จากหลายกรณีการเผยแพร่สำเนาเอกสารราชการที่กำหนดชั้นความลับ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารหรือพฤติการณ์ส่วนบุคคล เช่น กรณีนายเนติวิทย์ ภัทร์ไพศาลดำรง เปิดเผยผ่านสื่อออนไลน์ เมื่อ 21 มิถุนายน 2561 เกี่ยวกับสำเนาหนังสือตอบจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับประวัติของนายเนติวิทย์ฯ ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการพิจารณาของกรมการปกครองในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิ สมาคม ตามสั่งการของที่ประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินกิจกรรมขององค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ครั้งที่ 2/2561
ที่ให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลร่วมกับประชาคมข่าวกรอง รวบรวมพฤติกรรม ความเคลื่อนไหวของนายเนติวิทย์ฯ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคม ประเภทเยาวชน
สาระสำคัญของสำเนาหนังสือนั้นเป็นรายงานตามสั่งการของที่ประชุมข้างต้น พร้อมกับแจ้งการตรวจสอบว่า พฤติการณ์ของนายเนติวิทย์ฯ ไม่เหมาะสมหรือขัดต่อคุณสมบัติที่ดีที่จะเป็นกรรมการสมาคมฯ ข้อมูลของนายเนติวิทย์ฯ ดังกล่าวจัดประเภทเป็นข้อมูลส่วนบุคคลในครอบครองของหน่วยงานรัฐ ที่ทำเพื่อการใช้งานราชการ
ฉะนั้น วิธีดำเนินการต่อข้อมูลเหล่านี้จึงเกี่ยวข้องกับระเบียบราชการว่าด้วยสิ่งที่เป็นความลับของราชการ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 รวมถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เมื่อมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ เป็นต้น ด้วยเหตุที่เคยเกิดขึ้นจึงสมควรนำมาพิจารณาเกี่ยวกับการรองรับหรือสอดคล้องต่อกันระหว่างกฏหมาย ระเบียบกับวิธีปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ
จากที่ยกตัวอย่างข้อมูลประวัติและพฤติการณ์ของนายเนติวิทย์ฯ ที่จัดเป็นข้อมูลส่วนบุคคลประเภทละเอียดอ่อนในครอบครองของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐที่ครอบครองจึงต้องถือปฏิบัติตามมาตรา 15(3)1 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ที่ต้องควบคุมดูแล เพื่อมิให้นำไปเปิดเผยโดยบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
จึงต้องกำหนดชั้นความลับตามดุลพินิจความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นๆ ไว้ในชั้นความลับระดับใดระดับหนึ่งจากที่กำหนดไว้ 3 ระดับ คือ ชั้น “ลับ” “ลับมาก” หรือ “ลับที่สุด” ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 22(1)
อีกทั้งควรกำกับตามข้อ 322 ของระเบียบดังกล่าวไว้ด้วย เพราะข้อ 32 เป็นการเพิ่มแนวปฏิบัติให้เข้มงวดขึ้นสำหรับเสริมการตรวจสอบในกรณีที่เอกสารรั่วไหลไปสู่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ดี ก่อนทำการกำหนดชั้นความลับให้เอกสารราชการ เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบครอบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบจากข้อ 503 ของระเบียบนี้ ซึ่งมีเนื้อหาเอื้อโอกาสต่อผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ ที่จะเข้าถึงหรือนำสำเนาเอกสารราชการที่กำหนดชั้นความลับเหล่านั้นไปเปิดเผย
กรณีการเปิดเผยเอกสารประเภทข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในครอบครองของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะที่เป็นประวัติส่วนตัว ซึ่งผู้เป็นเจ้าของประวัติยังคงความเป็นเจ้าของข้อมูลอยู่นี้หน่วยงานรัฐที่ครอบครองต้องปฏิบัติตามมาตรา 224 และมาตรา 235 ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ฯ ที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของหน่วยงานรัฐ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐที่ครอบครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลมิได้เคร่งครัดในการถือปฎิบัติ โดยเฉพาะตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (1), (2) อีกทั้งยังไม่พบการเผยแพร่สาธารณะที่ชัดเจนจากหน่วยงานรัฐใดถึงการกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่มิให้นํามาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) มาใช้บังคับ หรือแม้แต่การปรับปรุงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลให้ทันสมัยอยู่เสมอตามมาตรา 246
ตัวอย่างเช่น กรณีการเสนอข้อมูลของสมาคมแอมเนสตี้ฯ เมื่อ 16 ตุลาคม 2562 ถึงการฟ้องร้องอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง ว่าใช้ดุลพินิจและอำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมาตรา 297 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เพราะคดีอาญาของนายเนติวิทย์ฯ เรื่องฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 128 จำนวน 4 คดี ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้วจำนวน 2 คดี
ทั้งคำสั่ง คสช.นี้ถูกยกเลิกแล้วเช่นกัน ทำให้คดีอาญาที่พนักงานสอบสวนตั้งเป็นข้อกล่าวหากับนายเนติวิทย์ฯ ไม่อาจดำเนินคดีได้ และศาลไม่อาจพิพากษาและลงโทษให้นายเนติวิทย์ฯ มีความผิดดังกล่าวได้อีกต่อไป จึงเท่ากับข้อมูลคดีอาญาของนายเนติวิทย์ฯ ตามที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลอ้างถึงในกรณีเมื่อ 21 มิถุนายน 2561 ตามข้างต้นนั้น เป็นข้อมูลที่ปราศจาการดำเนินการตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (4) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ฯ
อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 23 วรรคสาม หน่วยงานรัฐที่จัดเก็บข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล มักละเลยการถือปฏิบัติ เพราะสามารถพิจารณาได้ว่ามาตรา 23 วรรคสาม กำหนดให้รองรับกับมาตรา 23 วรรคสอง ที่สร้างความเข้าใจได้ว่า รองรับกับการเก็บข้อมูลข่าวสารจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง
