- แอปพลิเคชันรายงานสถานการณ์โควิด-19 และติดตามผู้ป่วย ‘เทรซ ทูเกตเตอร์’ มีชาวสิงคโปร์ใช้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นแอปฯสู้โควิด-19 ที่ถูกยกให้เป็นแอปฯ ที่ประสบความสำเร็จที่สุด นอกจากนี้ยังมี โทเคน หรืออุปกรณ์พกพาเป็นทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุและเด็กที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ส่วนประชาชนที่ไม่อยากดาวน์โหลดแอปฯให้หนักเครื่องก็สามารถใช้ โทเคน ได้เช่นกัน
- ส่วนแอปฯของญี่ปุ่น และฮ่องกง กลับสวนทางประชาชนไม่เลือกใช้เพราะความซับซ้อนของวิธีใช้งาน และกังวลการละเมิดข้อมูลส่วนตัว
- นักวิเคราะห์ชี้ ความเชื่อมั่นในรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนนั้นจะใช้แอปพลิเคชันได้อย่างสนิทใจหรือไม่
สัปดาห์ที่ผ่านมาสิงคโปร์ประกาศว่า แอปพลิเคชัน ‘เทรซ ทูเกตเตอร์’ (TraceTogether) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ติดตามตัวประชาชนต่อสู้กับโรคโควิด-19 มีผู้สมัครใช้กว่า 5.7 ล้านคน หลังจากการรณรงค์ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ระบุชัดว่าถึงแม้จะไม่มีการประกาศบังคับใช้ประชาชนโหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว แต่ผู้ที่ไม่มีแอปฯอาจถูกปฏิเสธให้เข้าสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงร้านอาหาร ส่งผลให้มีประชาชนสมัครใช้งานเพิ่มเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีหลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ทำให้มีการแก้ไขปรับปรุงจุดด้อย ซึ่งแอปพลิเคชัน ดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำพาสิงคโปร์เข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการป้องกนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเฟส 3 ก่อนปีใหม่นี้
รู้จัก เซฟเอ็นทรี และเทรซ ทูเกตเตอร์
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ใช้การเช็กอิน ผ่านระบบดิจิทัลหรือเรียกว่า ‘เซฟเอ็นทรี’ ซึ่งคล้ายคลึงกับ ‘ไทยชนะ’ ของประเทศไทย โดยชาวสิงคโปร์จะเช็กอิน โดยการสแกนคิวอาร์โค้ด ก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ ต่อมาได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน เทรซ ทูเกตเตอร์ เพิ่มเติมซึ่งเป็นตัวช่วยให้การระบุตำแหน่งของประชาชนมีความแม่นยำมากขึ้น
(ภาพประกอบจาก: tracetogether.gov.sg)
เทรซ ทูเก็ตเตอร์ นี้ เป็นแอปพลิเคชันที่ต้องติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ ผู้ใช้ต้องเปิดสัญญาณบลูทูธเอาไว้ขณะเปิดใช้งาน โดยตัวแอปฯจะเก็บข้อมูลสัญญาณบลูทูธ ของผู้ใช้แอปฯคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อระบุความใกล้ชิดของผู้ใช้แต่ละคน เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งหากผู้ใช้รายใดถูกตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 ทางการก็จะสามารถติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดได้โดยการนำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบ
กังวลข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ประชาชนไม่พร้อมปรับตัวกับเทคโนโลยี
ด้านนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าความสำเร็จสำหรับแอปพลิเคชันโควิดของสิงคโปร์นั้นสวนทางกับประเทศใกล้เคียง ที่มีแอปพลิเคชันลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ได้เมินเฉย และไม่ได้ใช้งานแอปฯมากเท่าที่ควร ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ประชาชนหันหลังให้กับแอปพลิเคชันดังกล่าวคือ ความกังวลว่าจะถูกละเมิดข้อมูลส่วนตัว และไม่ไว้วางใจผู้พัฒนาแอปฯ
(ภาพประกอบจาก: tracetogether.gov.sg)
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่สิงคโปร์เปิดตัวแอปฯดังกล่าว มีผู้ดาวน์โหลดเพียง 1.4 ล้านคนเท่านั้น ด้านศาสตราจารย์ ซู ลี หยาง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่าในช่วงปกติชาวสิงคโปร์ ยังไม่เข้าใจการทำงานของแอปฯ บวกกับไม่วางใจการเข้าถึงของมูลของทางการ ถึงแม้ว่าจะระบุว่าจะมีการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวต่อเมื่อผู้ใช้ตรวจพบว่าป่วยโรคโควิด-19 เท่านั้น
