เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนจู่โจมก่อเหตุ “ชิงทรัพย์ธนาคาร หรือร้านทอง” ในสถานที่ที่คนพลุกพล่านตาม “ห้างสรรพสินค้า” เริ่มเกิดถี่มากยิ่งขึ้นใน “ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ” จากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 ที่มีโอกาสนำสู่เกิดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินได้อยู่เสมอ
ทำให้ประชาชนต่างรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” อย่างเคยเกิดขึ้นมาแล้วใน “เหตุคนร้ายจี้ชิงทอง ในห้างฯดัง จ.ลพบุรี” กลายเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่อาจไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายก็ได้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า
ทุกคนมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามอันเป็นอันตรายแก่ชีวิต และทรัพย์สินแบบคาดไม่ถึงได้ทุกที่ทุกเวลา “คนร้าย” มีโอกาสก่อเหตุร้ายแรงได้เสมอ นับแต่ปี 1990 มีการขยายตัวของสังคมเมืองมากขึ้น มีผลให้เหตุอาชญากรรมเพิ่มตามมาด้วย ทั้งคดีฆ่าผู้อื่น หรือคดีพยายามฆ่า
ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา…นักอาชญาวิทยามีการศึกษาเกี่ยวกับคดีฆ่าผู้อื่น ที่มีจุดเริ่มต้นของการก่ออาชญากรรมนี้เกิดจากจุดเล็กน้อยของความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม ตั้งแต่การขีดเขียนบนฝาผนังทั่วไป การทิ้งขยะเรี่ยราดไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่สวนสาธารณะ ถนนที่ทำงาน โรงเรียน
ที่เรียกว่า…“ทฤษฎีหน้าต่างแตก” (Broken windows) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางอาชญาวิทยาของการสร้างมาตรฐาน ในการเปรียบเทียบจุดเริ่มต้นของ “การก่อเหตุอาชญากรรม” เสมือนกับ “หน้าต่างร้าว” เมื่อปล่อยไม่ซ่อมแซมแก้ไข ทำให้หน้าต่างบานนี้แตกได้ เสมือนมีผลการก่อกวน และความวุ่นวายในตัวเมือง
ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มของอาชญากรรม และพฤติกรรมต่อต้านสังคม เช่นเดียวกับ…“ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม” หากไม่รีบจัดการแก้ไข อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย กลายเป็นการละเมิดกฎหมาย จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมรุนแรง
ย้อนมาประเทศไทย…ที่มีสภาพความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ประจำ เช่น ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร ขับรถปาดกันไปมาไม่พอใจกัน ก็ตามไปทะเลาะวิวาทกลางถนน หรือใช้ปืนออกมาข่มขู่ จนนำไปสู่การละเมิดกฎหมายรุนแรง ทั้งการทะเลาะวิวาทตามโรงพยาบาล มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นการทะเลาะวิวาทกันในสถานีตำรวจ
กลายเป็น “บรรทัดฐานทางสังคม” จนคนทั่วไปรู้สึกว่า…ชุมชนเมืองไม่มีความเป็นระเบียบ และกฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ ส่งผลให้การละเมิดกฎหมายเพิ่มขึ้นตามมา…
กระทั่งเป็นที่มา…ในการใช้ปืนก่อเหตุตามแหล่งชุมชน หรือห้างสรรพสินค้าบ่อยขึ้น ตั้งแต่เหตุจี้ชิงทอง จ.ลพบุรี และจี้ชิงเงินธนาคาร ย่านประชาอุทิศ กทม. ทั้ง 2 เหตุนี้คนร้ายหลบหนีได้ และตามจับกุมภายหลัง ทำให้เป็น “บรรทัดฐาน” จนเกิดการเรียนรู้เป็นพฤติกรรมเลียนแบบการก่อเหตุในห้างฯที่มักมีช่องทางหลบหนีง่าย
ในอนาคตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดการเรื่องอาชญากรรมขั้นเด็ดขาด ในการติดตามจับกุมคนร้ายทุกคดีให้รวดเร็วจริงจังทันท่วงที เพื่อให้เกิดเกรงกลัวต่อการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่พูดนี้…คือ “การจัดระเบียบสังคมชุมชน” ที่ไม่สามารถเพิกเฉยกับความผิดเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเยาวชนต้องไม่ปล่อยกระทำความผิดลหุโทษได้ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ไปก่อคดีใหญ่ได้ต่อไป
ปัจจัยหนึ่ง…เชื่อมโยงการก่อเหตุอาชญากรรมง่ายเพิ่มขึ้น คือ สายงานของ สนง.ตำรวจแห่งชาติ เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง ในการสั่งการตำรวจทั่วประเทศ หากเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนา เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี ใช้ระบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ส่วนญี่ปุ่นใช้ระบบแบบผสมผสาน
ประเทศเหล่านี้มีการศึกษาทางวิชาการ…“ด้านศูนย์อำนาจของส่วนกลาง” ที่ทำให้การป้องกันไม่สอดคล้องนโยบาย เพราะไม่รู้ปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ที่แตกต่างกันแต่ละภูมิภาค และตำรวจก็ไม่สนใจฟังประชาชน ที่ห่วงแต่งตั้งโยกย้ายทำขึ้นจากส่วนกลาง หากทำงานร่วมกับคนพื้นที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จมากกว่า…
ยกตัวอย่าง…ตำรวจของสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เคยพูดให้ฟังว่า “ญี่ปุ่น” มีประชากร 128 ล้านคน ตำรวจ 2.8 แสนนาย เท่ากับตำรวจ 1 นาย ดูแลประชากร 400 คน ส่วนประเทศไทย มี 68 ล้านคน ตำรวจ 2.3 แสนนาย ตำรวจ 1 นาย ดูแล 300 คน แต่ “ญี่ปุ่น” มีเหตุอาชญากรรมน้อยกว่า 5 เท่า…
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า…สถิติอาชญากรรมเมืองไทยสูงขึ้น ไม่ใช่ว่า…ตำรวจขาดแคลน แต่เพราะไม่มีการกระจายอำนาจ ทำให้นโยบายการป้องกัน ไม่สอดคล้องกับการก่อเหตุอาชญากรรมของพื้นที่
ประเด็นสำคัญ…สาเหตุจูงใจของคนร้าย มักก่อเหตุอาชญากรรมในห้างสรรพสินค้าซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่ระบบสแกนคนเข้าออก ต้องมีเครื่องตรวจจับพกพาอาวุธปืนเหมือนต่างประเทศ ที่มีจุดตรวจสแกนผ่านทุกคน อีกทั้งไม่มีระบบป้องกัน การเฝ้าระวังเหตุ หรือการแจ้งเหตุอย่างมาตรฐานสากล
ซ้ำร้าย…ระบบสกัดกั้นคนร้ายก่อเหตุก็ล้มเหลว เพราะไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบ ให้สามารถจับกุมคนร้ายในที่เกิดเหตุ กลายเป็นการเลียนแบบ และเป็นช่องโหว่ เช่น เหตุจี้ชิงทอง ในห้างฯ จ.ลพบุรี จี้ชิงเงินธนาคาร ถนนประชาอุทิศ กทม. และเหตุยิงกันในห้างฯ ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ ก็จับกุมคนร้ายไม่ได้ในที่เกิดเหตุ
“ดังนั้นห้างสรรพสินค้าต้องหันกลับมามองถึงระบบความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยการเพิ่มการลงทุนในระบบป้องกันการก่อเหตุ เพื่อประชาชนจะได้เกิดความเชื่อมั่น เพราะในห้างฯ ต่างประเทศ มีกล้องวงจรปิดสามารถสแกนตรวจสอบกระเป๋า หรือร่างกายบุคคลได้ด้วยซ้ำ” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ว่า