ต่างกับข้อมูลจากกรณีเมื่อ 21 มิถุนายน 2561 ที่การจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนายเนติวิทย์ฯ ส่วนใหญ่ กองบัญชาการตำรวจสันติบาลน่าจะรวบรวมและสรุปจากแหล่งข่าวเปิดมิใช่จากเจ้าของข้อมูลโดยตรง อย่างเช่น เคลื่อนไหวให้ยกเลิกการไว้ผมสั้นในนักเรียนเมื่อปี 2556 หรือเสนอให้ใช้วิธีโค้งคำนับแทนการหมอบกราบพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลในพิธีถวายสัตย์เข้าเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2560 เป็นต้น
พร้อมกันนั้นในทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐยังจำเป็นต้องพิจารณาความเชื่อมโยงรายละเอียดกับการดำเนินการตามที่กำหนดในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ไว้ด้วย
สำหรับประเด็นที่เจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเป็นผู้ทำการเปิดเผยเอกสารราชการที่กำหนดชั้นความลับเกี่ยวกับข้อมูลของตนต่อสาธารณะ และสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อนั้น ในขั้นต้นสามารถพิจารณาตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 โดยถือเป็นการรั่วไหลของเอกสารราชการที่กำหนดชั้นความลับ ซึ่งหน่วยงานรัฐต้นสังกัดต้องตรวจสอบสาเหตุความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
แต่หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเจ้าของข้อมูล หน่วยงานรัฐที่ครอบครองข้อมูลต้องดำเนินการตามมาตรา 179 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ด้วย อย่างไรก็ดี ไม่เคยปรากฏรายงานของหน่วยงานรัฐใดยืนยันการแจ้งทราบโดยตรงแก่เจ้าของข้อมูลถึงการจัดส่งให้ต่างหน่วยงานรัฐนำข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในครอบครองไปใช้ประโยชน์
ฉะนั้น การจัดส่งที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นไปตามกำหนดของมาตรา 23 และมาตรา 24 โดยเฉพาะตามมาตรา 24 (8) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ เช่นนี้
หากเกิดกรณีเจ้าของข้อมูลทำการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของตน แต่เป็นข้อมูลที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานรัฐ ย่อมสร้างความสับสน เพราะเป็นเหตุที่มิได้ระบุวิธีดำเนินการทั้งในกฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารไว้เลย
ส่วนการดูแลรักษาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในครอบครองของหน่วยงานรัฐ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ระบุเพียงว่า ให้จัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้มีการนําไปใช้โดยไม่เหมาะสมหรือเป็นผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล
ถึงแม้จะมีการวางแนวทางรองรับไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 910 เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ที่กําหนดให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน จึงเท่ากับให้แต่ละหน่วยงานรัฐที่ครอบครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลิใช้ดุลพินิจกำหนดแนวปฏิบัติเอาเอง
ดังนี้ทำให้เกิดข้อสังเกตเกี่ยวกับเกณฑ์บรรทัดฐานการดูแลรักษาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในครอบครองของแต่ละหน่วยงานรัฐ อย่างเช่น วิธีที่แต่ละหน่วยงานรัฐพิจารณาการกำหนดชั้นความลับให้กับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลว่า เป็นไประเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการหรือไม่
เพราะจะเห็นตัวอย่างได้จากกรณีเมื่อ 21 มิถุนายน 2561 ตามข้างต้น เป็นรายงานความเคลื่อนไหวของนายเนติวิทย์ฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมระหว่างกองบัญชาการตำรวจสันติบาลกับประชาคมข่าวกรอง ตามสั่งการจากที่ประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินกิจกรรมขององค์กรพัฒนาเอกชนฯ ที่มิใช่หน่วยงานรัฐโดยตรง
หากประมาณว่า ข้อมูลความเคลื่อนไหวของนายเนติวิทย์ฯ จากกองบัญชาการตำรวจสันติบาลกับประชาคมข่าวกรอง กำหนดชั้นความลับต่างกัน โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ หน่วยงานการข่าวมักให้ความสำคัญอย่างมากและกำหนดชั้นความลับสูงกว่าชั้น “ลับ” หน่วยงานรัฐที่รับหน้าที่เจ้าภาพรวบรวมสรุปข้อมูลที่รับจากหน่วยงานรัฐอื่น ย่อมต้องกำหนดชั้นความลับให้เท่ากับชั้นความลับสูงสุดของข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐอื่น
กล่าวคือ หากประชาคมข่าวกรองกำหนดชั้นความลับสูงกว่าชั้น “ลับ” แล้ว ข้อมูลความเคลื่อนไหวของนายเนติวิทย์ฯ ที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลรวบรวมเพื่อรายงานนำเสนอ ก็ต้องกำหนดชั้นความลับให้เท่ากับชั้นความลับสูงสุดตามที่ประชาคมข่าวกรองกำหนดมาด้วย
อย่างไรก็ดี วิธีดำเนินการจัดทำสรุปรวมข้อมูลที่ได้รับจากหลายหน่วยงานรัฐที่กำหนดชั้นความลับแตกต่างกันนี้มิได้กำหนดไว้ชัดเจนทั้งในระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติหรือระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ
ถึงจะเห็นถึงความย้อนแย้งระหว่างกฎหมายและระเบียบราชการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารกับการปฏิบัติต่อข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในครอบครองของหน่วยงานรัฐก็ตาม ประเด็นที่กระทบการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐมากที่สุด น่าจะเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในครอบครองเพื่อให้หน่วยงานรัฐอื่นนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหน่วยงานรัฐที่ครอบครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นที่หน่วยงานรัฐอื่นจะนำไปใช้หรือผลกระทบต่อบุคคลโดยรอบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่มาจากการพิจารณาประกอบการใช้ดุลพินิจสรุปผลที่อาจกระทบต่อการรักษาสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคลได้