ซึ่งผลโพลจาก แบล็กบอกซ์ รีเสิร์ช ได้ตอกย้ำข้อสังเกตดังกล่าว โดยพบว่าประชาชน 45 เปอร์เซ็นต์ ตัดสินใจไม่ดาวน์โหลดแอปฯติดตามตัวเนื่องจากไม่ต้องการให้รัฐบาลติดตามตำแหน่งของตน
ขณะที่ อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือการที่ประชาชนเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบเดิมโดยที่ไม่ต้องให้แอปพลิเคชันคอยบันทึกข้อมูลตลอดเวลา ทำให้ไม่พร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งในบางรายอาจเกิดการต่อต้าน และไม่เคยชินกับเทคโนโลยีทำให้ตัดสินไม่โหลดแอปฯ
ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยคือการที่เปิดใช้งานแอปฯ จะต้องเปิดสัญญาณบลูทูธควบคู่กันไปด้วย ทำให้แบตเตอรี่ของโทรศัพท์นั้นหมดไวกว่าเดิม
แอปฯโควิดที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก
หลังจากนั้นทางผู้พัฒนาแอปฯ ได้แก้ปัญหาข้อมูลส่วนตัวและทำความเข้าใจกับคนหมู่มากว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่รั่วไหล และการบันทึกข้อมูลสถานที่ต่างๆ ผ่านบลูทูธ จะไม่ถูกเปิดเผยหากผู้ใช้งานไม่ป่วยโรคโควิด-19 รวมไปถึงมีการแก้ปัญหาแบตเตอรี่ของโทรศัพท์ โดยมีการใช้ โทเคน หรืออุปกรณ์พกพา ที่จะส่งสัญญาณแยกจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ที่กังวลว่าแบตโทรศัพท์มือถือจะหมดเร็วสามารถเลือกพก โทเคน แทนได้ นอกจากนี้ โทเคน ยังสามารถแก้ปัญหาผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย
ขณะที่ร้านค้าบังคับให้ผู้ใช้บริการได้ร่วมกัน ใช้แอปฯดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร หรือผับบาร์ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประชาชนใช้งานแอปฯ เทรซทูเกตเตอร์ มากขึ้น
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ลอเลนซ์ โล จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่าเมื่อไรก็ตามที่สถานที่ต่างๆ บังคับให้ใช้แอปพลิเคชันในการเข้าสถานที่ แอปพลิเคชันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน และถูกใช้อย่างกว้างขวาง โดยได้นำไปเปรียบเทียบกับ การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศจีน ที่มีชาวจีนหันมาใช้เป็นจำนวนมากหลังจากที่บางสถานที่ไม่รับเงินสด ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก และต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือแทนในที่สุด
สิงคโปร์รณรงค์สำเร็จ แต่ประเทศใกล้เคียงยังเผชิญปัญหา
ขณะที่ สิงคโปร์สามารถทำให้ประชาชนหันมาใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวได้ แต่ญี่ปุ่น และฮ่องกง ยังประสบปัญหาประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากการไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล โดยญี่ปุ่นได้เปิดตัวแอปฯติดตามตัวบุคคลเมื่อเดือนมิถุนายน โดยมียอดดาวน์โหลดในสัปดาห์แรกจำนวน 4.4 ล้านราย แต่ผู้ใช้งานกลับเพิ่มขึ้นเพียง 7.69 ล้านคนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถึงว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรวัยทำงาน 105 ล้านคน
ส่วนฮ่องกงได้เปิดตัวแอปฯ ลีฟ โฮม เซฟ เมื่อเดือนที่แล้วซึ่งมีกระแสตอบรับที่หลากหลาย โดยพบว่าการใช้งานที่ซับซ้อน และความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว เป็นปัญหาลำดับต้นๆ สำหรับประชาชน แสดงให้เห็นว่า ในหลายประเทศความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหาโควิด-19 ไม่ได้เกี่ยวพันกับตัวเทคโนโลยีและพฤติกรรมของประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ความเชื่อมั่นในรัฐบาลถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนนั้นจะใช้แอปพลิเคชันได้อย่างสนิทใจหรือไม่.
ผู้เขียน: ปานฝัน
แหล่งข้อมูล: SCMP, CNA, Straitstimes
————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่ 29 ธ.ค. 2563
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2003224