสเซียอย่างมากและเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตีอีกประเทศคือยูเครน)
แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐจะแก้เกมส์ด้วยการส่งกำลังทหารเข้ามาในโปแลนด์เพิ่มเติมอีก โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2020 ทรัมป์กล่าวในงานแถลงข่าวกับผู้นำโปแลนด์ ว่าสหรัฐมีแผนที่จะย้ายกองทหารสหรัฐบางส่วนจากเยอรมนีไปยังโปแลนด์ โดยกล่าวว่า “โปแลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้นาโต้ – โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธกรณีทางการเงินของพวกเขา – และพวกเขาถามเราว่าเราจะส่งกองกำลังเพิ่มเติมบางส่วนหรือไม่ … ผมคิดว่า [เพิ่มกองทัพสหรัฐในโปแลนด์ให้มากขึ้น ] จะส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งมากไปยังรัสเซีย”
การทำแบบนี้ยิ่งหมายความรัสเซียจะยิ่งเพิ่มปฏิบัติการไอโอในโปแลนด์ให้มากขึ้น เพื่อสั่นคลอนความสัมพันธ์กับสหรัฐให้จงได้ ซึ่งโปแลนด์ก็ตระหนักในเรื่องนี้และตรวจพบเว็บไซต์ข่าวปลอมในภาษาโปล-ภาษาอังกฤษที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับรัสเซียเสนอข่าวปลอม
เช่น การปั้นข่าวว่ากองทัพโปแลนด์ติดเชื้อโควิด-19 จนกองทัพเป็นอัมพาตไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ และยังปล่อยข่าวว่กอลทัพสหรัฐมาแพร่เชื้อโควิด-19 ในยุโรปตะวันออกยังมีการเสนอข่าวในทำนองที่ว่าการปล่อยให้กองทัพนาโต้เข้ามาในช่วงการระบาดใหญ่เป็นเรื่องอันตราย แสดงให้เห็นว่านาโต้เห็นแก่ความมั่นคงมากกว่าสวัสดิภาพของโปแลนด์ และย้ำว่ารัสเซียไม่ใช่ภัยคุกคาม การส่งทหารนาโต้มายังแนวตะวันออกเป็นเรื่องไร้เหตุผล
การปล่อยข่าวไอโอแบบนี้มีโอกาสสำเร็จหากสังคมมีความกังขาเป็นทุนเดิมหรือมีความแตกแยกเรื่องความคิดทางการเมือง และโปแลนด์ก็มีจุดอ่อนในเรื่องนี้เช่นกัน สิ่งที่สังคมโปแลนด์มีในขณะนี้ก็คือความเกลียดชังกลุ่มความหลากหลายทางเพศจนถึงกับตั้งเขต “ปลอด LGBT) ประเด็นนี้โปแลนด์มีความเหมือนกับรัสเซียอย่างมากที่สั่งห้ามการเผยแพร่เรื่อง LGBT โดยถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
หากวันใดที่ความระแวงรัสเซียเบาบางลง ชาวโปลก็หันมามองรัสเซียในฐานะ “ผู้ร่วมอุดมการณ์” และมองนาโต้ในฐานะ “ส่วนเกิน” วันนั้นปฏิบัติการไอโอของรัสเซียก็จะสำเร็จ
Photo by Alexey NIKOLSKY / Sputnik / AFP
————————————
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / 2 ธันวาคม 2563
Link : https://www.posttoday.com/world/639342