ถึงแม้จะมีการกำหนดกฎหมายและระเบียบราชการ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดไว้บ้างก็ตาม เช่น มาตรา 20 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ 11 ข้อ 49 ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการฯ 12 เป็นต้น
แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนทั้งจากกฎหมายและระเบียบราชการ เกี่ยวกับวิธีการ ขอบเขตการจัดเก็บหรือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในครอบครองหน่วยงานรัฐว่า สามารถดำเนินการให้แก่หน่วยงานรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานตามหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารที่เพิ่งจัดแบ่งภายหลังการประกาศใช้กฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร
————————–
1 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
มาตรา 15 ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติ หน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชนของเอกชนที่่เกี่่ยวข้องประกอบกัน
(3) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ทั้งนี่ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่่นำมาใช้ในการทำาความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว
2 ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544
ข้อ 32 ข้อมูลข่าวสารตามข้อ 22 (1) ให้แสดงชื่อหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่อง เลขที่ชุดของจำนวนชุดทั้งหมด และเลขที่หน้าของจำนวนหน้าทั้งหมดไว้ทุกหน้าของข้อมูลข่าวสารลับ ทั้งนี้ จะแสดงชื่อหน่วยงานส่วนย่อยไว้ด้วยก็ได้ ข้อมูลข่าวสารตามข้อ 22 (3) ให้แสดงชื่อหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องและเลขที่ชุ ด ของจำนวนชุดทั้งหมดไว้ที่กล่องหรือหีบห่อของข้อมูลข่าวสารลับนั้น ทั้งนี้จะแสดงชื่อหน่วยงานส่วนย่อยไว้ด้วย
3 ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544
ข้อ 50 ในกรณีที่ข้อมูลข่าวสารลับใดไม่มีเครื่องหมายแสดงชั้นความลับไว้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นก็ได้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่นั้นได้รู้หรือควรจะรู้ข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลข่าวสารนั้นได้มีการกำหนดชั้นความลับไว้แล้ว
4 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
มาตรา 22 สํานักข่าวกรองแห่งชาติ สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง อาจออกระเบียบโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่มิให้นําบทบัญญัติวรรคหนึ่ง (3) ของมาตรา 23 มาใช้บังคับกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานดังกล่าวก็ได้ หน่วยงานของรัฐแห่งอื่นที่จะกําหนดในกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งนั้น ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งการ เปิดเผยประเภทข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) จะเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการดําเนินการของหน่วยงานดังกล่าว
5 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
มาตรา 23 หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้อง และจําเป็นเพื่อการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สําเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และยกเลิกการจัดให้มีระบบดังกล่าว เมื่อหมดความจําเป็น
(2) พยายามเก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียโดยตรงของบุคคลนั้น
(3) จัดให้มีการพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา และตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอเกี่ยวกับสิ่งดังต่อไปนี้
(ก) ประเภทของบุคคลที่มีการเก็บข้อมูลไว้
(ข) ประเภทของระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
(ค) ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ
(ง) วิธีการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของเจ้าของข้อมูล
(จ) วิธีการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล
(ฉ) แหล่งที่มาของข้อมูล
(4) ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในความรับผิดชอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ
(5) จัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้มีการนําไปใช้โดยไม่เหมาะสมหรือเป็นผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล
ในกรณีที่เก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ ล่วงหน้าหรือพร้อมกับการขอข้อมูลถึงวัตถุประสงค์ ที่จะนําข้อมูลมาใช้ ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ และ กรณีที่ขอข้อมูลนั้นเป็นกรณีที่อาจให้ข้อมูลได้โดยความสมัครใจหรือเป็นกรณีมีกฎหมายบังคับ
หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในกรณีมีการให้จัดส่งข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ ใดซึ่งจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปทราบข้อมูลข่าวสารนั้นได้ เว้นแต่เป็นไปตามลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ
6 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
มาตรา 24 หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้า หรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยดังต่อไปนี้
(1) ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตน เพื่อการนําไปใช้ตามอํานาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น
(2) เป็นการใช้ข้อมูลตามปกติภายในวัตถุประสงค์ ของการจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้น