เพื่อให้ทราบว่า…บุคคลเข้ามาใช้บริการมีการพกพาอาวุธร้ายแรง หรือ สิ่งผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ระบบนี้ในประเทศไทยยังไม่นำมาใช้กัน ทำให้ห้างฯ กลายเป็นเป้าหมายที่มีความสะดวกในการก่อเหตุได้สำเร็จสูงขึ้น
สิ่งสำคัญการก่อเหตุของคนร้าย…มีจุดประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายต่างกัน แต่ต้องมี 3 ปัจจัยหลัก ตาม “ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม” ที่เป็นองค์ประกอบการเกิดอาชญากรรม ในสามเหลี่ยมนี้มีอยู่ 3 ด้าน คือ…
ด้านที่หนึ่ง…“ผู้กระทำผิด”…ที่มีความต้องการก่อเหตุ หรือลงมือทำความผิด ด้านที่สอง…เหยื่อ หรือเป้าหมาย…บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่คนร้าย มุ่งหมายกระทำต่อเป้าหมาย และด้านที่สาม…โอกาส…ช่วงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม ที่คนร้ายมีความสามารถจะลงมือกระทำความผิดหรือก่ออาชญากรรม
เมื่อเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ครบองค์ประกอบ 3 ด้านนี้ จะทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้น หากองค์ประกอบของสามเหลี่ยมอาชญากรรมด้านใด ด้านหนึ่งหายไป ก็จะทำให้อาชญากรรมไม่เกิดขึ้นได้
ประการต่อมา…ในเรื่องมาตรการลงโทษ โดยเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ หรือ คดีสะเทือนขวัญที่ประชาชนให้ความสนใจ ต้องมีมาตรการลงโทษดำเนินคดีแตกต่างจากอาชญากรรมทั่วไป หากจับคนร้ายก่อเหตุต้องห้ามประกันตัว นำเข้าสู่เรือนจำทันที และเร่งรัดตัดสินดำเนินคดีไม่เกิน 1 เดือน
ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานให้สังคม ในการบังคับใช้กฎหมายจริงจังรวดเร็ว ทำให้คนที่คิดก่อเหตุเกิดความเกรงกลัว เพราะหากปล่อยผ่านนาน มักมีเหตุการณ์ใหม่ จนสังคมลืมเหตุสะเทือนขวัญเก่าไป
ทางวิชาการ…การลงโทษที่รวดเร็ว เด็ดขาด แน่นอน เป็นธรรม จะสามารถหยุดยั้งผู้กระทำความผิดรายต่อไป ให้เกิดความเกรงกลัว เช่น เมื่อราว 10 ปีก่อน ในประเทศอังกฤษ มีความขัดแย้งเรื่องผิวสี จากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงบุคคลผิวสีเสียชีวิต กลายเป็นเรื่องลุกลามบานปลายมีการประท้วงเผาสถานีตำรวจ และสถานที่อื่นมากมาย
ตอนนั้นคณะลูกขุนมีการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุกว่า 100 คน ภายในคืนนั้น จนสามารถหยุดยั้งการประท้วงนี้ได้ ไม่มีใครกล้าออกมาอีก เพราะการบังคับใช้กฎหมายได้จริงเด็ดขาดรวดเร็ว
ถ้าเข้าสู่เรือนจำ…พิจารณาลดโทษต้องแตกต่างคดีอื่น เพราะเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ เบื้องต้น “กรมราชทัณฑ์” ก็ปรับเกณฑ์พิจารณาแล้ว ในผู้ต้องขังป่วยทางจิต คดีฆ่าต่อเนื่อง คดีร้ายแรง
เหตุคนร้าย “ใช้ปืนจี้ชิงทรัพย์” มักบานปลายกลายเป็นสิ่งไม่คาดฝัน ถ้าเป็นไปได้ก็ควรมีวิธีเอาตัวรอดเฉพาะหน้าไว้บ้างก็ดี เพราะเหตุนี้เกิดขึ้นได้กับ “ทุกคน” ที่มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่บ่อยๆมาแล้ว…
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 มี.ค.2564
Link : https://www.thairath.co.th/news/local/2042172