เนื้อหาของหนังสือ “The room where it happened : A white house memoir” เขียนโดยนายจอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า จะส่งผลด้านวิกฤตศรัทธาต่อตัวประธานาธิบดีทรัมป์ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 และก่อนหน้าที่หนังสือเล่มนี้จะวางจำหน่ายเมื่อ 23 มิถุนายน 2563
ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงออกถึงความไม่พอใจและพยายามขัดขวาง ทั้งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว (The White House National Security Council, NSC) ทำการตรวจสอบเนื้อหาที่อาจเปิดเผยหรือเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เป็นความลับในครอบครองของราชการ
เพราะนายโบลตันผู้เขียน เคยได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับทุกระดับชั้นของทางราชการในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง พร้อมกันนั้นยังมีการร้องขอต่อศาลรัฐบาลกลาง (Federal Government of United States) เพื่อออกคำสั่งให้นายโบลตันระงับการจัดพิมพ์และวางจำหน่าย ด้วยเหตุผลที่ว่าการดำเนินการตรวจสอบของฝ่ายรัฐยังไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ดี ศาลรัฐบาลกลางปฎิเสธคำร้องของฝ่ายรัฐดังกล่าว
เนื้อหาสาระ“The room where it happened : A white house memoir” เป็นบันทึกส่วนตัวเกี่ยวกับความทรงจำตลอดระยะที่นายโบลตันรับตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน และไม่มีความประจักษ์ชัดว่าเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เป็นความลับในครอบครองของรัฐไปเผยแพร่
เนื่องจากเป็นข่าวสารที่เคยนำเสนอผ่านสื่อมวลชน อีกทั้งการเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติและก่อนเข้าถึงสิ่งที่กำหนดชั้นความลับ นายโบลตันต้องทำสัญญากับฝ่ายรัฐห้ามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ
อย่างไรก็ดี จากรายงานสื่อมวลชนที่นำเสนอเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้จะเห็นว่า ขอบเขตข้อมูลเพียงเพื่อแสดงให้เห็นถึงอุปนิสัย พฤติกรรม ระดับความสามารถและความรู้ของประธานาธิบดีทรัมป์และความพยายามใช้อำนาจหน้าที่กับโอกาสในการแสวงประโยชน์ส่วนตัว แม้ข้อมูลเช่นนี้ไม่เกี่ยวกับความลับของฝ่ายรัฐ แต่ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และบั่นทอนศรัทธาเฉพาะตัวบุคคลได้เป็นอย่างดี
สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงการ bullying และ discredit แต่หากพิจารณาว่าเป็นกรณีที่เกิดในประเทศไทยแล้ว กฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารจะสามารถรองรับการดำเนินการของผู้นำประเทศได้เพียงใด โดยขอเปรียบเทียบด้วยการยกตัวอย่างจากหนังสือเล่มนี้ไว้ 2 กรณี ได้แก่
กรณีการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ จี-20 ที่นครโอซากา ญี่ปุ่น
เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ในการหารือนอกรอบระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ประธานาธิบดีทรัมป์ร้องขอให้จีนเพิ่มมูลค่าการซื้อถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากสหรัฐฯ เนื่องจากช่วยให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับความนิยมจากเกษตรกรมากขึ้น เพราะเคยเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งครั้งก่อน
แม้ว่ากรณีนี้เป็นเพียงการร้องขอระหว่างการสนทนาส่วนตัว โดยไม่ปรากฎการอ้างถึงข้อมูลราชการทั้งของสหรัฐฯ หรือจีน จึงไม่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายหรือระเบียบราชการที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความลับหรือการรักษาความปลอดภัยข้อมูลข่าวสารของราชการ
แต่ข้อมูลการแสวงประโยชน์ส่วนตัวขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นข้อมูลที่ไม่เหมาะสมที่จะ กระจายสู่สาธารณะ เพราะบั่นทอนภาพพจน์เฉพาะตัวและนำไปสู่การบ่อนทำลายศรัทธาจากประชาชน สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลที่บั่นทอนภาพพจน์คล้ายกับกรณีนี้คือ กรณีภาพสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั่งหลับขณะทำการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบเป็นวงกว้างจากสังคมสาธารณะ
กรณีเปิดเผยการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ เซเลนสเกีย แห่งยูเครน
เมื่อ 25 กรกฎาคม 2562 ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามกดดันให้ผู้นำยูเครนรื้อฟื้นการสืบสวนปัญหาทุจริตในบริษัทบูริสมา โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ของยูเครนและกรรมการบริหารคือ นายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรของนายโจ ไบเดน คู่แข่งสำคัญทางการเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์
นายโจถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลในฐานะรองประธานาธิบดีเพื่อปกป้องนายฮันเตอร์ อย่างไรก็ดี ยูเครนยุติเรื่องนี้ไปแล้ว เนื่องจากไม่พบหลักฐานการกระทำผิดของนายโจและนายฮันเตอร์
แม้ว่าการสนทนาดังกล่าวจะไม่สามารถระบุได้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์นำข้อมูลในครอบครองของทางราชการมาใช้ แต่การเผยแพร่สู่สาธารณะทำให้เห็นว่า ผู้นำประเทศนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นมาใช้งานนอกหน้าที่ จนเป็นเหตุให้พรรคเดโมแครตนำมาเปิดการสอบสวน เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ
ประกอบกับการประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มุ่งตอบโต้นายโบลตันว่า “การสนทนาระหว่างตนกับนายโบลตันถือเป็นความลับของทางราชการที่เปิดเผยไม่ได้ หากแพร่กระจายออกไป ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย” หากนับเอาการประกาศเช่นนี้ของผู้นำประเทศมาเป็นแนวทางปฎิบัติแล้ว กรณีที่นายโบลตันระบุในหนังสืออ้างถึงประธานาธิบดีทรัมป์หารือกับตน ดำริจะตัดความช่วยเหลือยูเครน
จึงถือเป็นความลับของทางราชการที่เปิดเผยไม่ได้ ต่อมาสื่อมวลชนเผยแพร่สาธารณะถึงการตัดความช่วยเหลือยูเครนของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2563 ขณะที่หนังสือของนายโบลตันวางจำหน่ายเมือกลางปี 2563 จึงก่อให้เกิดข้อโต้แย้งว่าข้อมูลกรณียูเครนที่เปิดเผยในหนังสือของนายโบลตันเป็นการละเมิดการรักษาความลับของรัฐตามคำประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์
สำหรับการสนทนาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำยูเครนที่เกี่ยวข้องถึงนายไบเดนตามหนังสือของนายโบลตันนี้เท่ากับเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาจเป็นการใช้ประโยชน์ข้อมูลส่วนบุคคลไปในทางมิชอบ เมื่อพิจารณาแนวทางปฎิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540* สำหรับหน่วยงานรัฐจึงเกิดข้อสังเกตได้หลายประเด็น
แต่จะขอยกตัวอย่างวิธีดำเนินการที่สำคัญของหน่วยงานรัฐ คือ
ประเด็นการดำเนินการรวบรวมเพื่อจัดเก็บ ครอบครอง ดูแลข้อมูลส่วนบุคคล
หน่วยงานรัฐต้องทำการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่ประเมินว่ามีความสำคัญและอาจทำให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อประเทศได้ ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของนายไบเดน นับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทางการเมืองระดับสูง เพราะเคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเช่นนี้เป็นไปตามมาตรา 22-23 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ แต่มีรายละเอียดเพิ่มกว่าบุคคลทั่วไป เพราะถือว่าเป็นประเภทข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน (Sensitive Personal Data)
อีกทั้งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562** หลังมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ขณะนี้ การกำหนดวิธีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยงานรัฐยังคงถือตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ซึ่งกำหนดหลักสำคัญให้จัดเก็บตามความยินยอมโดยชัดแจ้ง (Explicit Consent) จากเจ้าของข้อมูล หรือถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล การจัดเก็บจะเป็นไปเพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคลนั้น
นอกจากนี้ การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานรัฐต้องกำหนดชั้นความลับให้ เพราะถือเป็นสิ่งที่เป็นความลับของราชการ ที่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาควาปลอดภัยแห่งชาติ รวมทั้งระเบียบราชการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่กำหนดขึ้นเองเป็นการภายใน
เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานรัฐนั้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละหน่วยงานรัฐยังไม่มีความชัดเจน อย่างเช่น ระเบียบสำนักข่าวกรองแห่งชาติว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2551 ไม่ระบุถึงข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งที่ระเบียบเหล่านี้กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นต้น
ประเด็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ได้รับการร้องขอ
หน่วยงานรัฐสามารถเพิ่มกำหนดหลักการและดำเนินการตามหลักการอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบุคคลที่มีความละเอียดอ่อนจะต้องเข้มงวดกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป จากการยกตัวอย่างหนังสือของนายโบลตันที่เปิดเผยถึงกรณีประธานาธิบดีทรัมป์แสวงประโยชน์ส่วนตัวด้วยข้อมูลนายไบเดนนี้