(3) ต่อหน่วยงานของรัฐที่ทํางานด้วยการวางแผน หรือการสถิติหรือสํามะโนต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ต้อง รักษาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไว้ไม่ให้เปิดเผยต่อไปยังผู้อื่น
(4) เป็นการให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย โดยไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทําให้รู้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลใด
(5) ต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติกรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง เพื่อการตรวจดูคุณค่าในการเก็บรักษา
(6) ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อการป้องกันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การสืบสวน การ สอบสวน หรือการฟ้องคดี ไม่ว่าเป็นคดีประเภทใดก็ตาม
(7) เป็นการให้ซึ่งจําเป็น เพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคล
(8) ต่อศาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่มีอํานาจตามกฎหมายที่จะขอ ข้อเท็จจริงดังกล่าว
(9) กรณีอื่นตามที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่ง (3) (4) (5) (6) (7) (8) และ (9) ให้มีการจัดทํา บัญชีแสดงการเปิดเผยกํากับไว้กับข้อมูลข่าวสารนั้น ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง
7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรา 29 บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลา ที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ใน กฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้
ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้
การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี
ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้
คําขอประกันผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกัน จนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
8 คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ
ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุม ที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2559
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม132 ตอนพิเศษ 73 ง 1 เมษายน 2558)
9 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
มาตรา 17 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใดให้เจ้าหน้าที่่ของรัฐแจ้งให้ผู้นั้นเสนอคำคัดค้านภายในเวลาที่่กำหนด แต่ต้องให้เวลาอันสมควรที่ผู้นั้นอาจเสนอคำคัดค้านได้ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่่ได้รับแจ้ง
ผู้ที่่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่่ง หรือผู้ที่่ทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตนมีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้โดยทำเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่่ของรัฐผู้รับผิดชอบ
ในกรณีที่มีการคัดค้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องพิจารณาคำคัดค้านและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นมิได้จนกว่าจะล่วงพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 18 หรือจนกว่าคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มี คำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ แล้วแต่กรณี
10 ประมวลมติคณะรัฐมนตรีที่กําหนดให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลขาวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ครั้งที่ 9 เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2550
ข้อ 2 ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรักษาหนังสือราชการ และการทําลายหนังสือราชการ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 โดยเคร่งครัด หากเกิดความบกพร่องของการไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติดังกล่าวให้ดําเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและหากเกิดความเสียหายขึ้นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบและดําเนินการตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
11 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
มาตรา 20 การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด แม้จะเข้าข่ายต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมายใด ให้ถือว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับผิด หากเป็นการกระทำโดยสุจริตในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบตามมาตรา 16
(2) ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีคำสั่งให้เปิดเผยเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะแก่บุคคลใด เพื่อประโยชน์อันสำคัญยิ่งกว่าที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรือประโยชน์อื่นของบุคคล และคำสั่งนั้นได้กระทำโดยสมควรแก่เหตุ ในการนี้จะมีการกำหนดข้อจำกัดหรือเงื่อนไขในการใช้ข้อมูลข่าวสารนั้นตามความเหมาะสมก็ได้
การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายหากจะพึงมีในกรณีดังกล่าว
12 ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544
ข้อ 49 ในกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับใด โดยมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเช่นใด ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับนั้นได้ตามข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่กำหนด
————————————————————————————————————————————————
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร / 11 มกราคม 2564
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน