คุณเข้าโซเชียลมีเดียครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? เคยคอมเมนต์แง่ลบใครใร เฟสบุ๊ก, อินสตาแกรม หรือสื่อสังคมออนไลน์มั้ย?
รู้หรือไม่การกลั่นแกล้งกัน เป็นต้นเหตุหนึ่งที่นำพาไปสู่อาการโรคซึมเศร้า และเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้คนที่ถูกกลั่นแกล้งตัดสินใจฆ่าตัวตาย !!
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ให้ข้อมูลถึงผลวิจัยเชิงคุณภาพประเด็นการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ในงานเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์…เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” จัดโดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และภาคีเครือข่าย ว่า จากการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพประเด็นการลั่นแกล้งทางออนไลน์ ด้วยการจัดสนทนากลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ของโรงเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 50 คน ในช่วงเดือน ส.ค. 2562 พบว่า
การกลั่นแกล้งทางออนไลน์มีอยู่ทั้งหมด 7 รูปแบบ ได้แก่
1.การก่อกวน ข่มขู่คุกคาม
2.การให้ร้ายใส่ความ การแกล้งแหย่
3.การเผยแพร่ความลับ
4.การกีดกันออกจากกลุ่ม
5.การแอบอ้างชื่อ การสร้างบัญชีปลอม
6.การขโมยอัตลักษณ์
7.การล่อลวง
***** โดยรูปแบบที่ถูกกลั่นแกล้งมากที่สุดคือการถูกก่อกวน ข่มขู่คุกคาม คิดเป็น 50%*****
เมื่อสอบถามถึงวิธีการรับมือเมื่อเกิดการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ ผู้ถูกกลั่นแกล้งจะใช้รูปแบบวิธีการสื่อสารต่างๆ เพื่อรับมือหลายรูปแบบ
โดยรูปแบบการรับมือ ได้แก่
1.การนิ่งเฉยไม่ตอบโต้
2.การตัดความสัมพันธ์ บล็อก ไม่ปรากฎตัว
3.การขอคำปรึกษา จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู
4.เก็บหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดี
สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการ ผอ.สำนักสร้างเสริมระบบสื่อ และสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เวลานี้เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางสังคม โดยเฉพาะกรณีการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ภาคส่วนต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัล ให้กับเด็กและเยาวชนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์
ดังนั้น ก่อนจะตกเป็นเหยื่อที่ถูกรังแกผ่านโลกโซเชียล วันนี้เรามาทำความรู้จัก Cyberbullying (ไซเบอร์บูลลี่อิ้ง) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “บูลลี่” …
“ไซเบอร์บูลลี่อิ้ง” คือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ เช่น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น และแชร์ บนสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อเป็นการกดดัน อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำทั้งทางใจ จนอาจร้ายแรงจนถึงส่งผลกระทบทางกายได้
ผลกระทบที่เกิดขึ้น
โกรธ เครียด กังวล เสียใจ อับอาย หดหู่ ทำร้ายตัวเอง คิดฆ่าตัวตาย
จะรับมือ Cyberbullying อย่างไร?
> STOP หยุดระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน หยุดตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
> BLOCK ปิดกั้นผู้ที่ระราน ไม่ให้เขาสามารถติดต่อ โพสต์ หรือระรานเราได้อีก
> TELL บอกพ่อแม่ ครู หรือบุคคลที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือถูกข่มขู่คุกคาม ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์ระรานรังแกไปแจ้งเจ้าหน้าที่
> REMOVE ลบภาพหรือข้อความระรานรังแกออกทันที โดยอาจติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์
> BE STRONG เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
ข้อควรระวัง รู้หรือไม่ว่า Cyberbullying ผิดกฎหมาย
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กรณีโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมแปลงไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งคนอื่นสามารถเข้าไปดูข้อมูลนั้นได้ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย รวมทั้งข้อมูลลามกต่าง ๆ ทั้งผู้โพสต์และผู้เผยแพร่ส่งต่อ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ อาจจะทำร้ายจิตใจใครบางคนโดยไม่รู้ตัว จนส่งผลต่อด้านจิตใจ เป็นโรคซึมเศร้า และร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้
—————————————————————————————————
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุน การเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)
Link : https://pr.moph.go.th/index.php?url=pr/detail/2/07/135249/