เมื่อพิจารณตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการจะแบ่งออกเป็นประเด็นย่อยที่หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติ กล่าวคือ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงสามารถร้องขอข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับปฏิบัติงานราชการได้ แต่ต้องร้องขอจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบและครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น
สำหรับการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้ ซึ่งนำมาจากหน่วยงานรัฐอื่น ที่ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบข้อมูลส่วนบุคคลนั้น จะเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลนั้นๆ ไปใช้โดยมิชอบทั้งตัวบุคคลที่ขอข้อมูลไปใช้และหน่วยงานรัฐที่เปิดเผยข้อมูลให้บุคคลนั้น เพราะหลักเกณฑ์ขั้นตอนสำหรับการเปิดเผยข้อมูลตามพระราชบัญญัตินี้
เจ้าหน้าที่รัฐที่ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างได้ตามที่มีผู้มาเสนอขอทั้งหมด มีการกำหนดขอบเขตรายละเอียดอย่างมาก เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีผู้ขอเป็นสิ่งที่จำเป็นเกี่ยวกับการรักษาสิทธิของผู้ขอข้อมูล หรือจะมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข้อมูลที่มีผู้ขอให้เปิดเผยนั้น และที่สำคัญยิ่งคือต้องพิจารณาถึงความจำเป็น ส่วนได้เสีย และผลกระทบต่อการปกป้องสิทธิของผู้ขอข้อมูลและผู้ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจริง การร้องขอข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะระหว่างหน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงด้วยกัน มักได้รับรายละเอียดพร้อมข้อคิดเห็น ตัวอย่างจากกรณีหนังสือตอบและเอกสารข้อมูลที่ส่งมาด้วยจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานนตำรวจแห่งชาติ ถึงกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ที่ร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับนายเนติวิทย์ ภัทร์ไพศาลดำรง เพื่อประกอบการพิจารณาให้นายเนติวิทย์ฯ ดำรงตำแหน่งกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งรายละเอียดของข้อมูลที่ส่งมาด้วยจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นรายงานการติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของนายเนติวิทย์ฯ รวมทั้งบทบาท กิจกรรมทางการเมืองและคดีความ พร้อมกับอ้างว่าพบพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งเอกสารข้อมูลที่ส่งมาด้วยจากกองบัญชาการ
ตำรวจสันติบาลนี้นับเป็นประเภทข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนที่ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลทั้งในการจัดเก็บและการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้ตามมาตรา 24 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ นอกจากนี้ ระเบียบภายในหน่วยงานรัฐที่กำหนดเพื่อเป็นเกณฑ์สำหรับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเมื่อได้รับการร้องขอก็มักจะไม่ระบุถึงการดำเนินการต่อข้อมูลส่วนบุคคลไวเด้วย
โดยสรุปตามกรณีซึ่งยกมาจากหนังสือ “The room where it happened : A white house memoir” หากพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบราชการของไทย จะไม่เห็นถึงผลกระทบจากวิธีดำเนินการต่อข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลที่หน่วยงานรัฐครอบครองอยู่ เท่าที่ผ่านมากฎหมายและระเบียบราชการมักย้อนแย้งกับวิธีงานปฏิบัติ ประกอบกับสภาพสังคมที่ระบบ elite ยังคงความเข้มแข็ง การที่หน่วยงานรัฐจะคงถือปฏิบัติตามแนวเดิมมากกว่าปรับอย่างจริงจังให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จะให้ผลด้านบวกกับหน่วยงานรัฐได้ดีกว่า
——————————–
* เป็นกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ และสามารถแสดงความคิดเห็น พร้อมกับใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความจริง โดยมีข้อยกเว้นอันไม่ต้องเปิดเผยที่แจ้งชัด และจำกัดเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือต่อประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน
**เป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไป เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไกหรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไป
———————————————————————————————————————————————–
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร / 15 มกราคม 2564
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน